ทันสถานการณ์โลก 06.30น.ประจำวันจันทร์ที่ 20 เมษายน 2563
อังกฤษยังไม่ยกเลิกมาตรการล็อกดาวน์
นายไมเคิล โกฟ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีอังกฤษกล่าวว่า อังกฤษยังไม่คิดในเรื่องการยกเลิกมาตรการล็อกดาวน์ ที่บังคับใช้มานาน 4 สัปดาห์ เพื่อควบคุมการระบาดของไวรัสโคโรนา หรือ โควิด-19 พร้อมแสดงความกังวลอย่างมาก ต่อกรณีมีผู้เสียชีวิตจากโรคดังกล่าวในประเทศเป็นจำนวนมากขึ้น พร้อมทั้งกล่าวว่า แม้อัตราการติดเชื้อ และอัตราการเสียชีวิตจะดูทรงตัว แต่ก็ยังเป็นสถานการณ์ที่ยังไม่น่าไว้วางใจอยู่
มีผู้เสียชีวิตจากโรคดังกล่าวในอังกฤษมากกว่า 15,000 ราย คิดเป็นอันดับ 5 ของโลก คำกล่าวของนายไมเคิลมีขึ้นหลังมีรายงานระบุว่า รัฐบาลอังกฤษกำลังพิจารณายกเลิกมาตรการล็อคดาวน์ในเร็วๆ นี้ สำหรับผู้ติดเชื้อในอังกฤษ ใน 24 ชั่วโมง เพิ่มขึ้น 5,850 คน รวมยอดผู้ติดเชื้อสะสม 120,067 คน เสียชีวิต เพิ่มขึ้น 570 ราย เสียชีวิตสะสม 16,060 ราย รักษาหายเพียง 436 คน
ยอดผู้ติดเชื้อทั่วโลกยังคงเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง ในรอบ 24 ชั่วโมงเพิ่งขึ้น 56,736 คน ยอดติดเชื้อสะสม 2,387,502 คน เสียชีวิตเพิ่มขึ้น 4,147 ราย เสียชีวิตสะสม 164,194 ราย รักษาหายแล้ว 613,099 คน
สหรัฐยังรั้งอันดับ 1 ประเทศที่มีผู้ติดเชื้อ และเสียชีวิตมากที่สุดในโลก กว่า 4 หมื่นคน ตามมาด้วยอิตาลี ที่มีผู้เสียชีวิตกว่า 23,000 คน แต่ยอดผู้ติดเชื้อเริ่มชะลอตัว ลดลงมาเป็นอันดับ 3 สำหรับ สเปนมีผู้เสียชีวิต เป็นอันดับ 3 อยู่ที่ 20,453 ราย แต่ยอดผู้ติดเชื้อสะสม เป็นอันดับ 2 รองจากสหรัฐ อยู่ที่ 195,944 คน (ข้อมูล เมื่อเวลา 05.30 น. จากจอห์น ฮอบกิ้นส์ และกรมควบคุมโรค)
อินเดีย กลับมาส่งออกยารักษามาลาเรีย เพื่อสกัดโควิด-19 อีกครั้ง
อินเดียได้ตกลงที่จะขายยาไฮดรอกซีคลอโรควิน (hydroxychloroquine) ให้กับมาเลเซีย เพื่อใช้ในการรักษาผู้ป่วยไวรัสโคโรน่า หรือ โควิด-19 โดยอินเดียได้ ยกเลิกคำสั่งห้ามบางส่วนสำหรับการส่งออกยาดังกล่าว ซึ่งเป็นยารักษาโรคมาลาเรีย
