ความเคลื่อนไหวเมืองไทยวันนี้ 07.30น.วันศุกร์ที่ 10 เมษายน 2563
15 จังหวัด ประกาศล็อคดาวน์ สกัดโควิด-19
สถานการณ์แพร่ระบาดเชื้อโควิด-19 ในประเทศไทยส่งผลกระทบไปทั้งประเทศ ส่งผลให้ผู้ว่าราชการจังหวัดต้องยกระดับความเข้มงวดในการคัดกรองผู้ที่จะเดินทางเข้าพื้นที่หรือผ่านพื้นที่ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ล่าสุดมี 14จังหวัดที่ผู้ว่าฯ ประกาศล็อคดาวน์ห้ามคนเข้าออก เว้นแต่เพื่อประโยชน์ในการรักษาพยาบาล การขนส่งสินค้าจำเป็น สินค้าอุปโภคบริโภค ฯลฯ หรือได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อเป็นกรณีไป และผู้ที่ได้รับยกเว้นจะต้องปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคตามที่ทางราชการกำหนด โดยมีรายละเอียด ดังนี้ จ.เชียงราย ระหว่าง 9-30 เมษายน
จ.ตาก ระหว่าง 2-16 เมษายน
จ.น่าน ระหว่าง 5-30 เมษายน
จ.แพร่ ระหว่าง 10-17 เมษายน
จ.ตราด 4 เมษายน 2563 เป็นต้นไป
จ.บึงกาฬ ระหว่าง 7-30 เมษายน
จ.ภูเก็ต ระหว่าง 30 มีนาคม-30 เมษายน
สงขลา ระหว่าง 6-30 เมษายน
สตูล ระหว่าง 3-30 เมษายน
จ.ปัตตานี ระหว่าง 28 มีนาคม
จ.ยะลา ตั้งแต่ 29 มีนาคมเป็นต้นไป
จ.นราธิวาส ตั้งแต่ 29 มีนาคมเป็นต้นไป
เมืองพัทยา จ.ชลบุรี ตั้งแต่ 9 เมษายน เป็นต้นไป (อย่างน้อย 21 วัน)
จ.ระนอง ตั้งแต่ 8 เมษายน เป็นต้นไป
และล่าสุดจ.นครพนมเป็นจังหวัดที่ 15 ที่ประกาศห้ามเข้าออกพื้นที่เริ่ม 13 เมษายนจนกว่าสถานการณ์จะดีขึ้น
พังงาต้านไม่อยู่ เด็ก 8ขวบติดเชื้อ
จ.พังงาพบผู้ป่วยโควิด-19 รายแรก เป็นเด็กชายอายุ 8 ขวบ ใน ต.เกาะยาวใหญ่ อ.เกาะยาว มีอาการไข้หวัดเล็กน้อยเมื่ออาทิตย์ที่ผ่านมา จากการตรวจสอบประวัติพบว่า เด็กชายคนดังกล่าวสัมผัสกับผู้ป่วยยืนยันของจ.กระบี่ ซึ่งเดินทางไปมาระหว่างกระบี่และเกาะยาว ประกอบกับเพิ่งกลับมาจากเกาะพีพีกับพ่อแม่ที่ทำงานอยู่บนเกาะปลายเดือนมีนาคม
หลังจากนั้นได้ส่งตัวผู้สัมผัสใกล้ชิดกับเด็ก รวม 9 คน เฝ้าระวังดูอาการที่โรงพยาบาล และมีผู้เข้าข่ายสอบสวนโรคอีก 68 คน ให้กักตัว 14 วัน นอกจากนี้ ผู้ว่าฯประกาศปิดเข้าออกเกาะยาวทั้งอำเภอ และปิดต.เกาะยาวใหญ่ทั้งตำบล ห้ามเข้าออก ปิดร้านค้า ร้านอาหาร ร้านสะดวกซื้อ ตั้งแต่เวลา 20.00-05.00 น. พร้อมบังคับมาตรการทางกฎหมายอย่างเข้มงวด
ภูเก็ตติดเชื้ออีก21 คนพบติดเชื้อจากคน ในบ้าน
