ผู้เชี่ยวชาญ หารือแนวทางและกระบวนการรักษาผู้ป่วยโควิด-19
นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า การรักษาโควิด -19 ในประเทศไทยมีการปรับเปลี่ยนแนวทางการรักษาไปตามผลการศึกษาวิจัยจากทั่วโลก ในรอบเดือนที่ผ่านมาได้มีการเปลี่ยนแนวทางไป 2 ครั้ง และในวันที่ 6 เม.ย.นี้ จะมีการประชุมผู้เชี่ยวชาญเพื่อหารือว่าแนวทางและกระบวนการในรักษาของประเทศจะมีการปรับอย่างไร
-อาการของผู้ป่วยโควิด-19 พบว่า ร้อยละ 65 จะเป็นผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรงคล้ายไข้หวัด ภาพถ่ายรังสีปอดปกติ จะรักษาตามอาการหรือพิจารณาให้ยาต้านไวรัส ที่ไม่ใช่ ยาฟาวิพิราเวียร์ และถ้ามีอาการดีขึ้นก็จะย้ายไปหอผู้ป่วยเฉพาะโควิด -19 อยู่โรงพยาบาล 14 วัน
-ร้อยละ 20 ไม่แสดงอาการ ผู้เชี่ยวชาญสรุปแนวทางการดูแลรักษาโรคในกลุ่มนี้จะให้สังเกตอาการในโรงพยาบาล 7 วัน และหากเอกซเรย์ปอดปกติ จะให้ย้ายคนไข้จากโรงพยาบาลไปนอนที่สถานที่ราชการจัดให้ หรือหอผู้ป่วยเฉพาะโควิด-19 ซึ่งในกรุงเทพฯ มี 3 แห่ง อีก 7 วัน เพื่อเป็นการประหยัดเตียงในโรงพยาบาล
-ร้อยละ 12 ปอดอักเสบไม่รุนแรง จะให้ยารักษาไวรัสในโรงพยาบาล 2-4 สัปดาห์ แต่ถ้ามีอาการปอดอักเสบรุนแรงขึ้นก็จะให้ยาฟาวิพิราเวียร์ ให้อยู่ในห้อง ICU จะอยู่ที่โรงพยาบาลเป็นเวลานาน และจะไม่มีการย้ายคนไข้ไปหอผู้ป่วยเฉพาะโควิด-19 จะให้อยู่ในโรงพยาบาลจนหายดีและกลับบ้าน
-ร้อยละ 3 ปอดอักเสบรุนแรง จะให้ยาต้านไวรัสยาฟาวิพิราเวียร์ มีการรักษาอาการเหมือนกับผู้ป่วยที่มีอาการปอดอักเสบไม่รุนแรง
จัดหายาฟาวิพิราเวียร์ให้เพียงพอ
นพ.ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวว่า นักรบโควิด-19 อาวุธที่จำเป็น คือ ยาฟาวิพิราเวียร์ กระทรวงสาธารณสุข จะจัดหายามาให้ประชาชนอย่างเพียงพอ และต้องให้ได้ทั่วถึง ซึ่งได้ตั้งเป้าไว้ 350,000 เม็ด มีการนำเข้ามาแล้ว 4 ครั้ง 87,000 เม็ด
-นำเข้าครั้งที่ 1 วันที่ 24 ก.พ.2563 ซื้อจากญี่ปุ่น 5,000 เม็ด
-ครั้งที่ 2 วันที่ 2 มี.ค.2563 จีนบริจาค 2,000 เม็ด
-ครั้งที่ 3 วันที่ 12 มี.ค.2563 ซื้อจากญี่ปุ่น 40,000 เม็ด
-ครั้งที่ 4 วันที่ 30 มี.ค.2563 ซื้อจากญี่ปุ่น 40,000 เม็ด ขณะนี้ มีกระจายยาไปในส่วนของโรงพยาบาล 12 เขต และส่วนภูมิภาค โรงเรียนแพทย์ทั้งหลาย ซึ่งได้มีการจ่ายยาให้แก่ผู้ป่วยไปแล้ว 48,875 เม็ด คงเหลือ 38,126 เม็ด
ส่วนแผนการจัดหา
1.สั่งซื้อจากจีน 100,000 เม็ด ส่งมอบ 6 เม.ย.2563
2.สั่งซื้อจากญี่ปุ่น 100,000 เม็ด
นายแพทย์สมศักดิ์ กล่าวถึง กรณีที่ระบุว่าญี่ปุ่นจะบริจาคยาฟาวิพิราเวียร์ เป็นความต้องการของผู้ผลิตยาที่อยากศึกษาวิจัยแบบทั่วโลก ประมาณ 30-40 ประเทศ และจะให้ยาฟรีเฉพาะประเทศที่เข้าร่วมรับการศึกษาวิจัย เพื่อเป็นการศึกษาวิจัย ไม่ใช่เพื่อการรักษาประชาชน ยาฟาวิพิราเวียร์ เป็นยาที่ใช้ในการรักษาจริง และผู้เชี่ยวชาญไทยก็ได้นำมาใช้เป็นแนวทางในการรักษา แต่อย่างไรก็ตาม การให้ฟรีเป็นไปเพื่อการศึกษาวิจัยให้ผลชัดเจนผ่านการเปรียบเทียบว่าให้ยากับไม่ให้ยาจะมีผลออกมาเป็นอย่างไร เพราะขณะนี้ยังไม่มีการศึกษาวิจัยแบบดังกล่าว
