ความคืบหน้าของการผลิตวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ในประเทศไทย นายแพทย์นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ กล่าวว่า ไทยมีการดำเนินการใน 2 ทางเพื่อให้ไทยเข้าถึงวัคซีนได้เร็วที่สุด คือทั้งการพัฒนาวัคซีนเอง และความร่วมมือกับต่างประเทศ
โดยในการพัฒนาวัคซีนเอง ทีมวัคซีนไทยได้รวบรวมนักวิจัยของไทย จากทั้งมหาวิทยาลัยและภาคเอกชน มาร่วมการพัฒนา
-คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาฯ มีการวิจัยอยู่ในขั้นของห้องทดลอง
-คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยร่วมกับบริษัท ไบโอเนท เอเชีย มีความก้าวหน้าถึงขั้นทำการทดลองในสัตว์ทดลองได้แล้ว
อย่างไรก็ตามเนื่องจากเวลานี้การทำงานวิจัยในหลายประเทศมีความคืบหน้าไปมาก โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา จีน อังกฤษ ซึ่งมีการทดลองในคนในระยะที่ 1 และระยะที่ 2 แล้ว โดยมีวัคซีนทั้งหมด 6 ชนิดที่เริ่มทำการทดสอบในคน ดังนั้นเพื่อให้ไทยสามารถเข้าถึงวัคซีนได้เร็วขึ้น จึงมีการดำเนินงาน 2 ด้านพร้อมกันคือการนำวัคซีนต้นแบบที่มีศักยภาพสูงจากต่างประเทศมาทดลองในประเทศ โดยมีแผนรับการถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อการผลิต และข้อตกลงในการเข้าถึงวัคซีน พร้อมไปกับการพัฒนาวัคซีนต้นแบบโดยนักวิจัยไทย
ทั้งนี้
-จากสถานการณ์ของโรคระบาด เราไม่สามารถรอได้นาน เพราะสถานการณ์ของการระบาดจะไม่สงบลงจนกว่าประชากรมากกว่าร้อยละ 60 ติดเชื้อ และมีภูมิคุ้มกัน ซึ่งจะใช้เวลานานมาก เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างมาก
-การรอซื้อวัคซีน ต้องใช้เวลานาน เพราะศักยภาพการผลิตตอนแรกจะไม่เพียงพอ
-ต้องเริ่มพัฒนาศักยภาพการวิจัยพัฒนาเพื่อนำไปสู่การผลิตวัคซีนในประเทศในทันที
-มีการลงทุนพัฒนาศักยภาพด้านวัคซีนของประเทศ มีโรงงานที่ได้มาตรฐาน เพื่อให้เข้าถึงวัคซีนได้เร็วขึ้น
-ศักยภาพการวิจัยพัฒนาและการผลิตวัคซีน จะเป็นพื้นฐานสำคัญในการรับมือโรคติดเชื้ออุบัติใหม่ในอนาคต ซึ่งไม่แน่ว่าจะมาอีกเมื่อไหร่
นายแพทย์นคร กล่าวด้วยว่า หากเรามีศักยภาพในการวิจัย เราก็จะมีพื้นฐาน สำหรับโรคโควิด-19 ที่อาจย้อนกลับมา และอุบัติใหม่ในอนาคต ...