ความเคลื่อนไหวเมืองไทยวันนี้ 12.30 น.วันจันทร์ที่ 20 เมษายน 2563

20 เมษายน 2563, 12:05น.


ดำเนินคดีกับคนนำของมาแจก บริเวณ ถ. กรุงเกษม ไม่เว้นระยะห่าง ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน 


          กรณีคลิปวิดีโอที่มีบุคคลจำนวนมากมารอรับแจกสิ่งของในช่วงการระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 ซึ่งคลิปวิดีโอเหตุการณ์ดังกล่าวพบว่ามีผู้มารอรับสิ่งของทำร้ายร่างกายกัน พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ  เปิดเผยว่า  ได้รับรายงานจากกองบัญชาการตำรวจนครบาลว่าจากการตรวจสอบพบว่าเกิดเหตุเมื่อวันที่ 12 เม.ย.2563 เวลาประมาณ 16.30 น.บริเวณถนนกรุงเกษม หน้าโรงแรมศรีกรุง แขวงป้อมปราบ เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย 


          เจ้าหน้าที่ตำรวจ สถานีตำรวจนครบาล พลับพลาไชย 2 สืบหาบุคคลที่มาแจกสิ่งของในวันดังกล่าว พบว่าผู้ที่นำอาหารและเงินมาแจกให้ประชาชน ประมาณ 100 คน ไม่ได้จัดการให้ประชาชนที่มารับบริจาค มีการเว้นระยะห่าง หรือมีการควบคุมเพื่อป้องกันความเสี่ยงในการแพร่เชื้อโรค ต่อมาได้มาพบพนักงานสอบสวน พร้อมรับว่าเป็นผู้มาแจกสิ่งของให้ประชาชนในวันเกิดเหตุจริง และได้แจ้งข้อกล่าวหา ในความผิดฐาน “ฝ่าฝืนประกาศหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน ในส่วนที่เกี่ยวกับความมั่นคง เรื่อง ห้ามการจัดกิจกรรมมั่วสุมในลักษณะเสี่ยงต่อการติดเชื้อ”


          กรณีที่มีการทำร้ายร่างกายกัน อยู่ระหว่างติดตามตัวผู้ที่ก่อเหตุมาดำเนินคดีตามกฎหมาย ขอความร่วมมือให้ผู้เสียหายที่ถูกทำร้ายร่างกายมาร้องทุกข์กล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวน สน.พลับพลาไชย 2 เพื่อจะได้ดำเนินคดีตามกฎหมาย


          สำหรับคนที่ต้องการให้ความช่วยเหลือประชาชนผู้ได้รับความเดือดร้อนในรูปแบบต่างๆ ทั้งการบริจาคสิ่งของ อุปโภคบริโภค อาหารและเงิน เพื่อช่วยบรรเทาผลกระทบของประชาชน ขอให้ประสานกับจังหวัด หรือ อำเภอ หรือ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในพื้นที่ให้ทราบก่อนแจกสิ่งของ รวมทั้งประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนถือปฏิบัติตามหลักการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยเฉพาะการเว้นระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) อย่างเคร่งครัด


จ.เชียงราย คัดกรองเข้มคนไทยกลับจากเมียนมา-ลาว  


          หลังจากกระทรวงมหาดไทยอนุญาตให้คนไทยที่อยู่ในต่างประเทศทำเรื่องขอกลับประเทศผ่านจุดผ่านแดนถาวร จำนวน 21 จุดทั่วประเทศ ตั้งแต่วันที่ 18 เม.ย. 


         จ.เชียงราย มีจุดผ่านแดนถาวรที่เปิดรองรับ 2 จุดคือที่ อ.แม่สาย เชื่อมกับ จ.ท่าขี้เหล็ก ประเทศเมียนมา และ อ.เชียงของ เชื่อมกับเมืองห้วยทราย แขวงบ่อแก้ว สปป.ลาว  พบว่า เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองทั้ง 2 อำเภอ ได้ร่วมกับหน่วยงานด้านสาธารณสุข นำกำลังไปรองรับการเดินทางกลับอย่างเข้มงวด และกำหนดพักที่โรงแรมแห่งหนึ่ง ในอ.เมืองเชียงราย 


-ที่ อ.แม่สาย ใช้ด่านพรมแดนสะพานข้ามลำน้ำสายแห่งที่ 2 เป็นสถานที่รับตัวกลับ จากการประสานกับทางการท้องถิ่นของประเทศเพื่อนบ้านพบว่า มีคนไทยที่จะเดินทางกลับเข้ามาทางจุดผ่านแดนถาวร อ.แม่สาย โดยแจ้งว่าจะเดินทางเข้ามาในวันที่ 20 เม.ย.จำนวน 9 คน และวันที่ 24 เม.ย.จำนวน 4 คน


