แม้วันนี้จะไม่พบผู้ป่วยที่ติดเชื้อไวรัสโคโรนา2019 หรือ โควิด-19 เสียชีวิตเพิ่มขึ้น ทำให้ตั้งแต่วันที่ 4 มกราคม-17เมษายน 2563 ประเทศไทยมีผู้เสียชีวิตสะสม 47 รายส่วนใหญ่พบว่า อยู่ในช่วงอายุ50-59ปีและมีโรคประจำตัว
นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 (ศบค.) เปิดเผยว่า ปัจจัยเสี่ยงที่พบผู้ป่วยเสียชีวิต พบว่า ไปสถานที่แออัดคนจำนวนมาก เช่น สถานบันเทิง ร้านอาหาร 9 คน สัมผัสผู้ป่วยยืนยันก่อนหน้านี้ 9 คน อาชีพเสี่ยง เช่น ขับรถสาธารณะ ร้านอาหาร 7 คน เดินทางกลับจากต่างประเทศ 7 คน สนามมวย 5 คน สัมผัสผู้เดินทางกลับจากต่างประเทศ 3 คน ระบุสาเหตุไม่ได้ 7 คน โดยเมื่อวานนี้ที่มีภาพปรากฏ ผู้คนจำนวนมากมารวมตัวกันขอรับบริจาค ถือเป็นความเสี่ยงจะอาจจะติดเชื้อได้มาก แม้จะอยู่ในพื้นที่โปร่งหรือริมถนนก็ตาม จึงต้องสังเกตสถานการณ์นับจากนี้ไปอีก 7-14 วัน
จึงฝากไปยังผู้ใจบุญ หากจะนำสิ่งของไปบริจาคขอให้วางระบบที่ดีด้วย และคนที่ไปในสถานที่เหล่านั้น ขอให้สังเกตอาการตัวเอง และป้องกันตัวเองอย่างดี เพราะถือเป็นกลุ่มเสี่ยง หากมีไข้ มีอาการ ขอให้รีบพบแพทย์ทันที
สำหรับตัวเลขผู้เสียชีวิต 47 ราย เทียบเป็นร้อยละ 1.7 ของผู้ป่วยทั้งหมด แบ่งเป็นคนไทยร้อยละ87 ต่างชาติร้อยละ13 เพศชาย 38 ราย เพศหญิง 9 ราย ถือว่าอยู่ในระดับต่ำกว่าต่างประเทศ แสดงถึงศักยภาพของแพทย์
โดยผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตมีตั้งแต่ อายุ 28-85 ปี ส่วนใหญ่ช่วงอายุ 50-59 ปีมีอัตราเสียชีวิตมากที่สุดร้อยละ 29.8 สาเหตุที่ทำให้เสียชีวิต คือ ผู้ที่มีโรคประจำตัว ส่วนใหญ่เป็นเบาหวาน ปกติแล้วหากน้ำตาลในร่างกายเกิน จะทำให้ระบบในร่างกายบกพร่อง ภูมิต้านทานลดน้อยลง เมื่อติดเชื้อก็ยิ่งทำให้ร่างกายแย่ลง ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง หัวใจ ภาวะอ้วน โรคไต แต่ยังพบว่า มี 17 ราย ที่ไม่มีโรคประจำตัว แต่กลับเสียชีวิต เป็นเรื่องที่ประมาทไม่ได้
สำหรับเทศกาลสงกรานต์ปีนี้ ซึ่งติดปัญหาการแพร่ระบาดทำให้ประกาศภาวะฉุกเฉิน จนไม่สามารถจัดงานรื่นเริงหรือเดินทางกลับภูมิลำเนาได้ ทำให้พบว่า สถิติการเกิดอุบัติเหตุปีนี้ลดลงกว่า ปี2562 จากเดิม 30,212 คน เป็น 9,764 คน ลดลงจากเดิม 517 ราย เป็น 150 ราย สะท้อนว่า อุบัติเหตุเป็นพฤติกรรมปรับได้ ถ้ามีความจำเป็น ดังนั้นการมีงานเลี้ยงที่ต้องสังสรรค์ อาจจะเป็นสาเหตุให้ปีที่ผ่านๆมามีสถิติอุบัติเหตุเสียชีวิตจำนวนมาก
ส่วนการดำเนินคดีกับผู้ที่ฝ่าฝืนคำสั่ง พระราชกำหนดในสถานการณ์ฉุกเฉิน ในวันที่ 18 เมษายน พบ ผู้ฝ่าฝืนออกนอกเคหสถาน 691 คน ลดลงจากคืนก่อน 129 คน การชุมนุมมั่วสุม 113 คน เพิ่มขึ้นจากคืนก่อน 4 คน พบในพื้นที่ นนทบุรีมากที่สุด รองลงมาคือ กรุงเทพมหานคร ปทุมธานี สมุทรปราการ สงขลา ส่วนพื้นที่ที่ไม่พบผู้ฝ่าฝืน คือ ยโสธร หนองคาย หนองบัวลำภู อุดรธานี แม่ฮ่องสอน