การอุทธรณ์สิทธิขอรับเงินเยียวยา 5 พันบาท หลังจากที่มีผู้ที่ถูกระบบปฏิเสธการจ่ายเงินจำนวนมาก นายประสงค์ พูนธเนศ ปลัดกระทรวงการคลัง ชี้แจงว่า วันจันทร์หน้า (20 เมษายน 2563) กระทรวงจะเริ่มเปิดให้ผู้ถูกตัดสิทธิแจ้งเรื่องขออุทธรณ์ผ่านช่องทาง www.เราไม่ทิ้งกัน.com เพียงทางเดียว โดยจะมีช่องอุทธรณ์สิทธิเพิ่มเข้ามา เพื่อให้ตอบแบบสอบถาม หากตอบได้หรือมีเอกสารยืนยันชัดเจนก็จะอุทธรณ์สิทธิผ่านและได้รับเงิน ในกรณีที่ผู้อุทธรณ์เป็นพ่อค้าแม่ค้าจะมีเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ตรวจสอบว่าร้านค้าได้รับผลกระทบจริงหรือไม่ก่อนจะจ่ายเงิน
ส่วนกรณีที่ถูกปฏิเสธสิทธิ เพราะระบบแจ้งว่าผู้ลงทะเบียนเป็นเกษตรกร ปลัดกระทรวงการคลัง ชี้แจงว่า ระบบคัดกรองจากบัตรประชาชนของผู้ลงทะเบียนเป็นหลัก ซึ่งผู้ลงทะเบียนอาจมีข้อมูลผูกกับงานการเกษตร ที่จะได้รับเยียวยาในส่วนของเกษตรกร แต่ถ้าไม่ใช่ก็จะต้องตรวจสอบต่อ ยืนยันว่าแต่ละคนจะได้รับเงินเยียวยาเพียงช่องทางเดียว
อย่างไรก็ตาม ไม่สามารถแจกเงินให้ทุกครัวเรือน เพราะบางครัวเรือนเป็นนายทุน, ข้าราชการ ซึ่งไม่ใช่ผู้ได้รับผลกระทบ และไม่ถูกต้องตามเจตนารมณ์ที่กฎหมายบัญญัติ
ปลัดกระทรวงการคลัง ชี้แจงว่า ปัจจุบันมีผู้ลงทะเบียนขอรับเงินเยียวยาแล้ว 27 ล้าน 5 แสนคน จากการตรวจสอบไปแล้วบางส่วน มีผลคือ
-ปฏิเสธให้เงินไป 12 ล้านคน
-อยู่ระหว่างขอข้อมูลเพิ่ม 5 ล้าน-6 ล้านคน แต่มีผู้ส่งข้อมูลกลับมาเพียง 1 แสนคน
-จ่ายเงินให้ผู้ที่ผ่านเกณฑ์ไปแล้ว 3 ล้านคน
ส่วนที่เหลืออยู่ระหว่างตรวจสอบคาดว่าจะแล้วเสร็จทั้งหมดวันอาทิตย์นี้
สำหรับเงินกู้ 1 ล้านล้านบาท เบื้องต้นจำแนกไว้ใช้ 3 ส่วน
-ส่วนแรก 5 แสน 5 หมื่นล้านบาท จะนำมาเยียวยาประชาชน ทั้งการจ่ายเงินเยียวยา 5 พันบาท และเงินเยียวยากลุ่มอื่น ๆ
-ส่วนที่สอง 4 แสนล้านบาท ใช้ฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังการระบาดจบลง
-และส่วนที่สาม 4 หมื่น 5 พันล้านบาท ใช้ด้านสาธารณสุข
ด้านนายอนันต์ สุวรรณรัตน์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ปฏิเสธข่าวที่มีการส่งต่อกันว่าให้เกษตรกรลงทะเบียนรับเงิน 1 หมื่น 5 พันบาท ไม่เป็นความจริง โดยมาตรการเยียวยาเกษตรกร 17 ล้านคน ยังอยู่ระหว่างหารือกับกระทรวงการคลัง
...