ความเคลื่อนไหวเมืองไทยวันนี้ 08.30 น.ประจำวันพฤหัสบดีที่ 26 มีนาคม 2563
คาดเศรษฐกิจไทยปีนี้ติดลบ ร้อยละ 5.3
นายทิตนันทิ์ มัลลิกะมาส ผู้ช่วยผู้ว่าการสายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และในฐานะเลขานุการคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมกนง.วันที่ 25 มีนาคม 2563 มีมติ 4 ต่อ 2 เสียง ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ ร้อยละ 0.75 ต่อปี ขณะที่ 2 เสียง เห็นควรให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายร้อยละ0.25 ต่อปี
คณะกรรมการ เห็นว่า เศรษฐกิจไทยในปี 2563 มีแนวโน้มหดตัวแรงเนื่องจากการท่องเที่ยวและการส่งออกสินค้าได้รับผลกระทบรุนแรงจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 ส่งผลให้รายได้ของธุรกิจและครัวเรือนได้รับผลกระทบเป็นวงกว้างขึ้น สถานการณ์เช่นนี้ มาตรการด้านการคลังจะต้องเป็นกลไกหลักในการบรรเทาผลกระทบต่อเศรษฐกิจและดูแลผู้ได้รับผลกระทบ คณะกรรมการจะติดตามความเสี่ยงด้านเศรษฐกิจต่างประเทศ ผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 ประสิทธิผลของมาตรการดูแลและเยียวยาของภาครัฐ รวมถึง การช่วยเหลือลูกหนี้ของสถาบันการเงินแต่ละแห่งอย่างใกล้ชิด คณะกรรมการพร้อมใช้เครื่องมือนโยบายเพิ่มเติมทั้งอัตราดอกเบี้ยนโยบายและมาตรการการเงินอื่นๆ ในการดูแลเศรษฐกิจ
นายดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค สายนโยบายการเงิน ธปท.กล่าวว่า กนง. คาดว่าเศรษฐกิจจะหดตัวลงร้อยละ 5.3 ในปี 2563 ก่อนจะกลับมาขยายตัวร้อยละ 3 ในปี 2564 ปัจจัยหลักที่มีผลต่อการหดตัวของเศรษฐกิจไทยในปีนี้มาจากสถานการณ์ของไวรัสโควิด-19 ที่ส่งผลต่อภาคการส่งออกและการท่องเที่ยว คาดว่า จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ จะหดตัวร้อยละ 60 ในปีนี้ และเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าทั่วโลกจะชะลอตัวแรง หรืออาจถึงขั้นหดตัวในหลายประเทศ
หากไวรัสโควิด-19 ระบาดรุนแรงและยาวนาน จะกระทบต่อการส่งออกหดตัว ร้อยละ 8.8 กระทบรายได้ ความเชื่อมั่น และกิจกรรมทางเศรษฐกิจของประชาชนและภาคธุรกิจในวงกว้าง การบริโภคภาคเอกชน หดตัว ร้อยละ 1.5 การลงทุนหดตัวร้อยละ 4.3 เงินเฟ้อทั่วไปติดลบ 1.0 อย่างไรก็ดี แนวโน้มของเศรษฐกิจในระยะถัดไปจะขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย ได้แก่ มาตรการช่วยเหลือของภาครัฐในด้านต่างๆ การปรับตัวของภาคธุรกิจและประชาชน และความยาวนานของสถานการณ์ไวรัสโควิด-19
ดีเดย์ลงทะเบียนรับเงินช่วยพิษโควิด5,000 บาท วันที่ 28 มี.ค.นี้
นายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยว่า การให้เงินช่วยเหลือแรงงานนอกระบบที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของไรัสโควิด-19 (COVID-19) คนละ 5,000 บาท เป็นเวลา 3 เดือน ตั้งแต่เดือน เม.ย.-พ.ค. 2563 จะให้เริ่มลงทะเบียนผ่าน เว็บไซต์ WWW.เราจะไม่ทิ้งกัน.com. ในวันเสาร์ที่ 28 มี.ค. 2563 ตั้งแต่เวลา 8.00 น. เป็นต้นไป
