การแก้ไขปัญหาการก่อหนี้สาธารณะของหน่วยงานราชการ นายคำนูณ สิทธิสมาน โฆษกคณะกรรมาธิการ(กมธ.)ยกร่าง ระบุว่าจากการเสนอของคณะอนุกมธ.คณะที่ 4 เรื่องการคลังและงบประมาณพบปัญหาคือ หน่วยงานราชการและคณะรัฐมนตรีมีการก่อหนี้สาธารณะ ใช้เงินแผ่นดิน โดยไม่ผ่านงบประมาณประจำปี และอ้างว่าเงินดังกล่าวที่ใช้ไม่ได้อยู่ในเงินแผ่นดิน ทำให้เกิดปัญหาการคลังที่ส่งผลต่อการพัฒนาประเทศ ขณะที่ กฎหมายการคลังในอดีตก็พบว่ามีเนื้อหาล้าหลังและช่องว่างที่เอื้อต่อการใช้เงิน ดังนั้นคณะอนุกมธ. ได้เสนอคำนิยามเงินแผ่นดินใหม่ โดยให้เป็นเงินรายได้ที่นำส่งคลังทั้งหมดเพื่อป้องกันปัญหาเหมือนอดีต ขณะเดียวกัน เสนอให้สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติหรือป.ป.ช.และคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินหรือ คตง. มีอำนาจตรวจสอบข้อเท็จจริงการใช้เงินแผ่นดินโดยมิชอบ เพื่อทำสำนวนส่งฟ้องศาลวินัยการคลังและงบประมาณ ที่จะเป็นศาลชำนาญพิเศษศาลใหม่ทำหน้าที่พิจารณาคดีดังกล่าว พร้อมเสนอให้ปรับปรุงการจัดสรรงบประมาณ โดยเสนอให้ใช้ระบบงบประมาณแบบสองขา โดยต้องมีรายงานทางเศรษฐกิจและกรอบนโยบายด้านการคลังด้วย โดยตั้งเป็น ศาลวินัยการคลังและงบประมาณอยู่รวมในส่วนของศาลยุติธรรม และอาจให้มีการอุทธรณ์ได้เพียงชั้นเดียว โดยใช้กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการคลังเข้าประกอบเพื่อให้เป็นไปตามหลักธรรมาภิบาลและการตีความที่ถูกต้อง เช่น กฎหมายการจัดซื้อภาครัฐ กฎหมายการตรวจเงินแผ่นดิน
ส่วนรายงานผลการดำเนินงานของคณะอนุกมธ.คณะที่ 5 หมวด 6 ความสัมพันธ์ระหว่างข้าราชการ นักการเมืองและประชาชน พบปัญหาว่า ประชาชนยังขาดความรู้เกี่ยวกับระบอบประชาธิปไตย และขาดการมีส่วนร่วม ขณะที่ ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พบว่ามักมีการเข้ามาแทรกแซงการทำงานของเจ้าหน้าที่รัฐโดยมิชอบ เช่นเดียวกับเจ้าหน้าที่รัฐที่ขาดความเป็นกลางทางการเมือง โดยเสนอให้มีการบัญญัติหลักการสำคัญๆไว้ในรัฐธรรมนูญ เช่น ความสัมพันธ์ของประชาชน นักการเมืองและเจ้าหน้าที่รัฐต้องเป็นไปในลักษณะที่ต่างตรวจสอบกันได้
ธีรวัฒน์