ความเคลื่อนไหวเมืองไทยวันนี้ 07.30น.ประจำวันอังคารที่ 21 เมษายน 2563
ครบรอบ 238 ปี กรุงเทพมหานคร
ในปีนี้ ครบรอบ 238 ปี กรุงเทพมหานคร ซึ่งในอดีต วันที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2325 วันสถาปนา กรุงเทพมหานคร หลังจากที่ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงปราบดาภิเษกขึ้นเป็นปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรีเมื่อวันที่ 6 เมษายนปีเดียวกัน จากนั้นได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ย้ายราชธานีจากฝั่งธนบุรีมาที่ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา แล้วจัดพิธี ยกเสาหลักเมือง ขึ้นในวันนี้ พร้อมทั้งพระราชทานนามพระนครใหม่ว่า "กรุงเทพมหานคร บวรรัตนโกสินทร์ มหินทรายุธยา มหาดิลกภพ นพรัตนราชธานีบูรีรมย์ อุดมราชนิเวศน์มหาสถาน อมรพิมานอวตารสถิต สักกะทัตติยวิษณุกรรมประสิทธิ์” เป็นชื่อเมืองที่ยาวที่สุดในโลก มีความหมายว่า “พระนครอันกว้างใหญ่ดุจเทพนคร อันเป็นที่สถิตของพระแก้วมรกต เป็นนครที่ไม่มีใครสามารถรบชนะ มีความงามอันมั่นคงและเจริญยิ่ง เป็นเมืองหลวงที่บริบูรณ์ด้วยแก้ว 9 ประการ น่ารื่นรมย์ยิ่ง มีพระราชนิเวศน์ใหญ่โตมากมาย เป็นวิมานเทพที่ประทับของพระราชาผู้อวตารลงมา ซึ่งท้าวสักกเทวราชพระราชทานให้พระวิษณุกรรมลงมาเนรมิตไว้” ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 4 ได้ทรงเปลี่ยนจาก “…บวรรัตนโกสินทร์…” เป็น “…อมรรัตนโกสินทร์…” เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2514 รัฐบาลได้รวม จังหวัดพระนคร และ จังหวัดธนบุรี เข้าด้วยกันเป็น นครหลวงกรุงเทพธนบุรี และในปี 2515 เปลี่ยนเป็นชื่อเป็น กรุงเทพมหานคร
กทม.ขยายเวลาห้ามขายเหล้าถึง 30 เมษายน 2563
ตามที่กรุงเทพมหานคร เคยออกประกาศสั่งห้ามจำหน่ายสุราทุกประเภท โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 10-20 เมษายน 2563 เพื่อเป็นการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในพื้นที่ล่าสุด พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานคร และมีคำสั่งให้ออกประกาศ ขยายเวลาการสั่งปิดสถานที่เป็นการชั่วคราว (ฉบับที่ 6) โดยให้ปิดร้านค้าหรือสถานประกอบการขายสุราประเภทที่ 1 และประเภทที่ 2 ที่ได้รับใบอนุญาตให้จำหน่ายตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ภาษีสรรพสามิต พ.ศ.2560 เป็นวันที่ 30 เมษายน นี้
จับตาครม. หารือ มาตรการผ่อนคลาย หลังผู้ติดป่วยโควิด-19 ลดลง
การประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค.มีรายงานว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้สั่งการทุกหน่วยงานให้เตรียมข้อมูลต่างๆ ครบถ้วนรอบด้าน ก่อนพิจารณาผ่อนปรนมาตรการต่างๆ รวมถึงให้ศึกษามาตรการผ่อนคลายจากต่างประเทศ แม้ประเทศไทยจะมีตัวเลขในระดับที่ดีขึ้น แต่ก็ต้องนำข้อมูลต่างๆ มาดูและเตรียมให้พร้อมก่อนจะพิจารณา คาดว่าจะพิจารณาโดยเร็วที่สุด
นายกฯ ยังแสดงความเป็นห่วงถึงผลกระทบและความเดือดร้อนที่เกิดขึ้นกับประชาชนโดยภาพรวม แต่เนื่องจากบางพื้นที่ยังมีจำนวนตัวเลขของผู้ติดเชื้อโควิด-19 จำนวนที่มากอยู่ จึงขอให้กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ไปประเมินและหารือร่วมกับผู้ประกอบการและร้านค้าที่ได้รับผลกระทบในแต่ละพื้นที่ โดยเฉพาะจังหวัดที่ไม่มีตัวเลขผู้ติดเชื้อ เพื่อพิจารณาผ่อนปรนมาตรการให้กับบางอาชีพ โดยย้ำว่าให้เป็นการผ่อนคลายทีละนิด อาทิ ตลาดนัด หรือร้านค้าบางประเภทที่อยู่ในห้างสรรพสินค้าที่มีความจำเป็น แต่ก็จะต้องมีมาตรการเข้ม
ส่วนกรณีร้านเหล้า สถานบันเทิงต่างๆ ยังคงใช้มาตรการเข้มอยู่ต่อไป และยังคงมาตรการเคอร์ฟิวต่อเนื่อง รวมทั้งจะมีการขยายเวลาประกาศใช้พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ต่อไปก่อน ซึ่งไม่น่าจะต่ำกว่า 1 เดือน
มีรายงานว่า ในวาระการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันนี้ (21 เม.ย.) ยังไม่มีวาระการขอขยายเวลาประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน แต่นายกฯ ในฐานะ ผอ.ศบค.สามารถหยิบยกขึ้นมาหารือ เพื่อขอความคิดจาก ครม.ได้ ซึ่งหน่วยงานที่มีหน้าที่เสนอคือสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) โดยเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว พล.อ.สมศักดิ์ รุ่งสิตา เลขาธิการ สมช.ระบุว่า สมช.จะประชุมเพื่อประเมินสถานการณ์ ก่อนจะนำเสนอนายกฯ กลางสัปดาห์นี้
ยอดผู้ติดเชื้อในไทยเพิ่ม 27 คน ไร้ผู้เสียชีวิต
นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศบค.แถลงว่าสถานการณ์ผู้ป่วยรายใหม่ในประเทศไทย เพิ่มขึ้น 27 คน ผู้ป่วยสะสม 2,792 คน ไม่มีรายงานเสียชีวิตเพิ่มเติม หายป่วยเพิ่มเติม 71 คน หายป่วยสะสม 1,999 คน อยู่ระหว่างรักษา 746 คน จังหวัดที่ไม่มีการรายงานผู้ป่วยรายใหม่ในรอบ 14 วัน เพิ่มเข้ามาอีก 2 จังหวัด คือ สระแก้ว และอุบลราชธานี รวมแล้วขณะนี้มี 35 จังหวัด ทั้งนี้แม้ตัวเลขผู้ป่วยรายใหม่ยังเป็นสองหลัก แต่ยังไว้วางใจไม่ได้ เพราะประเทศเพื่อนบ้านเพียงผิดพลาดเล็กน้อยตัวเลขก็สูงขึ้น
นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ กล่าวว่าข้อมูลทั้งหมดทุกคนรายงานมา นายกฯ จะนำไปตัดสินใจเอง เนื่องจากต้องชั่งน้ำหนักหลายอย่าง อาจจะเข้าหรือไม่จำเป็นต้องนำเข้า ครม. เพราะทุกคนให้ข้อมูลไปแล้ว การออกมาตรการขึ้นอยู่กับนายกฯ หรืออาจจะเรียกผู้เกี่ยวข้องบางรายมาหารือก็ได้ ไม่เช่นนั้นจะเรียกว่าสถานการณ์ฉุกเฉินหรือ ดังนั้น หากจะมีการขยายพ.ร.ก.ฉุกเฉิน นายกฯจะต้องนำเข้าที่ประชุม ครม.ก่อนวันที่ 30 เม.ย.ที่จะครบกำหนด และหากจะเป็นกรณีฉุกเฉิน เร่งด่วน มาตรา 5 ของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินได้ระบุให้นายกฯสามารถประกาศไปก่อน โดยไม่ต้องเข้าครม.ก็ได้ จากนั้นค่อยรีบนำเข้า ครม.ภายหลัง เพราะถ้าไม่ทันก็ต้องทำเช่นนี้ ซึ่งสามารถบอกกันก่อนได้ ไม่ต้องจู่โจม ที่เขาเขียนว่าประกาศก่อนแล้วค่อยไปขอนั้น เขาหมายถึงกรณีก่อการร้าย
สธ.กำหนดเกณฑ์เปิดกิจการ ปลดล็อกดาวน์
นพ.คำนวณ อึ้งชูศักดิ์ ที่ปรึกษาด้านวิชาการ รมว.สาธารณสุข เฉพาะการแก้ปัญหาแพร่ระบาดโรคโควิด-19 เปิดเผยหลังการประชุมร่วมระหว่าง สธ.และคณบดีคณะแพทยศาสตร์ต่างๆ ซึ่งมี นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.สธ.เป็นประธานว่า ในการเปิดกิจการนั้น จะเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป โดยธุรกิจที่เป็นกลุ่มเสี่ยงสูงมากต้องยอมรับที่จะปิดกิจการระยะยาว เพราะมีการพิสูจน์มาก่อนแล้วว่า เป็นต้นกำเนิดของการแพร่ระบาดโควิด-19 เช่น สถานบันเทิง ผับ ไนท์คลับ ร้านคาราโอเกะ และสนามพนันต่างๆ
นอกจากนั้น ยังมีการใช้ข้อมูลทางระบาดวิทยา สธ.ในการจัดกลุ่มจังหวัดแยกเป็น 3 กลุ่มและทยอยให้กิจการในแต่ละกลุ่มจังหวัดเปิดกิจการ ได้แก่
1. กลุ่ม 32 จังหวัดที่มีการติดเชื้อระดับต่ำ ไม่พบผู้ป่วยรายใหม่ในช่วง 14 วัน สามารถเปลี่ยนผ่านได้ในช่วงต้นเดือน พ.ค.โดยอาจจะทดลองในช่วงปลายเม.ย.ก่อน 3-4 จังหวัด ในกลุ่มจังหวัดที่ไม่เคยพบผู้ป่วย
2. กลุ่ม 38 จังหวัดที่มีการพบผู้ป่วยประปรายในรอบ 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา จะทยอยเปิดกลางเดือนพ.ค.
3. กลุ่ม 7 จังหวัดที่มีการติดเชื้อต่อเนื่อง และไม่มีการระบาดใหญ่ อาจจะเปิดในช่วงต้นเดือนมิ.ย. ได้แก่ กทม. ชลบุรี นนทบุรี ภูเก็ต สมุทรปราการ ปัตตานี และยะลา
ในอนาคตหากมีความจำเป็นต้องปิดกิจการบางอย่างจะทำเฉพาะจุดที่เป็นต้นตอของการแพร่เชื้อเพื่อให้ธุรกิจอื่นๆ ยังดำเนินการต่อไปได้ เป็นการป้องกันการกลับมาระบาดระลอก 2 หรือ 3 เหมือนกับในต่างประเทศ ทั้งหมดเพื่อให้ทุกคนปลอดภัย ใช้ชีวิตที่จำเป็นได้และธุรกิจเดินหน้าต่อไปได้ โดยกรอบนี้จะนำเสนอต่อที่ประชุม ศบค.
