ความเคลื่อนไหวเมืองไทยวันนี้ 08.30 น.ประจำวันศุกร์ที่ 27 มีนาคม 2563

27 มีนาคม 2563, 08:58น.


ความเคลื่อนไหวเมืองไทยวันนี้ 08.30 น.ประจำวันศุกร์ที่ 27 มีนาคม 2563



ไทยเตรียมเครื่องมือตรวจหาเชื้อโควิด-19ให้เพียงพอ



          นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์  อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุข ได้เร่งดำเนินการเตรียมความพร้อมหลังมีผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์คาดการณ์ว่า ในช่วงปลายเดือนเมษายน จะมีผู้ป่วยติดเชื้อมากกว่า 300,000 คน ซึ่งการเตรียมการจะต้องจัดสรรหาอุปกรณ์ทางการแพทย์ รวมถึงน้ำยาที่ใช้ในการตรวจไว้รองรับ 2 - 3 เท่า จากที่คาดการณ์ไว้ เพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการ เบื้องต้นขอให้ประชาชนมั่นใจว่า กระทรวงสาธารณสุขจะสามารถจัดหาน้ำยาที่ใช้ในการตรวจได้เพียงพออย่างแน่นอน



          ส่วนการตรวจหาเชื้อจากห้องแล็บด้วยวิธีตรวจจากสารพันธุกรรม แบบ RT PCR ใช้เวลาตรวจ3ชั่วโมง สามารถตรวจพบในผู้รับเชื้อระยะ3-4วันขึ้นไปที่มีอาการ   การตรวจแบบชุดทดสอบรวดเร็วนั้น เป็นการตรวจในผู้ที่รับเชื้อระยะมากกว่า10วัน ผลถึงออกมาค่อนข้างแม่นยำ แต่เบื้องต้นจะต้องตรวจหาเชื้อด้วยวิธีแบบRT PCR ก่อน ซึ่งส่วนใหญ่เกือบ100% จะพบตั้งแต่วิธีดังกล่าวแล้ว  และที่มีหลายฝ่ายออกมาบอกว่าสามารถตรวจหาเชื้อได้เองด้วยการเจาะเลือดปลายนิ้วหรือเจาะเส้นเลือดดำ  เป็นสิ่งที่ต้องระวังเรื่องการแปลผล ทั้งหมดจะต้องดำเนินการโดยบุคลากรทางการแพทย์เท่านั้น ยังไม่เหมาะให้ประชาชนตรวจเอง



          สำหรับห้องแล็บในพื้นที่กรุงเทพมหานครมี13แห่ง ต่างจังหวัด26แห่ง โรงพยาบาลเอกชน5แห่ง โดยอนาคตตั้งเป้าว่าจะเพิ่มศักยภาพ ตรวจในกรุงเทพมหาครให้ได้10,000คนต่อวัน และต่างจังหวัด10,000คนต่อวัน 



เริ่มย้ายผู้ติดเชื้อที่ไม่มีอาการ เข้าหอพัก-โรงแรม

          นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า มีการเคลื่อนย้ายผู้ติดเชื้อแบบไม่มีอาการไปพักเฝ้าระวังโรคในหอพัก หรือโรงแรมที่มีการประสานงานไว้ โดยจะให้พักเป็นเวลา 14 วัน เมื่อหายดีแล้วก็ให้กลับบ้านได้ โดยในห้องพักต้องมีเทอร์โมมิเตอร์วัดไข้เอง มีเครื่องวัดออกซิเจน ซึ่งจะบ่งบอกว่าปอดยังทำงานดีหรือไม่ อินเตอร์เน็ต ไวไฟดี เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถวิดีคอลกับเจ้าหน้าที่ได้ตลอดเวลา โดยจะมีพยาบาลประจำ 1 คน ต่อผู้ป่วย 100 คน ส่วนแพทย์จะออกตรวจตามรอบ และสามารถติดตามตัวได้ทันที มีอุปกรณ์การแพทย์สำหรับสถานการณ์ฉุกเฉิน 



