ก.แรงงาน เสนอ ครม.15เม.ย.เร่งเยียวยาแรงงานระบบประกันสังคม
ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวถึง ความคืบหน้าการจ่ายเงินเยียวยา ผู้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) วันที่ 15 เม.ย. กระทรวงแรงงาน จะนำเสนอแผนการจ่ายเงินเยียวยาให้กับแรงงาน มาตรา 33 (แรงงานที่มีนายจ้าง) ให้ได้รับเงินเยียวยาอย่างเร็วไม่เกินวันที่ 17 เม.ย.หรืออย่างช้าไม่เกิน 20 เม.ย.
ส่วนแรงงานรับจ้างที่ภาครัฐไม่มีคำสั่งปิดสถานประกอบการ แต่ได้รับผลกระทบประมาณ 800,000 คน จะต้องนำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาว่าแรงงานจำนวน 800,000 คน จะเข้าข่ายการได้รับเงินเยียวยาเหตุสุดวิสัยเพิ่มเติมหรือไม่
สถานทูตไทย นำอาหาร-ของ ช่วยแรงงาน–นักศึกษาในมาเลย์
การช่วยเหลือแรงงานไทยในมาเลเซีย นายณรงค์ ศศิธร เอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงกัวลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย เปิดเผยว่า ตามที่มีรายงานข่าวว่าแรงงานไทยร้านต้มยำกุ้งในประเทศมาเลเซีย จำนวน 20 คน ประสบความยากลำบาก เนื่องจากร้านถูกปิด และยังไม่สามารถออกนอกที่พักได้ เพราะทางการมาเลเซียใช้มาตรการปิดประเทศ ส่งผลกระทบต่อชุมชนไทยที่มี 2 กลุ่มหลัก คือ กลุ่มนักศึกษาและกลุ่มแรงงาน ทางการรัฐยะโฮร์บาห์รู ตระเวนแจกอาหาร 3 วันต่อครั้ง จึงร้องขอให้ช่วยเดินทางกลับบ้าน สถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงกัวลัมเปอร์ ประสานงานการให้ความช่วยเหลือคนไทยกลุ่มนี้แล้ว สถานเอกอัครราชทูตไทยฯ ได้จัดทำตารางวันและเวลาที่อาสาสมัครในรัฐต่างๆ ออกไปแจกอาหารและหน้ากากอนามัย ขอให้คนไทยติดต่อนัดหมายตามจุดนัดรับของที่แน่นอน
สำหรับกลุ่มแรงงานไทย มีทั้งผู้ที่มีใบอนุญาตทำงาน และผู้ที่ไม่มีใบอนุญาตทำงาน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นแรงงานร้านอาหารไทย (ร้านต้มยำ) และแรงงานที่อยู่ในสถานบริการ เช่น ร้านนวด สถานบันเทิง รวมถึงแรงงานประมง ให้ความช่วยเหลือแรงงานกลุ่มนี้ 4 ช่องทาง ได้แก่
1.สถานเอกอัครราชทูตไทยฯ ส่งสิ่งของที่จำเป็นไปให้อาสาสมัครคนไทยช่วยกระจาย รวมทั้งโอนเงินให้อาสาสมัครคนไทย เพื่อใช้ซื้ออาหารสำหรับการแจกจ่าย
2.ทีมประเทศไทยนำสิ่งของความช่วยเหลือและถุงยังชีพไปแจกจ่ายชุมชนแรงงาน และร้านต้มยำต่างๆ ในรัศมีไม่เกิน 2 ชั่วโมง จากกรุงกัวลาลัมเปอร์โดยรถยนต์
3.การจัดส่งสิ่งของความช่วยเหลือทางไปรษณีย์
4.การช่วยเหลือผ่านเครือข่ายภาคประชาชนของมาเลเซีย
นายณรงค์ กล่าวว่า สำหรับประเด็นที่แรงงานไทยส่วนใหญ่กังวล คือการพำนักในมาเลเซียเกิน 30 วัน เนื่องจากแรงงานไทยกลุ่มที่ไม่มีใบอนุญาตทำงานนี้ ต้องเดินทางเข้า-ออกมาเลเซียทุก 30 วัน เพื่อเข้ามาทำงานในมาเลเซีย สถานเอกอัครราชทูตไทยฯได้หารือกับสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองมาเลเซีย อย่างใกล้ชิด และได้รับคำยืนยันว่าผู้ที่อยู่เกิน 30 วัน ถ้าเดินทางออกจากมาเลเซีย ก่อนที่มาตรการคุมเข้มสถานการณ์โควิด-19 จะสิ้นสุด ก็สามารถเดินทางออกไปได้โดยไม่เสียค่าปรับ แต่หากยังอยู่ในมาเลเซียเกินกำหนดหลังจากที่มาตรการดังกล่าวสิ้นสุดไปแล้ว จะต้องไปรายงานตัวกับสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองมาเลเซีย เพื่อเสียค่าปรับ และอาจถูกขึ้นบัญชีดำ อย่างไรก็ตาม สถานเอกอัครราชทูตไทยฯได้มีหนังสือถึงกระทรวงการต่างประเทศมาเลเซียเพื่อขอผ่อนผันสำหรับแรงงานไทย และยังรอผลการพิจารณา