โดยกลุ่มเสี่ยงสูง ปานกลาง และต่ำ จะพิจารณาจาก
1. ความหนาแน่นของบุคคลที่ไปใช่บริการ ยิ่งหนาแน่นมากยิ่งเสี่ยงมาก ซึ่งภาคธุรกิจจะต้องไปวางแผนว่า ขนาดพื้นที่เท่านี้ จะต้องรองรับบุคคลได้กี่คน
2.กิจการที่คนไปใช้สถานที่แล้วไม่มีการร้อง ตะโกน หรือพูดคุยกันไม่มาก ความเสี่ยงของกิจการนั้นก็จะน้อยลง
3.การถ่ายเทของอากาศ ถ้าระบบถ่ายเทอากาศไม่ดี หรือเป็นห้องแคบๆก็มีความเสี่ยงมาก
และ 4.สามารถทำมาตรการระยะห่างได้หรือไม่ โดยภาคธุรกิจจะต้องไปพิจารณา และจัดกลุ่มธุรกิจ
'หมอยง' แนะปรับการเรียนการสอนเด็ก สู้โควิด เลิกกวดวิชา-ห้องเรียนติดแอร์
ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยา คลินิกภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊ก Yong Poovorawan ระบุว่า โควิด 19 กับการศึกษา วันนี้เด็กนักเรียนนักศึกษาทั่วโลก มากกว่า 1,700 ล้านคน ต้องหยุดการเรียนการสอน การสอบ การเรียนการสอนได้มีการปรับเปลี่ยนวิธี เช่น เป็นการสอนทางไกล เรียนที่บ้าน ใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วย ทุกคนจะต้องปรับตัวได้สำหรับเด็กเล็ก การเรียนการสอนจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องใช้ผู้ปกครองพ่อแม่ที่อยู่ที่บ้าน ช่วยเรื่องการเรียนการสอนในระยะนี้ และจะเกิดขึ้น อีกหลายเดือน
โรงเรียนจะเปิดได้เมื่อไหร่ยังไม่แน่ ชั้นเรียนจะต้องเปลี่ยนไป เรียนห้องละ 40-50 คน คงต้องมีการเปลี่ยนแปลง การกวดวิชาคงต้องเลิก ห้องเรียนที่ติดแอร์ ที่มีเด็กจำนวนมาก จะเป็นแหล่งแพร่กระจายโรคได้อย่างรวดเร็ว ในเด็กจะมีอาการน้อย หรือไม่มีอาการ แต่แพร่จะกระจายไปหาคนในบ้าน ผู้ปกครอง ห้องเรียนจะต้องให้มีอากาศถ่ายเท โล่ง เช่น โรงเรียนในต่างจังหวัด สภาพความเป็นอยู่หลายอย่าง อาจจะต้องกลับสู่สามัญ
กรอกข้อมูลให้ถูกต้อง คนทบทวนสิทธิ์รับเงินเยียวยา
การยื่นทบทวนสิทธิ์ รับเงินเยียวยา 5,000 บาท นายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยว่า ผู้ที่มายื่นขอทบทวนสิทธิ์ได้จะต้องเป็นผู้ที่มีสถานะสีแดงเท่านั้น คือ ไม่ผ่านเกณฑ์และไม่เห็นด้วยกับคำตัดสินเท่านั้น ส่วนผู้ที่ยกเลิกลงทะเบียนไปโดยไม่ตั้งใจ จะเป็นกลุ่มต่อไปที่ขอยื่นทบทวนสิทธิ์ได้เร็วๆ นี้ ทั้งนี้ผู้ที่ขอทบทวนสิทธิ์จะต้องเตรียมข้อมูลสำคัญ และกรอกข้อมูลให้ถูกต้อง เช่น อาชีพของผู้ลงทะเบียน สถานที่ และหมายเลขโทรศัพท์ที่สามารถติดต่อได้ เป็นต้น
สำหรับกลุ่มที่ไม่ผ่านเกณฑ์ที่เป็นนักเรียน และนักศึกษา 700,000 คน หากทำงานไปด้วยและเรียนไปด้วยก็สามารถยื่นทบทวนสิทธิ์ได้ ส่วนกลุ่มที่เป็นร้านค้าขนาดเล็ก แต่ถูกระบุว่าเป็นผู้ประกอบการก็ยื่นขอทบทวนสิทธิ์เข้ามา และจะคืนสิทธิ์ให้ภายหลัง
พร้อมย้ำว่า หากได้รับเงินเยียวไปแล้ว 1 เดือน เช่น วันที่ 8 เม.ย.63 เดือน พ.ค.ก็จะได้รับเงินวันที่ 8 พ.ค. และวันที่ 8 มิ.ย. ส่วนถ้าหากวันที่โอนเงินตรงกับวันเสาร์และอาทิตย์ จะมีการโอนเงินให้ในวันจันทร์แทน ส่วนกรณีผลทบทวนสิทธิ์ทราบเดือน พ.ค.63 รัฐบาลจะโอนเงินให้ 10,000 บาท (เดือน เม.ย.-พ.ค.)