อินเดียเป็นประเทศที่ผลิตยาไฮดรอกซีคลอโรควิน รายใหญ่ที่สุดของโลก โดยยอดขายยาดังกล่าวพุ่งขึ้นทั่วโลก รวมถึงในสหรัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ระบุว่า ยาดังกล่าวอาจใช้ได้ผลในการรักษาโรคโควิด-19 ก่อนหน้านี้ อินเดียได้สั่งระงับการส่งออกยาไฮดรอกซีคลอโรควินในเดือนที่แล้ว เพื่อสำรองไว้ใช้ภายในประเทศ ก่อนที่จะตัดสินใจในเดือนนี้ที่จะส่งออกยาดังกล่าวให้กับประเทศเพื่อนบ้าน รวมถึงประเทศที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19
ชาวอเมริกันชุมนุมต่อต้านมาตรการล็อกดาวน์ในเมืองต่างๆ
มีประชาชนราว 400 คน โดยมีบางคนสวมชุดทหารและปิดหน้า ชุมนุมภายใต้สายฝนเย็นฉ่ำในเมืองคอนคอร์ด รัฐนิวแฮมป์เชียร์ เมื่อวันเสาร์ที่แล้ว (18 เม.ย.) เรียกร้องให้ยกเลิกคำสั่งให้ประชาชน 1.3 ล้านคน ในรัฐงดออกจากบ้านก่อนกำหนดสิ้นสุดในวันที่ 4 เดือนหน้า โดยอ้างว่า ในรัฐมีผู้ได้รับการยืนยันว่า ติดเชื้อโควิดน้อยมาก
เช่นเดียวกับที่รัฐเทกซัส ประชาชนกว่า 250 คน รวมตัวในเมืองออสติน เมืองหลวงของรัฐ แกนนำผู้ชุมนุม ย้ำว่า ถึงเวลาแล้วที่จะเปิดเทกซัสให้ประชาชนกลับไปทำมาหากิน และว่า ควรปล่อยให้คนคิดเอง ไม่ใช่รัฐบาลใช้กำลังบังคับ เป็นที่น่าสังเกตว่า มีผู้ชุมนุมน้อยมากที่ปฏิบัติตามคำแนะนำในการเว้นระยะห่างทางสังคม
นอกจากนั้น ยังมีการประท้วงในอีกหลายเมืองทั่วอเมริกา เช่น แอนนาโปลิส เมืองหลวง ของรัฐแมรีแลนด์ โคลัมบัส โอไฮโอ และซานดิเอโก รัฐแคลิฟอร์เนีย รวมถึงในรัฐอินเดียนา เนวาดา และวิสคอนซิน การประท้วงคำสั่งกักตัวอยู่บ้านครั้งใหญ่สุดเกิดขึ้นเมื่อวันพุธที่แล้ว (15 เม.ย.) ในเมืองแลนซิ่ง เมืองหลวงของรัฐมิชิแกน มีผู้ร่วมชุมนุมราว 3,000 คน
ผู้ประท้วงเหล่านี้ได้แรงเชียร์สำคัญจากทวิตของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ จากพรรครีพับลิกันเมื่อวันศุกร์ เรียกร้องให้ปลดปล่อยรัฐมิชิแกน มินนิโซตา และ เวอร์จิเนีย ซึ่งล้วนเป็นรัฐที่ผู้ว่าการสังกัดพรรคเดโมแครต
ทรัมป์ต้องการให้อเมริกากลับสู่สถานการณ์ปกติโดยเร็ว โดยอ้างว่า การล็อกดาวน์ส่งผลกระทบรุนแรงต่อแรงงานและธุรกิจ เขายังแสดงความยินดีที่ธุรกิจบางอย่างในเทกซัสและเวอร์มอนต์จะเปิดดำเนินการอีกครั้งในวันนี้ (20 เม.ย.) ควบคู่กับการใช้มาตรการเว้นระยะห่างทางสังคมอย่างเหมาะสม
หลายรัฐที่รวมถึงโอไฮโอ มิชิแกน และ ฟลอริดา ยังประกาศเตรียมเดินเครื่องเศรษฐกิจบางส่วนอีกครั้งในวันที่ 1 เดือนหน้าหรือเร็วกว่านั้น แต่สำทับว่า จะยังคงเฝ้าระวังโรคเช่นเดิม รอน ดีแซนทิส ผู้ว่าการรัฐฟลอริดาสังกัดพรรครีพับลิกัน เปิดหาดบางแห่งตั้งแต่เย็นวันศุกร์ แต่ย้ำว่า จะปิดโรงเรียนต่อจนสิ้นสุดปีการศึกษา
