การห้ามส่งออกไข่ไก่ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะประธานคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกร.) เปิดเผยว่า หลังได้ห้ามส่งออกไข่ไก่ออกนอกราชอาณาจักรเป็นเวลา 7 วัน ตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม 2563 จะครบกำหนดวันที่ 31 มีนาคม 2563 แต่เนื่องจากสถานการณ์ขาดแคลนไข่ในประเทศยังคงมีอยู่ จึงได้ขยายคำสั่งห้ามส่งออกไข่ไก่ฯ ต่ออีกเป็นเวลา 30 วัน และจะยกเลิกคำสั่งนี้ทันทีหากสถานการณ์ไข่ไก่ในประเทศกลับสู่ภาวะปกติ ปัจจุบันไทยผลิตไข่ไก่ได้ประมาณวันละ 41 ล้านฟอง เดิมส่งออกวันละหลักแสนถึง 1 ล้านฟอง
ส่วนการจัดสรรหน้ากากอนามัย นายจุรินทร์ กล่าวว่า ตั้งแต่วันนี้ (30 มี.ค. ) เป็นต้นไป การจัดสรรหน้ากากอนามัยจะเปลี่ยนระบบใหม่ โดยรัฐบาลเป็นผู้จัดซื้อจากโรงงานผลิต และมาแบ่งเป็น 2 กอง กองแรกให้กระทรวงสาธารณสุข 1.3 ล้านชิ้นไปบริหารจัดการตามเดิม โดยจัดสรรให้โรงพยาบาลต่าง ๆ รวมทั้งโรงพยาบาลเอกชนตามเดิม
ส่วนกองที่ 2 อีก 1 ล้านชิ้น เปลี่ยนจากเดิมให้กรมการค้าภายในบริหารจัดการไปให้กระทรวงมหาดไทยบริหารจัดการ เนื่องจากปัจจุบันผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้แก้ไขปัญหาโควิด-19 ระดับจังหวัด ดังนั้น ควรมีหน้ากากอนามัยบริหารจัดการด้วย โดยกระจายไปทุกจังหวัดโดยตรง ซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัด สามารถบริหารจัดการภายในจังหวัดได้ ทั้งการจัดสรรฟรีให้กลุ่มเสี่ยงและการจำหน่ายในร้านต่าง ๆ ตามความเหมาะสม อย่างไรก็ตาม ยังคงกำลังการผลิต 2.2-2.3 ล้านชิ้นต่อวัน
สำหรับต้นทุนการผลิตหน้ากากอนามัยเพิ่มขึ้นนั้น อธิบดีกรมบัญชีกลางจะเป็นประธานพิจารณากำหนดราคากลางหน้ากากอนามัย เพื่อพิจารณาจัดสรรเงินสนับสนุนซื้อจากโรงงานในราคาที่ช่วยให้สามารถผลิตหน้ากากอนามัยต่อไปได้ ซึ่งเรื่องนี้กระทรวงพาณิชย์จะนำเสนอเรื่องเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีในการประชุมวันที่ 31 มีนาคมนี้
ด้านข้อสงสัยว่า หน้ากากอนามัย 200 ล้านชิ้นหายไปไหนนายจุรินทร์ ย้ำว่า การที่กระทรวงพาณิชย์ระบุจำนวนหน้ากาก 200 ล้านชิ้น หมายถึงวัตถุดิบที่จะนำมาใช้ในการผลิตหน้ากากอนามัย อธิบดีกรมการค้าภายในและปลัดกระทรวงพาณิชย์เคยชี้แจงไปแล้วครั้งหนึ่ง และเมื่อผลิตแล้วก็เข้าสู่ระบบตลาดตามปกติ ในช่วงต้นของการบริหารจัดการเข้ามาสู่ศูนย์บริหารจัดการกระจายหน้ากากอนามัย