9 ปัจจัยเสี่ยงเกิดปอดอักเสบสู่โควิด-19
ปัจจัยเสี่ยงของการเกิดอาการปอดอักเสบ อธิบดีกรมการแพทย์ ระบุว่า เกิดจากสาเหตุดังนี้
1.อายุมากกว่า 60 ปี
2.ภาวะอ้วน
3.ภาวะภูมิคุ้มกันต่ำ
4.โรคปอดอุดกั้นเรื้อรังหรือถุงลมโป่งพอง
5.โรคไตวายเรื้อรัง
6. ตับแข็ง
7.โรคเบาหวานที่ควบคุมไม่ได้
8.โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ
9.โรคหลอดเลือดสมองตีบหรืออัมพาต ซึ่งหากมีอาการเหล่านี้ แพทย์จะเฝ้าระวังเป็นพิเศษ เนื่องจากอาจมีอาการแย่ลงหรือเป็นจุดที่ต้องเฝ้าระวังต่อไป
“หมอยง” เผยใช้พลาสมารักษาโรคไม่ใช่เรื่องใหม่
นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่า โควิด-19 พลาสมา หรือน้ำเหลือง ที่ใช้ในการรักษาโรค การใช้พลาสมามารักษาโรค ไม่ใช่เรื่องใหม่ ทำกันมาเป็นร้อยปีแล้ว ในผู้ที่หายจากโรคติดเชื้อ ร่างกายจะสร้างภูมิต้านทาน มาต่อต้านเชื้อโรคนั้น เราสามารถใช้ภูมิต้านทานนั้น มาให้ผู้ป่วยใช้รักษา หรือป้องกันโรค เช่น เอามาทำเป็น เซรุ่ม เซรุ่ม ที่เราใช้อยู่ จะถูกสกัดมาอีกทีหนึ่ง ให้มีความเข้มข้นเพิ่มขึ้น เช่น ใช้ป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า ไวรัสตับอักเสบบี ในทำนองเดียวกัน น้ำเหลืองในผู้ป่วยที่หายจากโรคโควิด-19 ก็จะมีภูมิต้านทานต่อไวรัส เราจึงสามารถนำภูมิต้านทานนี้ มาช่วยเสริมในการรักษาผู้ป่วย โควิด-19 ได้ วิธีการนี้เป็นที่ยอมรับของวงการแพทย์ทั่วโลก และได้มีการกำหนดกฎเกณฑ์ออกมาชัดเจนถึงแนวทางการปฏิบัติ
ในคนปกติที่ไม่เคยป่วย และมีการสอบถามกันมาว่า เป็นไปได้ไหมว่าจะเป็นแบบไม่มีอาการ แล้วมีภูมิต้านทานเกิดขึ้น ตอบได้ว่ามีความเป็นไปได้ ผู้นั้นจะมาบริจาคน้ำเหลืองได้หรือไม่ ในการตรวจภูมิต้านทาน ในปัจจุบันนี้ที่เชื่อถือได้ที่สุด จะต้องตรวจแบบ neutralizing antibody คือใช้ไวรัส โควิด-19 มาทำปฏิกิริยากับน้ำเหลืองนั้น ว่าสามารถที่จะหยุดยั้งการเจริญเติบโตของไวรัสได้ในขณะเท่าไหร่ วิธีการนี้ค่อนข้างซับซ้อน และต้องใช้ไวรัสเชื้อเป็นของ โควิด-19 จึงจำเป็นที่จะต้องทำการตรวจในห้องปฏิบัติการ ที่มีความปลอดภัยสูงระดับ 3 ส่วนการตรวจทางน้ำเหลือง serology ส่วนใหญ่ยังอยู่ในการศึกษาวิจัย ให้ใช้เฉพาะงานวิจัย (research use only) โดยเฉพาะงานวิจัยทางด้านระบาดวิทยา
ดังนั้นในคนปกติที่ไม่เคยติดเชื้อ ถ้าต้องการจะบริจาคน้ำเหลือง อยากจะแนะนำให้มาบริจาคโลหิต ก็จะได้รับการบริจาคทั้ง เม็ดโลหิตแดง ขาวและเกล็ดเลือด รวมทั้งน้ำเหลืองไปพร้อมกันเลย อันจะเป็นบุญกุศลอันยิ่งใหญ่ในภาวะวิกฤตนี้ ในภาวะขณะนี้ ความต้องการโลหิตของศูนย์บริการโลหิต ที่จะใช้ในยามปกติ มีผู้บริจาคลดน้อยลง ก็อยากจะขอเชิญชวนผู้ที่ยังไม่เคยติดเชื้อ มาร่วมกันบริจาคโลหิต ยังไม่มีความจำเป็นที่จะต้องบริจาคน้ำเหลืองเพื่อใช้ในการรักษาโรค โควิด-19