สภาคองเกรส เร่งสรุปมาตรการช่วยเหลือ ธุรกิจขนาดเล็ก
นางแนนซี เพโลซี ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐ เชื่อว่า สมาชิกสภาคองเกรสใกล้บรรลุข้อตกลงในเรื่องการเห็นชอบวงเงินพิเศษเพื่อช่วยเหลือธุรกิจขนาดเล็กที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโคโรนา หรือ โควิด-19 ตามที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐขอเพิ่มวงเงินดังกล่าวอีก 2 แสน 5 หมื่นล้าน ดอลล่าร์สหรัฐ ในโครงการเงินกู้ของธุรกิจขนาดเล็ก
นางเพโลซีกล่าวว่า ไม่ขัดข้องที่จะเพิ่มวงเงินช่วยเหลือธุรกิจขนาดเล็ก แต่ก็ต้องคำนึงถึงเรื่องการเพิ่มเงินให้กับรัฐต่างๆ และโรงพยาบาล เพื่อต่อสู้กับการระบาดของโรคด้วยรวมถึงการช่วยเหลือด้านอาหารแก่คนยากจน ซึ่งกำลังพิจารณากันอยู่
ก่อนหน้านี้ นางเพโลซีกล่าวกับสมาชิกพรรคเดโมแครตในสภาผู้แทนราษฎรว่า งบประมาณช่วยเหลือชาวสหรัฐในขณะนี้ยังไม่เพียงพอ แม้สภาคองเกรสสหรัฐจะอนุมัติมาตรการเยียวยาเศรษฐกิจไปแล้ว 2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐเมื่อเดือนมีนาคม โดยสภาคองเกรสกำลังพิจารณางบประมาณก้อนใหม่ หลังจากประธานาธิบดีทรัมป์ ได้ลงนามมาตรการเยียวยาผลกระทบทางเศรษฐกิจ วงเงิน 2 ล้านล้านดอลลาร์ เพื่อบังคับใช้เป็นกฎหมายเมื่อวันที่ 27 มีนาคม ลดผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เกิดจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 แบ่งเป็นการจ่ายเงินสดโดยตรงให้กับภาคครัวเรือน และให้ความช่วยเหลือภาคอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ต่างๆ ที่ได้รับผลกระทบ
มูลนิธิบลูมเบิร์ก บริจาคเงินให้กับองค์การอนามัยโลก
มูลนิธิบลูมเบิร์ก ฟีแลนโธรพีส์( Bloomberg Philanthropies) ประกาศมอบเงินช่วยเหลือให้องค์การอนามัยโลก หรือ WHO จำนวน 8 ล้านดอลลาร์เพื่อจัดการวิกฤตโคโรนาไวรัส ขณะเดียวกันรัฐบาลออสเตรเลียแถลงออกมาเรียกร้องให้ตั้งหน่วยงานอิสระเพื่อสอบสวนต้นตอและการจัดการวิกฤตโรคระบาด หลังจากที่ผู้นำสหรัฐฯออกมาชี้จีนปกปิดน่าสงสัยงนี้ สำหรับ มูลนิธิบลูมเบิร์ก ฟีแลนโธรพีส์ นั้นเป็นของนายกเทศมนตรีเมืองนิวยอร์ก ซิตี ไมเคิล บลูมเบิร์ก ที่มีจำนวนยอดการเสียชีวิตมากที่สุดในสหรัฐฯที่ 13,157 คน นอกจากนั้น สหรัฐฯและแคนาดาได้ขยายเวลาการปิดพรมแดนระหว่างกันออกไปอีก 30 วันเพื่อป้องกันการระบาด