-ชายแดนไทย-สปป.ลาว ด้าน อ.เชียงของ พบว่ามีผู้ลงทะเบียนขอกลับประเทศไทยเพียงจำนวน 2 คน และเดิมได้ทำเรื่องขอเดินทางกลับในวันที่ 18 เม.ย.2563 แต่ปรากฏว่ามีความไม่พร้อมด้านเอกสารจึงขอเลื่อนกลับมาในวันที่ 21 เม.ย.2563 


           กระทรวงมหาดไทยมีข้อกำหนดหลายข้อในการเดินทางกลับ เช่น ให้เข้ามาได้วันละไม่เกิน 100 คน มีใบรับรองแพทย์ มีหนังสือเดินทางเข้าประเทศที่ออกโดยสถานเอกอัครราชทูตหรือสถานกงสุลใหญ่ของประเทศไทย เมื่อเข้ามาแล้วต้องผ่านระบบการคัดกรองเพื่อป้องกันไวรัสโควิด-19 หรือการพักดูอาการในสถานที่ที่กำหนดเป็นเวลา 14 วัน


จ.ภูเก็ต คาดว่าไม่เกินเดือนนี้ตัวเลขผู้ติดเชื้ออาจเป็นศูนย์


          คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดภูเก็ต รายงานสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ประจำวันที่ 19 เม.ย.2563 ว่ามีจำนวนผู้ติดเชื้อสะสม 192 คน ไม่พบผู้ป่วยรายใหม่เพิ่มมาเป็นเวลา 2 วันแล้ว ขณะที่ ตัวเลขผู้ติดเชื้อที่รักษาหายกลับบ้านแล้วมีจำนวนเพิ่มอีก 20 คน รวมเป็น 126 คน ยังรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล 65 คน ในจำนวนนี้อาการรุนแรง 3 คน นอกนั้นอาการอยู่ในเกณฑ์ดี และผู้ที่ยังรอผลตรวจทางห้องปฏิบัติการมีจำนวนลดลงเหลือ  33 คน 


          แม้ตัวเลขผู้ติดเชื้อของจังหวัดภูเก็ตจะลดลงเรื่อย ๆ จังหวัดก็ยังคงดำเนินการตรวจคัดกรองประชาชนในพื้นที่ที่มีความเสี่ยง โดยเฉพาะพื้นที่บ้านบางเทา ต.เชิงทะเล อ.ถลาง ซึ่งเป็นพื้นที่สุดท้ายในการค้นหาผู้สัมผัสความเสี่ยง โดยจะทำการแยกกักและเก็บตัวอย่างสารคัดหลั่งจากช่องจมูกไปตรวจสอบ ซึ่งจะทำให้ทราบผลได้เร็วขึ้น โดยไม่ต้องรอให้แสดงอาการ และหากผลการปฏิบัติการดีต่อเนื่อง คาดว่าไม่เกินเดือนนี้ตัวเลขผู้ติดเชื้ออาจเป็นศูนย์และสามารถปลดล็อกจังหวัดภูเก็ตได้เร็วขึ้น 


ศ.นพ.ยง แนะให้ ผ่อนปรน 'ร้านตัดผม-ห้าง'แบบมีระยะห่าง  


          ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยา คลินิกภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊ก Yong Poovorawan ระบุว่า โควิด-19 กับจุดสมดุลย์ การควบคุมโรคโควิด-19 ให้เหลือน้อยที่สุด หรือหมดไปจากประเทศไทยได้ยิ่งดี แต่ในขณะเดียวกัน ภาวะเศรษฐกิจ สังคม จะต้องอยู่ในจุดสมดุลย์ ถ้าต้องการให้โรคหมดไป ภาวะเศรษฐกิจและสังคม ก็จะอยู่ในภาวะลำบากมาก ถ้ากลับไปอยู่สภาพเดิมของภาวะเศรษฐกิจและสังคมเราก็จะควบคุมการระบาดของโรคไม่ได้ การเปิดประเทศ เปิดเมือง ขยายกิจกรรมต่างๆ จะต้องค่อยเป็นค่อยไป 