สำหรับสถานการณ์ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในหลายจังหวัดยังคงพบผู้ติดเชื้อต่อเนื่อง ขณะที่ผู้ว่าราชการจังหวัดยกระดับมาตรการป้องกันสกัดการแพร่ระบาดอย่างเข้มข้นเช่นกัน อย่างที่จ.ภูเก็ต นายภัคพงศ์ ทวิพัฒน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต เผยว่า สำหรับผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 พบเพิ่มอีก 21 คน เป็นกลุ่มที่พบจากการตรวจหาเชื้อเชิงรุก ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขดำเนินการเพิ่มเป็นพิเศษในจ.ภูเก็ต เพื่อค้นหาผู้ป่วยกลุ่มผู้ที่มีอาชีพเสี่ยงสูง อยู่ในพื้นที่ที่เสี่ยงสูง และผู้สัมผัสของผู้ป่วยยืนยัน จากข้อมูลนี้แสดงว่าเชื้อโควิด-19 สามารถติดต่อจากคนไปสู่คนได้ง่าย โดยเฉพาะผู้อาศัยอยู่ที่เดียวกัน ทำงานใกล้ชิดกัน จึงอยากเน้นเรื่องมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม แม้ไม่ป่วยก็ต้องแยกตัวจากบุคคลอื่นหมั่นล้างมือ ใส่หน้ากาก ทั้งนี้ ในจ.ภูเก็ตพบผู้ป่วยส่วนใหญ่ติดเชื้อจากคนในครอบครัวนำเชื้อโรคจากภายนอกเข้าบ้านตัวเอง โดยคนที่ได้รับเชื้อก็ไม่ทราบ
ตรังยกระดับล็อคดาวน์ถึง 30 เม.ย.
เช่นเดียวกับ จ.ตรัง คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดตรังมีมติยกระดับป้องกันพื้นที่ โดยจังหวัดเตรียมออกคำสั่งยกระดับคุมพื้นที่ปิดเมืองระหว่างวันที่ 10 - 30 เมษายน ปิดห้างสรรพสินค้า ยกเว้นแผนกอาหาร ยา โรงแรม หวังสกัดคนนอกนำเชื้อเข้าพื้นที่ เนื่องจากผู้ป่วยติดเชื้อ 7 คนของตรัง เป็นคนนอกนำเข้าพื้นที่ 5 คน ติดกันเอง 2 คน โดยคนตรังเข้าพื้นที่ได้แต่ต้องแยกกักกันตัวเอง 14 วัน ในสถานที่กลาง ที่แต่ละอำเภอจัดให้ หรืออาจกักที่บ้าน แต่จะต้องดูที่ประวัติการเดินทางเป็นสำคัญ ส่วนคนที่เข้ามาปฏิบัติงานในพื้นที่หากเข้ามาแล้วห้ามออกจนกว่าจะสิ้นสุดสถานการณ์ฉุกเฉิน
ด้านนักท่องเที่ยวต่างชาติหากเข้ามากักกันตัวต้องเสียค่าใช้จ่ายเองทั้งหมด จังหวัดไม่ออกให้ เนื่องจากขณะนี้สถานการณ์จังหวัดตรังเริ่มมีความเสี่ยงมากยิ่งขึ้น เพราะคนลื่นไหลจากต่างจังหวัดเข้ามาต่อเนื่อง โดยตรังยกให้จังหวัดสตูลเป็นพื้นที่เสี่ยงล่าสุด หลังมีผู้ติดเชื้อพุ่ง พร้อมเลือกมหาวิทยาลัยราชมงคลศรีวิชัยตรังเป็นโรงพยาบาลสนาม
ตรังพบผู้ติดเชื้อสะสม 7 คน รักษาหายกลับบ้านแล้ว 5 คน รักษาตัวอยู่โรงพยาบาล 2 คนเป็นภรรยาและสามีที่เป็นชาวต่างชาติ ผู้ป่วยเข้าเกณฑ์สอบสวนโรค 185 คน ไม่พบเชื้อ 166 คน รอผลการตรวจ 12 คน
นายกฯย้ำสร้างความเข้าใจประชาชน
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม เป็นประธานประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด - 19) หรือศบค. ผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอร์เรนซ์ ร่วมกับรองนายกฯและรัฐมนตรีกระทรวงหลักที่เกี่ยวข้อง
