แพทย์แนะนำเพิ่มการดูแลผู้สูงอายุ และใช้การแพทย์วิถีใหม่ลดความเสี่ยงติดเชื้อโควิด-19

20 เมษายน 2563, 14:56น.


          อัตราการเสียชีวิตจากเชื้อไวรัสโควิด-19 ส่วนใหญ่คือผู้ที่มีอายุมากกว่า 70 ปี การดูแลผู้สูงอายุจึงต้องเพิ่มความระมัดระวังให้มากขึ้น นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ มีข้อแนะนำสำหรับดูแลผู้สูงอายุช่วงโควิด-19 ว่า ให้ยึดหลัก 5 อ. ได้แก่


-อาหาร คือสะอาด ปรุงสุกใหม่ ๆ เลี่ยงอาหารหวานหรือเค็ม เน้นอาหารที่มีโปรตีนสูงเสริมภูมิคุ้มกันและครบ 5 หมู่ รักษาสุขภาพช่องปาก


-อารมณ์ คืออย่ารับข่าวสารมากเกินไป ปรึกษาผู้รู้ใจ ทำกิจกรรมที่ผู้สูงอายุชื่นชอบ ใช้เทคนิคจัดการความเครียด เลี่ยงการดื่มสุรา ยาเสพติด ปรึกษาสายด่วนกรมสุขภาพจิต โทร 1323


-ออกกำลังกาย คือออกกำลังกายในบ้านอย่างสม่ำเสมอหรือเท่าที่ทำได้ตามสภาพร่างกายและสมองของผู้สูงอายุ


-เอนกาย คือนอนพักผ่อนนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ 7-9 ชั่วโมงต่อวัน


-ออกห่างสังคมนอกบ้าน คือทั้งผู้สูงอายุ และผู้ดูแลควรเก็บตัวอยู่แต่ในบ้านให้มากที่สุด เว้นระยะห่างอย่างน้อย 2 เมตร ใส่หน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้า  ล้างมือด้วยสบู่และน้ำสะอาด หรือแอลกอฮอล์เจลบ่อย ๆ


          โดยเน้นการดูแลทุกกลุ่มเหมือนกัน คือ 


-กลุ่มช่วยเหลือตัวเองได้ แม้ว่ากลุ่มนี้ร่างกายเหมือนปกติ แต่พลังสำรองร่างกายของกลุ่มวัยนี้จะน้อยกว่ากลุ่มวัยอื่นๆจึงมีโอกาสเจ็บป่วยรุนแรงและเสียชีวิตสูงหากมีการติดเชื้อไวรัส จึงขอให้พยายามเก็บตัวอยู่แต่ที่บ้าน ออกกำลังกายอยู่ที่บ้าน เป็นต้น


-กลุ่มติดบ้าน แม้ว่าจะอยู่แต่บ้านแต่ก็มีโอกาสรับเชื้อไวรัสจากภายนอก จึงต้องระมัดระวังคนในครอบครัวที่อาจนำเชื้อไวรัสมาติด


-กลุ่มติดเตียงหรือต้องดูแลที่บ้าน จะมีการจัดคนดูแลใกล้ชิดโดยเฉพาะจึงต้องระมัดระวังตัวจากการติดเชื้อไวรัสสู้ผู้สูงอายุและป้องกันการแพร่เชื้อไวรัสอย่างเข้มข้นเพราะเว้นระยะห่างจากผู้สูงอายุได้ยาก


-กลุ่มดูแลสถานที่ดูแลผู้สูงอายุ เช่น โรงพยาบาล จะต้องมีการคัดกรองผู้มาเยี่ยม คัดกรองบุคลากรและเฝ้าระวังอาการผู้สูงอายุ ซึ่งหากสงสัยติดเชื้อไวรัสต้องแยกห้อง แยกของใช้และปรึกษาแพทย์ทันที




          นอกจากนี้ยังต้องสังเกตผู้สูงอายุให้ดีว่าติดเชื้อหรือไม่ ซึ่งอาการอาจจะไม่ตรงไปตรงมา คืออาจจะไม่มีไข้ ตัวไม่ร้อน ไอไม่ชัด บอกไม่ได้ว่าเจ็บคอ แต่ก็ควรสังเกตอาการ คือหายใจเร็ว หอบ อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร หรือรับอาหารทางสายยางไม่ได้ ซึม สับสนเฉียบพลัน ความสามารถในการช่วยเหลือตัวเองลดลงอย่างรวดเร็ว สามารถปรึกษาโรงพยาบาลที่ดูแลประจำหรือหมายเลข 1668 สายด่วนกรมการแพทย์ หรือ 1669 สายด่วนศูนย์นเรนทร


          กระทรวงสาธารณสุข ยังปรับการแพทย์วิถีใหม่ และบางโรงพยาบาลเริ่มใช้กับผู้ป่วยสูงอายุที่มีโรคเรื้อรัง 3 กลุ่ม คือ


-ผู้ป่วยคงที่หรืออาการดีทั่วไป ที่ผลการตรวจล่าสุดไม่มีปัญหา โรงพยาบาลมีการปรับด้วยการส่งยาถึงบ้านทางไปรษณีย์ หรือนัดรับยาในร้านขายยาใกล้บ้าน,เลื่อนนัดให้นานขึ้นหรือให้ปรึกษาแพทย์ผ่านวิดีโอทางไกล


-ผู้ป่วยที่อาการแย่ลงผลการตรวจล่าสุดมีปัญหา แพทย์ให้ไปตรวจตามนัด และมีการให้คำปรึกษากับแพทย์ผ่านวิดีโอทางไกล


-ผู้ที่มีอาการเจ็บป่วยรุนแรงฉุกเฉิน ยังคงสามารถเข้ารับบริการที่ห้องฉุกเฉินได้ตามปกติ ซึ่งจะมีบริการคัดกรองที่เข้มงวดกว่าปกติ 


          การแพทย์วิถีใหม่ ที่สถาบันประสาทวิทยา มีการนำวิธีไปใช้แล้ว โดยให้คนไข้ลงทะเบียนผู้สูงอายุออนไลน์กว่า 1,000 คน มีการตรวจสอบสิทธิ์แล้ว 200 คน และมี 100 คน รับบริการด้วยวิธีนี้แล้ว


....
ข่าวทั้งหมด

X