ออสเตรเลีย สนับสนุนตั้งหน่วยงานกลาง สอบต้นตอโควิด-19ระบาดในจีน
หลังจากที่ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ โดนัลด์ ทรัมป์ ได้ออกมาข่มขู่จีนว่า อาจต้องได้รับผลที่ตามมาหากว่า จีนรู้ว่าต้องมีส่วนรับผิดชอบกับการระบาดครั้งนี้ ล่าสุด วันอาทิตย์ (19) รัฐบาลออสเตรเลีย ออกมาสร้างแรงกดดันไปที่จีน และ องค์การอนามัยโลก WHO โดยชี้ว่า ต้องมีหน่วยงานที่เป็นอิสระเพื่อตรวจตรวจสอบต้นตอไวรัสและวิธีที่มันแพร่ระบาดได้อย่างไร
รัฐมนตรีต่างประเทศออสเตรเลีย มารีส เพย์น (Marise Payne) กล่าวผ่านแถลงการณ์ว่า ออสเตรเลียขอยืนยัน ต้องมีการสอบสวนการจัดการวิกฤตในช่วงแรกของของจีนที่เมืองอู่ฮั่น ซึ่งเป็นจุดที่เกิดวิกฤตครั้งแรกเมื่อปลายปีที่แล้ว เพย์นยังชี้ว่า ออสเตรเลียมีความเห็นตรงกันกับสหรัฐฯที่กล่าวหาองค์การอนามัยโลกถึงการจัดการอย่างผิดพลาดต่อวิกฤต และยังปิดบังความร้ายแรงของการระบาดในจีนก่อนที่มันจะลุกลามใหญ่โตไปทั่วโลก
และเธอเชื่อว่า ผลจากการระบาดโควิด-19 นั้น จะเปลี่ยนความสัมพันธ์ระหว่างออสเตรเลียและจีน กระทรวงสาธารณสุขออสเตรเลีย รายงานพบผู้ป่วยใหม่วันนี้ 26 คน ส่งผลทำให้มีจำนวนติดเชื้อรวม 6,612 คน เสียชีวิตรวม 71 ราย รักษาหาย 4,230 คน
หน้ากากผ้าบางส่วนที่รัฐบาลญี่ปุ่นแจกให้หญิงตั้งครรภ์มีข้อบกพร่อง
กระทรวงสาธารณสุขญี่ปุ่น เปิดเผยว่า ได้รับรายงานจากเขตเทศบาลเมือง 80 เขต เมื่อคืนวันที่ 17 เมษายน ว่าหน้ากากผ้าที่รัฐบาลญี่ปุ่นแจกให้หญิงตั้งครรภ์ในประเทศ ผ่านทางไปรษณีย์พบว่ามีบางส่วนที่มีข้อบกพร่อง เนื่องจากมีรอยเปื้อน และปนเปื้อนเส้นผมมนุษย์หรือฝุ่นละออง ซึ่งจำนวนหน้ากากผ้าที่มีปัญหามีจำนวนสูงถึง 1,900 ชิ้น และมาจากการผลิตของกลุ่มบริษัท ซึ่งจะเปลี่ยนหน้ากากผ้าชิ้นใหม่ให้ ซึ่งรัฐบาลได้ขอให้กลุ่มบริษัทผู้ผลิตแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในการผลิตด้วย
รัฐบาลญี่ปุ่นเริ่มส่งหน้ากากผ้า 500,000 ชิ้น ให้แก่หญิงตั้งครรภ์ เมื่อวันที่ 14 เมษายน ก่อนเริ่มต้นส่งหน้ากากผ้าผ่านทางไปรษณีย์ให้แก่ทุกครัวเรือนทั่วประเทศ ครัวเรือนละ 2 ชิ้น ตั้งแต่วันที่ 17 เมษายน เพื่อบรรเทาปัญหาขาดแคลนหน้ากากอนามัย ในช่วงที่เกิดการระบาดของโรคโควิด-19