หลังประชุม นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ (ศบค.) แถลงผลประชุม ศบค.ว่า ในการประชุมศูนย์ ศบค.นายกรัฐมนตรีได้ขอบคุณทุกภาคส่วน หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และเจ้าหน้าที่ทุกคน ที่ทุ่มเทเสียสละ อดทนเพื่อการทำงานสำคัญครั้งนี้ พร้อมระบุว่า เข้าใจดีถึงการทำงานเพื่อประชาชนส่วนใหญ่ย่อมยากลำบากและมีอุปสรรค อาจมีทั้งผู้ที่เจตนาบริสุทธ์ ทั้งดีและไม่ดี จึงขอให้ทุกคนอดทน สร้างความเข้าใจชี้แจงประชาชนอย่างต่อเนื่อง ก่อนมีมาตรการใดๆ ออกมา พร้อมย้ำให้หัวหน้าฝ่ายปฎิบัติการแต่ละด้านประสานงานกันใกล้ชิด ให้รัฐมนตรีทุกกระทรวงนำโยบายไปปฎิบัติ
ด้านการแพทย์ นายกฯสั่งให้ กระทรวงสาธารณสุข หรือ สธ.พิจารณาดูมาตรการการดูแล ติดตามเพื่อตรวจสอบ รวมทั้งสาเหตุที่ติดเชื้อ ตามที่ปลัดกระทรวงสาธารณสุขรายงานสถานการณ์แพร่ระบาด และจำนวนผู้ติดเชื้อทั้งใน และ ส่วนการเสียชีวิต ประเทศไทยมีอัตราเสียชีวิตร้อยละ 1.26 อิตาลี ร้อยละ12.63 อังกฤษ ร้อยละ11.03
คนกลับจากต่างประเทศ ต้องเข้าระบบกักตัว
สำหรับการดำเนินการคัดกรองและระบบกักตัวเฝ้าระวัง 14 วันนั้น นพ.ทวีศิลป์เผยว่า นายกฯสั่งการให้ทุกหน่วยงานบูรณาการให้ดี ไม่ให้มีปัญหา โดยเฉพาะคนที่เดินทางมาจากประเทศเสี่ยง ให้ทยอยเดินทางกลับเพื่อรัฐบาลจะได้จัดระบบที่เหมาะสมรองรับ โดยพิจารณาระบบ State Quarantine สำหรับผู้เดินทางมาทางอากาศ และดำเนินการ Local Quarantine ให้กลุ่มคนที่เดินทางผ่านด่านชายแดนทางบก อย่างไรก็ตาม นายกฯให้พิจารณาแบ่งการเดินทางเข้าประเทศเป็น 2 ประเภทคือ คนไทยที่จะเดินทางจากต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศเสี่ยง และชาวต่างชาติที่เดินทางเข้าประเทศไทย ซึ่งทั้ง 2 กลุ่มต้องผ่านกระบวนการ State Quarantine ที่เหมาะสม ขณะเดียวกัน ได้ย้ำให้ดูแลคนไทยที่พักอาศัยในต่างประเทศแม้ไม่ประสงค์จะกลับประเทศก็ตาม
กระทรวงการต่างประเทศรายงานที่ประชุมว่า มีคนไทยรอกลับเข้าประเทศทางเครื่องบิน 5,453 คน รวมทั้งบริเวณด่านมาเลเซียอีกประมาณหมื่นคน โดยมีคนไทยลงทะเบียนรวม 14,664 คน และเข้ามาแล้ว 12,771 คน โดยจะทยอยเดินทางมาจนถึงวันที่ 18 เมษายน
สิ่งที่นายกฯถามถึงคือก่อนเข้ามาต้องทำอย่างไร เข้ามาแล้วต้องทำอย่างไร ซึ่งที่ประชุมหารือว่าเตรียมการรองรับการกักตัวนั้น รองรับได้ประมาณ 200 คนต่อวัน ถ้าจะกลับเข้าประเทศเรายินดีต้อนรับทุกคน แต่ถ้าเห็นคิวยาว ผู้ที่ไม่เดือดร้อนสามารถขออยู่ที่ประเทศดังกล่าวไปก่อนได้ แต่สำหรับคนที่เดือดร้อน รัฐกำลังพิจารณางบประมาณให้เหมือนเงิน 5,000 บาท ที่รัฐแจกให้ผู้ได้รับผลกระทบในประเทศไทย ขณะนี้ตัวเลขยังไม่นิ่ง อยู่ระหว่างการพิจารณา
