การประชุมสุดยอดผู้นำแผนงานการพัฒนาความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงหรือ จีเอ็มเอส ครั้งที่ 5 ซึ่งไทยจะเป็นเจ้าภาพการประชุมในระหว่างวันที่ 19-20 ธันวาคม นี้ มีผู้นำจาก 6 ประเทศเข้าร่วม ประกอบด้วย ไทย จีน พม่า ลาว กัมพูชา และเวียดนาม มีวาระการประชุมที่สำคัญเกี่ยวกับการลงทุนในแม่น้ำโขง ซึ่งนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สศช. ระบุว่า ผู้นำของกลุ่มประเทศสมาชิก จะให้ความเห็นชอบแผนปฎิบัติการลงทุนในกลุ่มลุ่มแม่น้ำโขง หรือ อาร์ไอเอฟ ซึ่งได้รับความเห็นชอบจากการประชุมระดับรัฐมนตรีเมื่อเดือนธันวาคม 2556 เพื่อนำไปสู่การปฎิบัติ โดยจะครอบคลุมความร่วมมือมากกว่า 10 สาขา เช่น คมนาคม สิ่งแวดล้อม การพัฒนาเมือง มีมูลค่าการลงทุนร่วมกันที่ 1,600,000 ล้านบาท
ในส่วนของประเทศไทยจะเน้นแผนงานด้านคมนาคม โดยมีโครงการสร้างเส้นทางรถไฟรางและถนนกว่า 9 โครงการ รวมถึงโครงการก่อสร้างถนนมอเตอร์เวย์บางใหญ่-กาญจนบุรี เพื่อเชื่อมไปยังพม่า โครงการสร้างสะพานแม่น้ำโขงแห่งที่ 5 จ.บึงกาฬ และทางรถไฟสายสิงคโปร์-คุนหมิง ที่จะเชื่อมต่อกว่า 6 ประเทศ โดยจะผ่านด่านอรัญประเทศ จ.สระแก้ว ซึ่งขณะนี้การปรับปรุงเส้นทางรถไฟเสร็จเรียบร้อยแล้ว เหลือเพียงการเจรจาเพื่อสร้างสะพานเชื่อมไปยังกัมพูชา โดยงบประมาณที่ใช้ในการลงทุนแต่ละโครงการ จะมาจากภาคเอกชน ภาครัฐบาล และการกู้ยืมจากธนาคารพัฒนาเอเชีย เพราะต้องใช้งบประมาณกว่า 158,000 ล้านบาท
เลขาธิการสภาพัฒน์ ยังระบุว่า การที่ไทยเร่งสร้างทางคมนาคมเพื่อให้สอดคล้องกับการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนที่ต้องใช้เส้นทางการส่งสินค้า และเพื่อให้เกิดเส้นทางที่หลากหลาย เชื่อว่าจะกระตุ้นการค้าขายในชายแดนที่จะช่วยให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศได้มากขึ้น นอกจากนี้ จะมีการให้สัตยาบันของประเทศไทยถึงการดำเนินการตามความตกลงว่าด้วยการขนส่งข้ามพรมแดนและความคืบหน้าในการจัดตั้งศูนย์ประสานงานการซื้อขายไฟฟ้าระหว่างประเทศสมาชิกในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง การจัดตั้งสมาคมการรถไฟ ที่มีวัตุประสงค์สร้างความร่วมมือและลดความเหลื่อมล้ำระหว่างประเทศให้มีการพัฒนาร่วมกัน