ส่วนกลุ่มนักศึกษาไทยตอนนี้มีเหลือในมาเลเซียประมาณ 250 คน โดยกระทรวงการอุดมศึกษามาเลเซียได้ประกาศมาตรการเพิ่มเติมว่าห้ามนักศึกษาต่างชาติที่พักในหอพักของมหาวิทยาลัยในมาเลเซีย เดินทางกลับประเทศ นักศึกษาจึงเป็นคนไทยกลุ่มแรกที่สถานเอกอัครราชทูตไทยฯ ให้ความช่วยเหลือ โดยส่วนใหญ่พักในหอพักของมหาวิทยาลัย ซึ่งมหาวิทยาลัยยังให้การดูแล โดยจัดเตรียมอาหารให้มื้อกลางวันและมื้อเย็น ทั้งนี้ สถานเอกอัครราชทูตไทยฯ ได้จัดส่งหน้ากากอนามัย ข้าวสาร อาหารแห้ง และยาลดไข้ ไปให้นักศึกษาไทยกลุ่มนี้ทางรถยนต์ กรณีนักศึกษาไทยที่อยู่ในรัฐห่างไกล สถานเอกอัครราชทูตไทยฯ ใช้วิธีส่งสิ่งของทางไปรษณีย์ นอกจากนี้ สถานเอกอัครราชทูตไทยฯได้ติดตามสอบถามความเป็นอยู่ ของนักศึกษาไทยเป็นระยะผ่านเครือข่ายสมาคมนักศึกษาไทยในมาเลเซียเพื่อให้ความช่วยเหลืออย่างต่อเนื่อง
คลัง คัดกรองล็อตแรก ส่งเงินเยียวยา 5,000 บาท
ความคืบหน้ามาตรการเยียวยา 5,000 บาท นายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า หลังจากการตรวจสอบและคัดกรองตามหลักเกณฑ์แล้วพบว่าในรอบที่ 1 ได้มีการตรวจสอบคัดกรองไปแล้ว 7.99 ล้านราย จากจำนวนนี้สามารถแบ่งเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่
-กลุ่มผ่านเกณฑ์ 1.68 ล้านราย ซึ่งในกลุ่มนี้ได้ทยอยส่ง SMS แจ้งผลการพิจารณาและโอนเงินเข้าบัญชีหรือพร้อมเพย์ที่ได้ลงทะเบียนไว้แล้วในช่วงวันที่ 8-10 เมษายน 2563
-กลุ่มที่ต้องขอข้อมูลเพิ่มเติม 1.53ล้านราย โดยการกรอกแบบสอบถามออนไลน์ที่www.เราไม่ทิ้งกัน.com (หัวข้อขอข้อมูลเพิ่มเติม) ขอความกรุณาให้ดำเนินการภายใน 10 วัน นับจากวันที่ได้รับ SMS แจ้งเพื่อการประมวลผลที่รวดเร็วซึ่งได้เริ่มทยอยส่ง SMS แจ้งผลการพิจารณาแล้วตั้งแต่วันที่ 11 เม.ย. 2563 และจะทยอยแจ้งไปจนถึงวันที่ 13 เม.ย. 2563 โดยพบว่า ขณะนี้ได้มีผู้เข้าให้ข้อมูลเพิ่มเติมเรียบร้อยแล้วจำนวนหลายแสนราย
-กลุ่มไม่ผ่านเกณฑ์ 4.78 ล้านราย จะทยอยได้รับ SMS แจ้งผลการพิจารณาในช่วงวันที่ 12-14 เม.ย. 2563 ส่วนใหญ่ไม่ผ่านเกณฑ์เนื่องจากได้รับการดูแลผลกระทบจากโควิด-19 โดยรัฐบาล ผ่านช่องทางอื่น เช่น ข้าราชการ ผู้รับบำนาญ ผู้ได้รับสิทธิ์ประกันสังคม เกษตรกร เป็นต้น หรือกลุ่มที่ไม่ผ่านหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ เช่น นักเรียน นักศึกษา ซึ่งยังคงมิได้ประกอบอาชีพเป็นหลัก และส่วนหนึ่งได้รับการดูแลผ่านช่องทางกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา หรือกลุ่มที่ยังสามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ เช่น ผู้ค้าขายออนไลน์