          พร้อมทั้งนี้ กฎเกณฑ์ในการให้ โควิด-19 พบน้อยที่สุด กิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่ำมากๆ จะต้องยอมให้เปิดก่อน แต่ต้องคำนึงถึงกฎเกณฑ์ กำหนดระยะห่างของสังคม การดูแลเรื่องสุขอนามัย การเข้าค้นหาผู้ป่วยให้เร็วที่สุด การควบคุมโรค ไม่ให้แพร่ขยายต่อได้ ทุกคนต้องช่วยกันเฝ้ามอง และเคารพในกฎเกณฑ์ กลุ่มเสี่ยงยังคงต้องอยู่บ้าน ผู้ออกนอกบ้าน จะต้องคำนึงถึงคนในบ้าน ไม่นำพาโรคเข้ามา โดยเฉพาะให้กับผู้สูงอายุ


         การประกอบอาชีพหลายอย่าง อาจจะต้องเปลี่ยนไปบ้าง เช่น การตัดผม เสริมสวย จะต้องเคร่งครัดใส่หน้ากากอนามัยทั้งสองฝ่าย และพูดคุยกันให้น้อยที่สุด กำหนดระยะห่างภายในร้าน หรือมีการนัดคิว นัดเวลา ไม่ควรรอในร้านหลายคน


         การเปิดห้างจะทำอย่างไร ให้คนไปซื้อของที่จำเป็น และอยู่ภายใน ให้ใช้เวลาน้อยที่สุด เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้มีคนจำนวนมาก ลดการสัมผัสระหว่างคน ร้านอาหาร จะต้องจำกัดคนที่รับประทานในร้าน กำหนดระยะห่าง ให้เน้นการซื้อกลับบ้าน ทุกคนควรอยู่บ้าน การทำงานที่บ้าน ยังคงจะต้องอยู่ไประยะหนึ่ง สถานบันเทิง การแข่งกีฬา ที่อนุญาตให้คนเข้าชมควรจะต้องงด เพราะถือเป็นความเสี่ยงสูง ทุกคนจะต้องช่วยกัน คนที่เสียโอกาส เสียอาชีพ ไม่มีงานทำ จะต้องได้รับการช่วยเหลือ จากรัฐบาลและ ผู้ที่มีความพร้อมที่จะช่วยได้ เราต้องต่อสู้อีกยาวนาน บนความสมดุลของทุกฝ่าย แบบพอเพียง โควิด-19 ทำให้ต้องมีการจัดระเบียบของสังคมใหม่ เพื่อความอยู่รอดของทุกฝ่าย เราต้องร่วมกันอีกยาวนาน จนกว่าจะมีวัคซีน ที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันโรค


รัฐบาล หารือ เอกชน วางแผนฟื้นฟูธุรกิจ ให้เลิกจ้างน้อยที่สุด 


          นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึง การวิพากษ์วิจารณ์กรณีที่รัฐบาลจะเชิญภาคเอกชนเข้ามาร่วมหารือเพื่อกำหนดแนวทางในแผนฟื้นฟูด้านเศรษฐกิจและสังคมร่วมกันว่าการหารือร่วมกับภาคเอกชน เพื่อบูรณาการแผนการช่วยเหลือประชาชนร่วมกันเพื่อไม่ให้เกิดความซ้ำซ้อน หรือการช่วยเหลือที่ไม่ครอบคลุมกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ครั้งนี้ ที่สำคัญเพื่อให้เป็นการช่วยเหลือที่ถูกกลุ่มเป้าหมายให้มากที่สุด


         การหารือร่วมกับภาคเอกชน เพื่อวางแผนร่วมกันในด้านการฟื้นฟูธุรกิจและเศรษฐกิจของประเทศ เช่น ทำอย่างไรที่จะให้เกิดการเลิกจ้างให้น้อยที่สุด เรื่องนี้ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนต้องร่วมมือกันในการดำเนินการ และการแก้ปัญหาร่วมกันในทุกมิติ ยืนยันว่านายกฯ ให้ความสำคัญกับทุกภาคส่วน เพราะเชื่อว่าทุกภาคส่วนมีความสำคัญต่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทยจะรับฟังข้อเสนอแนะจากทุกภาคส่วน และขอบคุณภาคธุรกิจทุกบริษัทที่ให้การสนับสนุนเพื่อช่วยแก้ปัญหาการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 เชื่อมั่นว่าจากความร่วมมือของทุกๆ ฝ่าย จะทำให้ประเทศไทยผ่านพ้นวิกฤตครั้งนี้ไปได้ด้วยกัน 


 


แฟ้มภาพ 
ข่าวทั้งหมด

X