‘หมอยง’ เผยใช้พลาสมารักษาโรคไม่ใช่เรื่องใหม่

06 เมษายน 2563, 08:58น.


           นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุถึงเรื่องการใช้พลาสมา มารักษาโรคว่าไม่ใช่เรื่องใหม่ ทำกันมาเป็นร้อยปีแล้ว ในผู้ที่หายจากโรคติดเชื้อ ร่างกายจะสร้างภูมิต้านทาน มาต่อต้านเชื้อโรคนั้น เราสามารถใช้ภูมิต้านทานนั้น มาให้ผู้ป่วยใช้รักษา หรือป้องกันโรค เช่น เอามาทำเป็น เซรุ่ม เซรุ่ม ที่เราใช้อยู่ จะถูกสกัดมาอีกทีหนึ่ง ให้มีความเข้มข้นเพิ่มขึ้น เช่น ใช้ป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า ไวรัสตับอักเสบบี  ในทำนองเดียวกัน น้ำเหลืองในผู้ป่วยที่หายจากโรคโควิด-19 ก็จะมีภูมิต้านทานต่อไวรัส เราจึงสามารถนำภูมิต้านทานนี้ มาช่วยเสริมในการรักษาผู้ป่วย โควิด-19 ได้ วิธีการนี้เป็นที่ยอมรับของวงการแพทย์ทั่วโลก และได้มีการกำหนดกฎเกณฑ์ออกมาชัดเจนถึงแนวทางการปฏิบัติ



           ในคนปกติที่ไม่เคยป่วย และมีการสอบถามกันมาว่า เป็นไปได้ไหมว่าจะเป็นแบบไม่มีอาการ แล้วมีภูมิต้านทานเกิดขึ้น  ตอบได้ว่ามีความเป็นไปได้ ผู้นั้นจะมาบริจาคน้ำเหลืองได้หรือไม่ ในการตรวจภูมิต้านทาน ในปัจจุบันนี้ที่เชื่อถือได้ที่สุด จะต้องตรวจแบบ neutralizing antibody คือใช้ไวรัส โควิด-19 มาทำปฏิกิริยากับน้ำเหลืองนั้นว่าสามารถที่จะหยุดยั้งการเจริญเติบโตของไวรัสได้ในขณะเท่าไหร่ วิธีการนี้ค่อนข้างซับซ้อน และต้องใช้ไวรัสเชื้อเป็นของ โควิด-19 จึงจำเป็นที่จะต้องทำการตรวจในห้องปฏิบัติการ ที่มีความปลอดภัยสูงระดับ 3 ส่วนการตรวจทางน้ำเหลือง serology ส่วนใหญ่ยังอยู่ในการศึกษาวิจัย ให้ใช้เฉพาะงานวิจัย (research use only) โดยเฉพาะงานวิจัยทางด้านระบาดวิทยา





           ดังนั้นในคนปกติที่ไม่เคยติดเชื้อ ถ้าต้องการจะบริจาคน้ำเหลือง อยากจะแนะนำให้มาบริจาคโลหิต ก็จะได้รับการบริจาคทั้งเม็ดโลหิตแดง ขาวและเกล็ดเลือด รวมทั้งน้ำเหลืองไปพร้อมกันเลย อันจะเป็นบุญกุศลอันยิ่งใหญ่ในภาวะวิกฤตนี้ ในภาวะขณะนี้ ความต้องการโลหิตของศูนย์บริการโลหิต ที่จะใช้ในยามปกติ มีผู้บริจาคลดน้อยลง ก็อยากจะขอเชิญชวนผู้ที่ยังไม่เคยติดเชื้อ มาร่วมกันบริจาคโลหิต ยังไม่มีความจำเป็นที่จะต้องบริจาคน้ำเหลืองเพื่อใช้ในการรักษาโรค โควิด-19



CR:Facebook นพ.ยง ภู่วรวรรณ



 

ข่าวทั้งหมด

X