ทูตไทย ช่วยคนไทย ตกค้างสนามบินญี่ปุ่น-เกาหลีใต้
เฟซบุ๊กกระทรวงการต่างประเทศ เปิดเผยถึง การดูแลและช่วยเหลือคนไทยที่ตกค้างในสนามบินต่างประเทศ โดยระบุว่านายสิงห์ทอง ลาภพิเศษพันธุ์ เอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น นำทีมเจ้าหน้าที่สถานเอกอัครราชทูตไทยฯ ไปดูแลให้กำลังใจและช่วยเหลือคนไทย 10 คนที่ตกค้างที่สนามบินฮาเนดะ อีกทั้งได้นำหน้ากากอนามัย เจลล้างมือแอลกอฮอล์ แว่นครอบตา (แว่น Goggles) ทิชชู่เปียก วิตามินซี และสเปรย์ฆ่าเชื้อโรค ไปมอบให้คนไทยที่ได้รับผลกระทบจากประกาศสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย ที่สั่งระงับเที่ยวบินเข้าประเทศไทยระหว่างวันที่ 4-6 เม.ย.2563 นอกจากนี้สถานเอกอัครราชทูตไทยฯ ยังประสานงานขอผ้าห่มจากสายการบิน เพื่อให้คนไทยกลุ่มนี้ใช้ระหว่างพักในสนามบิน รวมทั้งสามารถใช้ห้องอาบน้ำในบริเวณรอเปลี่ยนเครื่อง (Transit Area) ด้วย
ด้านนายสุเมธ จุลชาต อัครราชทูต สถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้ นำคณะเจ้าหน้าที่ช่วยเหลือคนไทยที่ติดค้างที่ท่าอากาศยานอินชอน ประเทศเกาหลีใต้ เมื่อวันที่ 4 เม.ย.โดยนำอุปกรณ์และของใช้ที่จำเป็นไปให้พร้อมช่วยประสานงานกับโรงแรมเพื่อจองห้องพัก รวมทั้งกำลังเจรจาขอให้เปิดห้องอาบน้ำให้คนไทยที่ต้องนอนพักบริเวณรอเปลี่ยนเครื่อง และขอให้สายการบินโคเรียน แอร์ ดูแลผู้โดยสารด้วยการออกบัตรขึ้นเครื่องบินโดยสาร เพื่อให้สามารถซื้อสินค้าในร้านปลอดภาษีได้
รัฐบาลฯ หารือมาตรการเยียวยา เฟส 3 เน้นช่วย 3 กลุ่มหลัก
การเยียวยาประชาชนเพิ่มเติมในช่วงที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 รายงานระบุว่า เมื่อวานนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม หารือกับนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคลัง และนายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) หารือความคืบหน้าการดูแลระบบเศรษฐกิจระยะที่ 3 ที่จะใช้วงเงินดำเนินการทั้งสิ้นร้อยละ 10 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) (ประมาณ 1.6 ล้านล้านบาท) ผ่านการออกพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) 3 ฉบับ แบ่งเป็นของ ธปท. 2 ฉบับ
-พ.ร.ก.ให้อำนาจธนาคารแห่งประเทศไทยปล่อยสินเชื่อ ดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟต์โลน)
-พ.ร.ก.ให้อำนาจธนาคารแห่งประเทศไทยเข้าไปซื้อตราสารหนี้เอกชนที่ครบกำหนด โดยใช้เงินของ ธปท.
-ส่วนกระทรวงการคลัง จะออก พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน ส่วนวงเงินจะต้องไปดูผลที่ให้ทุกกระทรวงตัดงบประมาณร้อยละ 10 เฉพาะงบประมาณส่วนที่ตัดได้ โดยไม่เกี่ยวเงินเดือนและค่าจ้างก่อน
มาตรการดูแลและเยียวยาเศรษฐกิจในระยะที่ 3 เสนอคณะรัฐมนตรี(ครม.) วันที่ 7 เมษายน ช่วย 3 กลุ่ม คือ
-ประชาชนรวมถึงเกษตรกร
-คนตกงาน
-ภาคธุรกิจทั้งรายเล็กและรายใหญ่ และภาคการเงิน
แฟ้มภาพ