          เหตุที่ต้องย้ายผู้ป่วยที่ไม่มีอาการไปอยู่ที่หอพักหรือโรงแรม ก็เพื่อเตรียมพร้อมรองรับผู้ป่วยที่มีอาการกลางๆ และผู้ป่วยอาการหนัก โดยสถิติผู้ป่วยใหม่ที่เพิ่มขึ้นวันละ 100 รายยังสามารถดูแลได้ แต่ขณะนี้เริ่มพบผู้ป่วยในต่างจังหวัดเพิ่มขึ้น จึงต้องเตรียมพร้อมดูแลผู้ป่วยในโรงพยาบาลชุมชน หรืออาจต้องจัดหาโรงแรม หรือสถานที่เพื่อรองรับคนอาการไม่มาก



ขสมก.กำหนดที่นั่งเว้นระยะห่าง "งดนั่งชิด โควิด ป้องกันได้" เริ่มวันนี้ (27 มี.ค.)



          องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ขอความร่วมมือผู้ใช้บริการไม่นั่งบนเบาะที่ติดสติ๊กเกอร์ข้อความ“งดนั่งชิด โควิด ป้องกันได้” ซึ่งกำหนดให้ที่นั่งเดี่ยวสามารถนั่งได้ตามปกติ สำหรับที่นั่งคู่ ผู้ใช้บริการจะนั่งได้เพียง 1 ที่นั่งบริเวณริมหน้าต่างเท่านั้น รวมทั้งได้กำหนดจุดยืนบนพื้นรถโดยสาร โดยเว้นระยะห่างกัน 1 เมตร โดยจะเริ่มดำเนินการมาตรการตั้งแต่วันนี้ (27 มี.ค.) เป็นต้นไปสำหรับรถเมล์ ขสมก.ทั้ง 3,000 คัน ที่สำคัญ ผู้โดยสารที่ขึ้นรถเมล์ทุกคนต้องสวมหน้ากากอนามัย ไม่เช่นนั้นจะปฏิเสธไม่ให้บริการ โดยมาตรการดังกล่าว นอกจากรถเมล์ของ ขสมก.แล้ว ก็จะขอความร่วมมือให้รถร่วมบริการ



         กรณีที่นั่งและจุดยืน มีผู้ใช้บริการครบตามจำนวนที่กำหนดไว้ พนักงานเก็บค่าโดยสารจะประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรอใช้บริการรถโดยสารคันถัดไป และขอความร่วมมือประชาชน สวมหน้ากากอนามัยทุกครั้ง ขณะใช้บริการรถโดยสาร เพื่อป้องกันตนเองและผู้ร่วมเดินทางจากการติดเชื้อ



ดีเดย์ 28 มี.ค.18.00 น.ลงทะเบียน5,000บาท รับมือโควิด-19



          นายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง แถลงข่าวความพร้อมของมาตรการชดเชยรายได้แก่ลูกจ้างของสถานประกอบการที่ได้รับผลกระทบหรือผู้ได้รับผลกระทบอื่นๆ ของการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา(COVID-19) หรือ “มาตรการเยียวยา 5,000 บาท (3 เดือน)” ซึ่งเป็นมาตรการภายใต้ชุดมาตรการดูแลและเยียวยาผลกระทบจากไวรัสโคโรนา (COVID-19) ต่อเศรษฐกิจไทยทั้งทางตรงทางอ้อม ระยะที่ 2 ที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบแล้วเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2563 โดยระบุว่า แรงงาน ลูกจ้างชั่วคราวและอาชีพอิสระที่ได้รับผลกระทบการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา (COVID-19) สามารถลงทะเบียนเข้าร่วมมาตรการได้ตั้งแต่วันเสาร์ที่ 28 มีนาคม 2563 เวลา 18.00 น. เป็นต้นไป ผ่านเว็บไซต์ www.เราไม่ทิ้งกัน.comที่เปิดตลอด 24 ชั่วโมง

