เรื่องสำคัญที่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) จะพิจารณาในวันนี้มีหลายเรื่อง โดยเฉพาะการเยียวยากลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โรคโควิด-19 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานการประชุมผ่านระบบ Video Conference คาดว่าที่ประชุมจะมีการพิจารณาร่างพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน วงเงินไม่เกิน 1 ล้านล้านบาท เพื่อใช้ในการแก้ปัญหาผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโคโรนา (โควิด-19) ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา จะส่งเรื่องกลับมายังที่ประชุม ครม. ให้มีมติรับทราบหลังจากได้เห็นชอบในหลักการไปแล้ว
ด้านกระทรวงการคลังเตรียมเสนอหลักการจ่ายเงินเยียวยาช่วยเหลือเกษตรกร เยียวยาภัยแล้งและวิกฤตโรคโควิด-19 จำนวน 15,000 บาท ต่อครัวเรือน จำนวน 9 ล้านครัวเรือน แต่จ่ายครั้งเดียว นอกจากนี้จะมีการพิจารณาถึงการจ่ายเงินชดเชยกรณีปิดกิจการชั่วคราวให้กับลูกจ้างผู้ประกันตน มาตรา 33 ในกลุ่มโรงแรม ท่องเที่ยว และบริการ ซึ่งมีแนวโน้มที่จะผ่านการเห็นชอบ อนุมัติเงินชดเชยให้รายละ 9,300 บาท หลังสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว (แอตต้า) ออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลพิจารณา ให้ลูกจ้างในธุรกิจท่องเที่ยว 11 สาขาอาชีพ ได้รับเงินชดเชยการว่างงาน จากกองทุนประกันสังคม ตามเกณฑ์ที่รัฐบาลกำหนด 62% ของค่าจ้างรายวัน อันเนื่องมาจากเหตุสุดวิสัย เนื่องจากเจ้าของธุรกิจจำเป็นต้องหยุดกิจการชั่วคราว เพราะการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ขณะที่ 2 ใน 13 สาขาอาชีพ ได้แก่ มัคคุเทศก์ อยู่ในเกณฑ์ได้รับเงินเยียวยา 5,000 บาท เป็นเวลา 6 เดือน
นอกจากนั้น ที่ประชุมจะมีการหารือถึงมาตรการช่วยเหลือเยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เพิ่มเติม และรับทราบ รายงานการแก้ไขปัญหาสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ของกระทรวงต่างๆ เช่น กระทรวงกลาโหม เสนอขอสิทธิพิเศษลดหย่อนค่ากระแสไฟฟ้าให้แก่ทหารผ่านศึก กระทรวงมหาดไทย เสนอร่างประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี และ กระทรวงมหาดไทย เรื่อง กำหนดจำนวนคนต่างด้าวซึ่งจะมีถิ่นที่อยู่ในราชอาณาจักร กระทรวงการคลัง เสนอร่างพระราชกฤษฎีกา ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล ให้แก่บริษัท หรือ ห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลต่างประเทศ สำหรับดอกเบี้ยพันธบัตรธนาคารแห่งประเทศไทย และ ดอกเบี้ยพันธบัตรกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ร่างพระราชกฤษฎีกา ว่าด้วยมาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมบรรจุภัณฑ์พลาสติกที่ย่อยสลายได้เองทางชีวภาพ
นอกจากนี้ คาดว่า ที่ประชุมครม.มีมติเพิ่มงบประมาณวันดื่มนมโรงเรียนชนิดUHT เป็นวันเสาร์-อาทิตย์ด้วย จากเดิม 260 วัน เป็น 365 วัน และยังช่วยเหลือเงินกู้ปลอดดอกเบี้ยจากกองทุนสงเคราะห์เกษตรกรเพื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนสำหรับสหกรณ์และผู้ประกอบการที่ต้องรับน้ำนมดิบในการช่วยเหลือเกษตรกรที่ผลิตไว้และแปรรูปเป็นนม UHT เนื่องจาก กระทรวงศึกษาธิการได้มีการเลื่อนการเปิดภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2563 จากวันที่ 18 พ.ค. 2563 เป็นวันที่ 1 ก.ค.2563 ทำให้ต้องมีการทบทวนประกาศคณะกรรมการอาหารนมเพื่อเด็กและเยาวชนเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์