ด้านการเตรียมความพร้อมของพื้นที่รองรับ State Quarantine นั้น โฆษก ศบค.เผยว่า กระทรวงกลาโหมรายงานว่า มีทั้งหมด 2,037 ห้อง หากต้องพักคนละ 1 ห้อง อาจไม่พอ ต้องหาเพิ่มเติมอีก 1,500 ห้อง ส่วนกระทรวงมหาดไทย 460 แห่ง พักได้ 13,000 คน โดยจะเป็น Local Quarantine ซึ่งอยู่ตามจังหวัดต่างๆ ส่วนโรงพยาบาลสนามนั้น นายกฯให้ความสนใจ และมีการรายงานว่า ขณะนี้มี 98 แห่งในกรุงเทพฯและปริมณฑล แต่ยังขาดไอซียู ต้องเพิ่มอีกอย่างน้อย 80 เตียง เพื่อรองรับกรณีร้ายแรงที่สุด ส่วนยาฟาวิพิราเวียร์ ขณะนี้สั่งซื้อยาและเข้ามาแล้ว 187,000 เม็ด ใช้ไปแล้วกว่า 47,000 เม็ด เหลือประมาณ 140,000 เม็ด สำหรับเรื่องหน้ากาก N95 นั้น วันนี้จะได้เพิ่มเข้ามาอีกประมาณ 200,000 ชิ้น นอกจากนี้ ยังมีงานวิจัยวิธีการทำความสะอาดหน้ากาก N95 ด้วยวิธีอบความร้อนเพื่อใช้ซ้ำได้ถึง 4 ครั้ง ช่วยประหยัดงบประมาณได้มาก
สถานการณ์ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 สถานการณ์ในประเทศไทยพบผู้ป่วยเสียชีวิตเพิ่ม 2 ราย รวมยอดเสียชีวิตสะสม 32 ราย สำหรับยอดผู้ป่วยที่รักษาหายสะสมที่ 940 คน อยู่ในการรักษาที่โรงพยาบาล (รพ.) 1,451 คน และพบผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อไวรัสโควิด-19 เพิ่มใหม่ 54 คน ใน 67 จังหวัด นับเป็นรายที่ 2,370 – 2,423 กระจายอยู่ในกรุงเทพมหานคร (กทม.) และ จ.นนทบุรี 1,271 คน ภาคกลาง 339 คน ภาคเหนือ 90 คน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 102 คน ภาคใต้ 446 คนโดยผู้ป่วยอายุน้อยสุด 1 เดือน อายุมากสุด 86 ปี ผู้ป่วยเฉลี่ยคืออายุ 39 ปี พบผู้ป่วยมากในอายุ 20-29ปี
สำหรับประวัติการรักษาผู้เสียชีวิตทั้ง 2 รายล่าสุดนั้น เป็นชาวฝรั่งเศส อายุ 74 ปี ไม่มีโรคประจำตัว และชายชาวไทย อายุ 82 ปี
กทม.ห้ามขายเหล้า10-20 เม.ย.
พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวถึงประกาศห้ามจำหน่ายสุราทุกประเภท ตั้งแต่วันที่ 10 - 20 เม.ย. 2563 เพื่อลดการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 จำกัดการรวมคนหรือการชุมนุมของประชาชนในสถานที่ต่างๆ เพื่อไม่ให้การแพร่ระบาดขยายไปในวงกว้าง และลดโอกาสเสี่ยงต่อการติดโรค โดยให้ปิดร้านค้าหรือสถานประกอบการขายสุราประเภทที่ 1 และประเภทที่ 2 ที่ได้รับใบอนุญาตให้จำหน่ายตามพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต พ.ศ.2560 ตามที่ได้นำเสนอไปแล้วนั้น
ก่อนหน้านี้แต่ละจังหวัดได้ประกาศห้ามจำหน่าย จ่ายแจกสุราและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยมีจังหวัดสกลนครเป็นจังหวัดแรกที่ประกาศให้ปิดร้านค้าหรือสถานประกอบการขายสุราประเภทที่ 1 และประเภทที่ 2 ที่ได้รับใบอนุญาตให้จำหน่ายสุราตามพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2560 โดยสามารถจำหน่ายสินค้าประเภทอื่นได้ โดยนายมนต์สิทธิ์ ไพศาลธนวัฒน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสกลนคร ลงนามเมื่อวันที่ 30 มี.ค. 2563 มีผลตั้งแต่วันที่ 31 มี.ค. ถึง 16 เม.ย. 2563
