สธ.จัดทำสื่อความรู้โควิด-19 สำหรับคนพิการทุกประเภท

16 เมษายน 2563, 16:18น.


          การดูแลผู้พิการในสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 นพ.ณัฐพงศ์ วงศ์วิวัฒน์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า ในประเทศไทยมีผู้พิการกว่า 2,020,000 คน โดยกลุ่มผู้พิการทางสายตาและการได้ยิน ผู้พิการติดเตียง จะมีข้อจำกัดเรื่องเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร ทำให้เข้าถึงระบบบริการสุขภาพได้ยากและมีรายได้น้อยกว่าคนอื่น ขาดแคลนอุปกรณ์ป้องกัน เช่นเจลล้างมือ หน้ากาก หากติดเชื้อก็จะมีอาการรุนแรงกว่าคนอื่น ทั้งอาจพบความผิดปกติของอวัยวะภายในร่วมด้วย เช่น ระบบทางเดินทางใจ ระบบภูมิคุ้มกัน กระทรวงสาธารณสุขจึงมีมาตรการดูแลผู้พิการที่มารับบริการที่สถาบันสิรินธร และโรงพยาบาล หรือศูนย์รักษาในพื้นที่ โดยจัดทำชุดความรู้เรื่องโควิด-19 ที่ผู้พิการสามารถเข้าถึงได้ เช่น อักษรเบรลล์ และวิดีโอ โดยในช่วงนี้หากไม่จำเป็นต้องมาโรงพยาบาล สามารถเลื่อนนัดได้ทางโทรศัพท์ หากมีความจำเป็นจะเพิ่มมาตรการคัดกรอง แต่หากเป็นผู้ที่ต้องรับการรักษาอย่างต่อเนื่อง ทางโรงพยาบาลจะส่งจัดยาให้ทางไปรษณีย์ นอกจากนี้จะมีอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านลงพื้นที่ไปสำรวจว่า ผู้พิการคนไหนมีสิทธิสวัสดิการ จากนั้นจะส่งข้อมูลให้โรงพยาบาลชุมชนในพื้นที่เข้าไปให้ความช่วยเหลือ เช่น จัดหารถเข็น ขาเทียม ไม้เท้า รวมถึงจัดหาอุปกรณ์ป้องกันเชื้อ เช่น เจล หน้ากาก


          ทั้งนี้ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข เตรียมเสนอคณะรัฐมนตรี อนุมัติเพิ่มเงินช่วยเหลือคนละ 1,000 บาท โดยจ่ายครั้งเดียวผ่านองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น, พักชำระหนี้กองทุนกู้ยืมเงินคนพิการเป็นเวลา 12 เดือน เริ่มเมษายน 2563 ถึง มีนาคม 2564, กู้ยืมเงินเพื่อประกอบอาชีพคนละ 10,000 บาท ผู้พิการสามารถตรวจสอบสิทธิ์ได้ในวันที่ 20 เมษายน ผ่านทางเว็บไซต์ www.dep.go.th


          สำหรับเครื่องมือที่ใช้ดูแลผู้ป่วยวิกฤต ยืนยันว่ามีเพียงพอ โดยพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลมีประมาณ 3,000 เครื่อง และพื้นที่ต่างจังหวัดมีมากกว่า 20,000 เครื่อง จึงขอให้มั่นใจว่าจะไม่ขาดแคลนและจะได้รับการดูแลอย่างทั่วถึง  ขณะนี้มีผู้ป่วยวิกฤตต้องใช้เครื่องช่วยหายใจหรืออยู่ในห้องไอซียูประมาณ 60 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 3.8 ของผู้ป่วยทั้งหมด


          ส่วนการตรวจหาเชื้อผู้ป่วยซ้ำ จะต้องตรวจกี่ครั้งถึงสามารถยืนยันได้ว่า รักษาหายดีแล้ว นพ.ณัฐพงศ์ ระบุว่า ปกติแล้วผู้ป่วยติดเชื้อที่เข้ารับการรักษา เมื่อได้รับยาไป 8 วัน ส่วนใหญ่จะตรวจไม่พบเชื้อแล้ว จึงให้กลับบ้านได้โดยไม่ต้องตรวจซ้ำอีก แต่บางคนยังคงตรวจพบเชื้ออยู่ ซึ่งเป็นข้อมูลส่วนน้อยและเป็นโรคอุบัติใหม่ ทางแพทย์กำลังเก็บข้อมูลอยู่


...
ข่าวทั้งหมด

X