          โดยขอให้ผู้ที่มาลงทะเบียน ควรจะใช้โทรศัพท์มือถือที่สามารถติดต่อสื่อสารถึงท่านได้ เพื่อระบบจะได้แจ้งผลการลงทะเบียนและสิทธิตามมาตรการให้แก่ท่านผ่านทางข้อความ SMS ได้ ในส่วนของการรับเงินเยียวยา จะสามารถรับได้ผ่าน 2 ช่องทาง ได้แก่ บัญชีธนาคารที่ชื่อและนามสกุลเจ้าของบัญชีตรงกับชื่อและนามสกุลที่นำมาลงทะเบียน หรือพร้อมเพย์ที่ผูกกับเลขบัตรประจำตัวประชาชน

         ผู้ที่ลงทะเบียนและผ่านการตรวจสอบคุณสมบัติตามหลักเกณฑ์ที่กระทรวงการคลังและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำหนดจะได้รับเงินช่วยเหลือรายละ 5,000 บาทต่อเดือน เป็นระยะเวลา 3 เดือน (รวม 15,000 บาท) ระบบจะสามารถดำเนินการให้จ่ายเงินเยียวยาเข้าบัญชีของท่านได้เร็วสุดภายใน 7 วันทำการ สำหรับมาตรการเยียวยาจะครอบคลุมผู้ได้รับผลกระทบทุกคน อาจมีกว่า 3 ล้านคน สำหรับรายละเอียดสอบถามข้อมูลได้ที่ Call Center ธนาคารกรุงไทยหมายเลขโทรศัพท์ 0-2111-1144

ห้ามส่งออกไข่ไก่ 7 วัน ผู้ส่งออกรับได้

          กรณีที่กระทรวงพาณิชย์มีแผนจะให้งดการส่งออกไข่ไก่เป็นเวลา 7 วัน นายมงคล พิพัฒสัตยานุวงศ์ นายกสมาคมผู้ผลิต ผู้ค้าและส่งออกไข่ไก่ กล่าวว่าสามารถทำได้และเห็นด้วย แต่ขอให้มีการยกเว้นกรณีที่มีการรับคำสั่งซื้อไว้ล่วงหน้า เพราะในข้อตกลงซื้อขายผู้ส่งออกจะรับมาล่วงหน้า 1 เดือนคือจนถึงเดือนเมษายน หากยกเลิกในทันทีอาจเป็นการผิดสัญญาคำสั่งซื้อ อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยมีผู้ผลิตผู้เลี้ยงไก่ไข่ประมาณ 3,000–4,000ราย เป็นผู้ส่งออกไม่ถึง 10 ราย มีปริมาณการส่งออกเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 2- 3 ของปริมาณไข่ไก่ทั้งหมด ไม่เกิน 20 ล้านฟองจากทั้งหมด 300-450 ล้านฟอง โดยในช่วงเดือนเมษายน หากปริมาณความต้องการบริโภคยังสูงขึ้น ผู้ผลิตและผู้ส่งออกจะลดปริมาณการส่งออกเพื่อขายภายในประเทศ



สศก. สร้างความมั่นใจ สินค้าเกษตรไม่ขาดแคลน 

          นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร หรือ สศก. เปิดเผยว่า นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้สั่งการทุกหน่วยงานในสังกัด ติดตามสถานการณ์การผลิตสินค้าและการบริหารสินค้าเกษตรอย่างใกล้ชิด รวมทั้งให้เพิ่มช่องทางการนำสินค้าเกษตรสู่ตลาดออนไลน์ให้มากขึ้น และเตรียมความพร้อมรองรับแรงงานคืนถิ่นสู่ภาคเกษตร