ปัจจุบันมีจังหวัดที่ออกมาตรการห้ามจำหน่ายสุราและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด (ณ เวลา 03.00 น. วันที่ 10 เม.ย.) รวม 20 จังหวัด ได้แก่
1. จังหวัดสกลนคร ตั้งแต่วันที่ 31 มี.ค. ถึง 16 เม.ย. 2563
2. จังหวัดลำพูน ตั้งแต่วันที่ 1-30 เม.ย. 2563
3. จังหวัดพิษณุโลก ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. 2563 จนกว่าจะมีประกาศเปลี่ยนแปลง
4. จังหวัดระยอง ตั้งแต่วันที่ 2-15 เม.ย. 2563
5. จังหวัดสมุทรสงคราม ตั้งแต่วันที่ 2-30 เม.ย. 2563
6. จังหวัดสุรินทร์ ตั้งแต่วันที่ 2-30 เม.ย. 2563
7. จังหวัดบุรีรัมย์ ตั้งแต่วันที่ 2-30 เม.ย. 2563
8. จังหวัดนครปฐม ตั้งแต่วันที่ 2-30 เม.ย. 2563
9. จังหวัดสุพรรณบุรี ตั้งแต่วันที่ 4-30 เม.ย. 2563
10. จังหวัดมุกดาหาร ตั้งแต่วันที่ 6-30 เม.ย. 2563
11. จังหวัดน่าน ตั้งแต่วันที่ 8-19 เม.ย. 2563
12. กรุงเทพมหานคร ตั้งแต่วันที่ 10-20 เม.ย. 2563
13. จังหวัดเชียงใหม่ ตั้งแต่วันที่ 10-20 เม.ย. 2563
14. จังหวัดปราจีนบุรี ตั้งแต่วันที่ 10-20 เม.ย. 2563
15. จังหวัดสมุทรสาคร ตั้งแต่วันที่ 10-20 เม.ย. 2563
16. จังหวัดฉะเชิงเทรา ตั้งแต่วันที่ 10-19 เม.ย. 2563
17. จังหวัดอำนาจเจริญ ตั้งแต่วันที่ 10-17 เม.ย. 2563
18. จังหวัดพิจิตร ตั้งแต่วันที่ 10-16 เม.ย. 2563
19. จังหวัดยะลา ตั้งแต่วันที่ 10-16 เม.ย. 2563
20. จังหวัดราชบุรี ตั้งแต่วันที่ 11-19 เม.ย. 2563
21. จังหวัดอุตรดิตถ์ ตั้งแต่วันที่ 11-17 เม.ย. 2563
22. จังหวัดนครราชสีมา ตั้งแต่วันที่ 11-18 เม.ย. 2563 (รอลงนามเอกสาร)
ส่วนจังหวัดที่ควบคุมการจำหน่ายสุรา มี 2 จังหวัด ได้แก่
1. จังหวัดชลบุรี ห้ามจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ตั้งแต่ 18.00-06.00 น. ของวันรุ่งขึ้น (เท่ากับจำหน่ายได้เฉพาะเวลา 11.00-14.00 และ 17.00-18.00 น.) ตั้งแต่วันที่ 30 มี.ค. 2563 จนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย
2. จังหวัดมหาสารคาม ให้จำหน่ายสุราและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกประเภท รวมทั้งบุหรี่ทุกประเภท เฉพาะเวลา 11.00-14.00 น. ตั้งแต่วันที่ 2-20 เม.ย. 2563
ศาลสมุทรสาคร พิพากษาปรับ 2,000บาท ไม่สวมหน้ากากออกจากบ้าน
นายวุฒิพงษ์ สุภัควนิช นายอำเภอเมืองสมุทรสาคร เปิดเผยว่า ศาลจังหวัดสมุทรสาคร ตัดสินคดีที่ชายวัย 24 ปีรายหนึ่ง ชาว ต.ท่าทราย อ.เมืองฯ จ.สมุทรสาคร ซึ่งฝ่าฝืนคำสั่งจังหวัดสมุทรสาคร ที่ให้ประชาชนทุกคนภายในจังหวัดสมุทรสาคร เมื่อออกจากบ้านต้องสวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้า โดยศาลพิพากษาปรับ 4,000 บาท แต่จำเลยให้การรับสารภาพ จึงลดโทษกึ่งหนึ่งเหลือโทษปรับ 2,000 บาท