ศ.นพ.นิธิ มหานนท์ แนะนำวีธีรับมือกับโควิด-19 หลังตัวเลขผู้ป่วยลดลง

13 เมษายน 2563, 10:55น.


           กรณีมีหลายคนตื่นเต้นที่ตัวเลขคนไข้ใหม่ของไทยในแต่ละวันยอดดูดีขึ้นเรื่อยๆ  ศาสตราจารย์ นายแพทย์นิธิ มหานนท์ เลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เปิดเผย เกี่ยวกับเรื่องโควิด-19 โดยชี้แจงรายละเอียดว่า



1.จะต้องทำอย่างไรหลังเลิกมาตรการต่างๆที่มีอยู่ในขณะนี้



-ถ้าเปิดบ้านเปิดเมืองเป็นปกติ จะมีคลื่นลูกที่สองของการระบาดตามมาอย่างแน่นอน จะคลื่นใหญ่หรือเล็กแล้วแต่พฤติกรรมของคนในสังคม และการเฝ้าระวังโรคกับการติดตามโรค (ถ้ารัฐคิดได้จะต้องค่อยๆเปิด เลือกเปิด)



2.เมื่อไหร่จะเรียกว่าการระบาดจบสิ้น ต้องรอให้เคสผู้ป่วยใหม่เหลือกี่รายไปกี่วัน



-อันนี้ตอบยาก เพราะคำจำกัดความจะต่างกันในแต่ละมุมมอง ธรรมชาติของโรคติดเชื้อโรคระบาดก็ยังคงต้องระบาดต่อไป เหมือนวัณโรค เหมือนอหิวาต์ เหมือนไข้หวัดใหญ่ เหมือนไข้เลือดออก และมาลาเรีย จึงอยากจะให้ปรับเป็นว่าเมื่อไหร่เราจะควบคุมมันได้ดีกว่า ขณะนี้ จีนที่ว่าคุมได้ ยังมีเคสใหม่วันละ 30-40ราย เกาหลีคุมได้ก็วันละเกือบร้อยราย ญี่ปุ่น สิงคโปร์ที่ว่าคุมได้ ก็ดูเหมือนกำลังเกิด คลื่นลูกที่สอง แต่ที่สำคัญคืออัตราการตายของเขายังต่ำเหมือนเดิม ที่สำคัญจบที่ตัวเลขเท่าไหร่ไม่สำคัญ สำคัญที่การเตรียมพร้อม



3. ถ้าเปิดเมืองเปิดร้านต่างๆแล้วจะเป็นอย่างไร



-เริ่มที่ตัวเราก่อน ทุกคนควรเคร่งครัดในเรื่องการรักษาความสะอาด รักษาระยะห่าง หลีกเลี่ยงที่มั่วสุมที่ๆมีคนหนาแน่น อากาศไม่ถ่ายเท ทำให้ที่อยู่ที่ทำงานมีอากาศถ่ายเทสะดวก และปฏิบัติตัวเหมือนยังมีโรคระบาดอยู่ รักษาสุขลักษณะที่ดีไว้ทำให้เป็นนิสัยหรือเป็นกิจวัตรปกติแบบใหม่เท่าที่ทำได้  ถ้าสะอาดโอกาสโรคกลับมายาก



-ต้องจัดให้มีการตรวจหาเชื้อและภูมิคุ้มกันให้ได้มากและกระจายทั่วประเทศ



-ทำให้การเฝ้าระวังและการติดตามเคสที่จะเกิดใหม่ให้เข้มแข็งด้วย



- การเพิ่มจำนวนและระบบติดตาม อสม.(อาสาสมัครสาธารณสุข)



- การใช้เทคโนโลยีในการเฝ้าระวังและติดตาม



- การใช้ AIในการทำนายการเกิดระบาดในชุมชน เราทำเองออกแบบเองได้ทุกเรื่องในประเทศ



-รัฐต้องรวมนักวิจัยและแพทย์ทั้งประเทศมาช่วยกันวางแผนและศึกษาด้วยกันโดยจัดให้เกิด แพลตฟอร์มร่วมกันแบบออนไลน์ในกันแชร์ข้อมูลต่างๆและความเห็นทุกๆคนทุกๆฝ่ายในประเทศให้ได้ ต้องไม่ปล่อยให้ต่างคนต่างทำแบบที่ผ่านๆมา



-ปรับเปลี่ยนวิธีการ training และฝึกอบรมบุคลากรทางการแพทย์โดยเลิกตามอย่างประเทศสหรัฐฯที่มีผู้เชี่ยวชาญระดับลึกมากมายเกินพอ เพิ่มการอบรมให้มีความรู้กว้าง พร้อมรับเหตุการณ์แบบนี้ที่จะมีซ้ำแล้วซ้ำอีกในอนาคต ต้องสร้างความพอเพียงความมั่นคงทางการแพทย์ ให้ได้โดยไว



-ปรับกรอบความคิดและวิธีปฏิบัติ ถือโอกาส reset ประเทศไทยให้เป็นเศรษฐกิจพอเพียง ไม่งั้นรอดจากโรค แต่เศรษฐกิจไม่รอด





 



 

ข่าวทั้งหมด

X