          โดยจากผลผลิตการเกษตรในขณะนี้ สินค้าสำคัญอาทิ ข้าว สินค้าประมง สินค้าปศุสัตว์ ปาล์มน้ำมัน มันสำปะหลัง มะพร้าว และอ้อยโรงงาน มีกำลังการผลิตที่เพียงพอ ทั้งมีโครงการแรงงานคืนถิ่น พลิกฟื้นผืนดินเกษตรไทย ด้วยศาสตร์พระราชา เพื่อเป็นแนวทางในการเยียวยาแก่ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจ รวมถึงโควิด-19 หากมีที่ดินทำกินอยู่แล้ว แต่ยังไม่แน่ใจว่าจะทำการเกษตรรูปแบบใด ก็สามารถที่จะติดต่อไปยังสำนักงานเกษตรจังหวัด หรือเกษตรอำเภอในพื้นที่ เพื่อเข้าฝึกอบรมได้ 



สตรีเกาหลีใต้วัย 96 ปี หายป่วยจากโควิด-19



           เป็นข่าวดีท่ามกลางข่าวสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทั่วโลก เว็บไซต์โคเรียไทม์ของเกาหลีใต้ รายงานว่าผู้ป่วยหญิงวัยประมาณ 96-97 ปี เป็นผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 ที่อายุมากที่สุดในเกาหลีใต้ที่หายป่วยจากโรคโควิด-19 แพทย์ได้อนุญาตให้หญิงคนดังกล่าวกลับไปกักตัวเองในบ้าน เฝ้าระวังต่ออีก 2 สัปดาห์ เพื่อให้แน่ใจว่าไม่ติดเชื้อโรคโควิด-19 

          เมื่อวันที่ 13 มีนาคม ผู้ป่วยหญิงคนนี้ เข้ารับการรักษาอาการป่วย 2 สัปดาห์ที่ศูนย์การแพทย์เมืองโพฮังทางภาคตะวันออก ผลตรวจ ชี้ว่า ติดโรคโควิด-19

          ส่วนสถานการณ์แพร่ระบาดในเกาหลีใต้ ในวันนี้ เจ้าหน้าที่สาธารณสุข เร่งตรวจคัดกรองในย่านชุมชนต่างๆของกรุงโซลที่มีประชากรอาศัยอยู่หนาแน่น ทำให้พบผู้ป่วยใหม่ 100 คน ตัวเลขผู้ป่วยสะสมในเกาหลีใต้ อยู่ที่ 9,241 คน เสียชีวิต 131 ราย หายป่วย 4,144 คน



เคสตัวอย่าง หุนุ่มไทย  ใช้เวลารักษาตัวเองในโรงพยาบาลสู้โควิด-19



          อู-สิรภพ สุขสำราญ เจ้าของธุรกิจส่วนตัว วัย 44 ปี เล่าถึงการรักษาตัวจากการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่สถาบันบำราศนราดูร พร้อมอัปเดตให้ฟังว่า วันนี้ทางแพทย์อนุญาตให้กลับไปรักษาตัวที่บ้านต่อได้ แต่ต้องไปกักตัวต่อที่บ้านอีก 14 วัน นอกจากนั้นยังได้เข้าโครงการวิจัยกับคุณหมอด้วย เขาก็จะเอาเลือด เอาผลตรวจร่างกายไปเป็นข้อมูลในการศึกษาหาแนวทางการรักษาโควิด-19 สำหรับผู้ที่ไม่มีอาการมาก เพราะว่าแต่ละคนแสดงอาการไม่เหมือนกัน และใช้ยาต่างกันนิดหน่อย”



           ก่อนหน้านี้ อู สิริภพได้อัปเดตชีวิตประจำวัน ในช่วงการรักษาในโรงพยาบาล อีกทั้งโพสต์ภาพการอกำลังกายผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว “Sirapop Suksamran” ซึ่งทันทีที่มีการแชร์ออกไป โลกออนไลน์ให้ความสนใจเป็นอย่างมาก

ข่าวทั้งหมด

X