ส่วนกระแสในสื่อสังคมออนไลน์ถึงการไม่ผ่านเกณฑ์ เนื่องจาก สาเหตุต่างๆ โดยเฉพาะในประเด็นเกษตรกร กระทรวงการคลัง ชี้แจงว่า เกษตรกรจะมีการขึ้นทะเบียนผู้ประกอบอาชีพเกษตรกรรมทุกปีกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยการขึ้นทะเบียนจะเป็นรายครอบครัว โดยให้หัวหน้าครอบครัวเป็นคนมาขึ้นทะเบียนและในการกรอกรายละเอียดสมาชิกในครอบครัวจะให้ระบุด้วยว่ามีสมาชิกในครอบครัวกี่คนเป็นใครบ้างและสมาชิกในครอบครัวที่ช่วยทำเกษตรกรรมมีกี่คนคือใครบ้างที่ผ่านมารัฐบาลใช้ฐานข้อมูลเกษตรกรชุดเดียวกันนี้ในการให้ความช่วยเหลือเกษตรกรไม่ว่าจะเป็นค่าเพาะปลูกค่าเก็บเกี่ยวค่าปัจจัยการผลิตเป็นต้น ดังนั้น ในการคัดกรองของมาตรการเยียวยา 5,000 บาท กำหนดหลักเกณฑ์ให้ครอบครัวที่ขึ้นทะเบียนผู้ประกอบอาชีพเกษตรกรรมและสมาชิกในครอบครัวที่ช่วยทำเกษตรกรรมถือว่าเป็นกลุ่มเกษตรกรไม่ผ่านเกณฑ์และจะมีการดูแลโดยมาตรการเยียวยากลุ่มเกษตรกรโดยเฉพาะที่จะออกมาเร็วๆนี้
กลุ่มโอเปกพลัส ตกลงลดกำลังการผลิต พยุงให้ราคาทรงตัว
ธนาคารโกลด์แมน ซาคส์ ของสหรัฐฯและธนาคารยูบีเอสของสวิตเซอร์แลนด์ เปิดเผยว่า กลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน(โอเปก)และรัสเซีย ซึ่งเรียกรวมๆว่ากลุ่มโอเปกพลัส ตกลงลดกำลังการผลิต 9.7 ล้านบาร์เรลต่อวันระหว่างเดือนพฤษภาคมถึงเดือนมิถุนายน เพื่อช่วยทำให้ราคาน้ำมันทรงตัว พร้อมทั้งบรรลุข้อตกลงกับประเทศที่ผลิตน้ำมันอื่นๆรวมถึงสหรัฐฯ เพื่อลดปริมาณน้ำมันดิบในตลาดโลกร้อยละ 20 การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลให้ราคาน้ำมันร่วงลงต่อเนื่อง เป็นผลจากความต้องการใช้น้ำมันที่ลดลงมาก โดยเฉพาะมาตรการปิดเมืองและการรณรงค์ให้ประชาชนกว่า 3,000 ล้านคนกักกันตนเองในบ้านของหลายประเทศทั่วโลกเพื่อสกัดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลให้ความต้องการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงลดลง คาดว่า ความต้องการใช้น้ำมันลด 30 ล้านบาร์เรลต่อวัน ส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบร่วงลงอย่างหนัก
ด้านประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ของสหรัฐฯ ทวีตข้อความขอบคุณประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูตินของรัสเซียและกษัตริย์ซัลมานแห่งซาอุดีอาระเบียที่สามารถบรรลุข้อตกลงเรื่องนี้
ประธานาธิบดีทรัมป์ ระบุว่า จะยังไม่เปิดเศรษฐกิจของประเทศ จนกว่าจะแน่ใจว่า ประชาชนในประเทศมีสุขภาพที่ดีแล้ว หลังจากที่รัฐบาลได้ดำเนินมาตรการต่างๆ เพื่อรับมือกับการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ผู้นำสหรัฐฯ วางแผนที่จะประกาศจัดตั้งคณะกรรมการเปิดประเทศ (Opening our Country Council) ในวันอังคาร ซึ่งจะประกอบด้วยผู้นำธุรกิจ, แพทย์ และผู้ว่าการรัฐ ซึ่งจะช่วยในการตัดสินใจว่าสหรัฐฯจะเปิดเศรษฐกิจอย่างไร
ด้านกระทรวงสาธารณสุขและบริการมนุษย์ของสหรัฐฯ คาดการณ์ว่า หากสหรัฐฯ ยกเลิกคำสั่งให้ประชาชนอยู่บ้าน ยกเลิกคำสั่งปิดโรงเรียน และมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม หลังจากที่ดำเนินมาตรการดังกล่าวมาเพียง 30 วัน ก็อาจจะทำให้ยอดติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ในสหรัฐฯพุ่งขึ้นอีกในช่วงฤดูร้อน คือ ระหว่าง มิ.ย.-ส.ค.
CR:Facebook สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ มาเลเซีย