สำหรับการพิจารณาให้เงินช่วยเหลือคนละ 5,000 บาท มีเงื่อนไขที่สำคัญ คือ 1. ต้องเป็นแรงงาน ลูกจ้าง ลูกจ้างชั่วคราว อาชีพอิสระ ที่อยู่นอกระบบประกันสังคมมาตรา 33 ส่วนแรงงานที่อยู่ในระบบประกันสังคมมาตรา 39 และ 40 อยู่ในเกณฑ์ที่จะมาขอรับเงินช่วยเดือนละ 5,000 บาท ได้เช่นกัน 2. เป็นผู้ที่ไม่ได้รับการเยียวยาจากมาตรการอื่น เช่น ข้าราชการ เกษตรกร ผู้ที่อยู่ในระบบประกันสังคมมาตรา 33 เป็นต้น
3. ต้องเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 อย่างแท้จริง สามารถพิสูจน์ได้ เช่น แรงงานที่ได้รับผลกระทบจากการประกาศของผู้ว่าฯกทม.ให้ปิดดำเนินกิจการเป็นการชั่วคราว นอกจากนี้ ยังมีผู้ขับแท็กซี่ วินมอเตอร์ไซค์ ที่สามารถลงทะเบียนได้ เนื่องจากได้รับผลกระทบ เป็นต้น
"เรื่องของอาชีพไม่ได้เป็นปัญหาว่าจะได้สิทธิ์หรือไม่ ทุกอาชีพมีสิทธิ์ แต่ปัญหาอยู่ที่ว่าต้องพิสูจน์ได้ว่าได้รับผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 จริง ๆ เช่น อาชีพอิสระขายอาหารตามสั่ง หากมีข้อมูลพิสูจน์ได้ว่าได้รับผลกระทบ ก็มีสิทธิ์ลงทะเบียนขอรับเงินได้"
กระทรวงการคลัง คาดการณ์ว่าจะมีแรงงานนอกระบบอยู่ในข่ายได้รับสิทธิ์ 3,000,000 คน โดยไม่ได้กำหนดว่าให้สิทธิ์แค่ 3,000,000 คน หากมีคนมาลงทะเบียนเกินกว่าที่คาดการณ์และตรวจสอบแล้วว่าเข้าเงื่อนไขตามที่กำหนด ก็จะได้รับสิทธิ์ทั้งหมด เช่น อาจจะมีคนได้รับเงิน 3,500,000 ล้านคน หรือ 4,000,000 คนก็ได้
ดังนั้น การลงทะเบียน ที่เริ่มวันที่ 28 มี.ค. 2563 เวลา 8.00 น. นี้ ผู้ลงทะเบียนไม่จำเป็นต้องแย่งกันมาลงทะเบียน เพราะไม่ได้พิจารณาว่าใครมาลงทะเบียนก่อนได้สิทธิ์ก่อน ทุกคนมีสิทธิ์เท่ากันหากเข้าเงื่อนไข โดยผู้ลงทะเบียนที่ผ่านเกณฑ์และต้องการให้รัฐบาลจ่ายเงินพร้อมเพย์ที่ผูกกับหมายเลขบัตรประชาชน หากตรวจสอบแล้วผ่านทุกเงื่อนไข ก็จะได้รับเงินภายใน 5 วันทำการ แต่หากให้โอนเงินเข้าบัญชีจะได้รับเงินภายใน 7 วันทำการ
ผู้ที่ลงทะเบียนในเดือน เม.ย. 2563 หากผ่านการพิจารณา ก็จะได้รับเงินเดือนละ 5,000 บาท เป็นเวลา 3 เดือน แต่หากมาลงในเดือน พ.ค. 2563 ก็จะได้เงิน 2 เดือนเท่านั้น และหากมาลงในเดือน มิ.ย. 2563 ก็จะได้รับเงินช่วยเหลือเพียงแค่เดือนเดียว
สำหรับในวันนี้ 26 มี.ค. เวลา 15.00 น. นายอุตตม สาวนายน รมว.การคลัง และนายประสงค์ พูนธเนศ ปลัดกระทรวงการคลัง และ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.) จะแถลงข่าวชี้แจงขั้นตอนต่าง ๆ ตามมาตรการดูแลและเยียวยาผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 ต่อเศรษฐกิจไทยทั้งทางตรงและทางอ้อม ระยะที่ 2 เนื่องจากที่ผ่านมายังมีความสับสนอยู่มาก นอกจากนี้ยืนยันว่านายอุตตม ได้กักตัวครบ 14 วันแล้ว และแม้จะมีการกักตัวแต่ก็ยังสามารถทำงานได้ปกติ สำหรับการแถลงข่าวจะปฏิบัติตามมาตรฐานกระทรวงสาธารณสุขอย่างเข้มข้น
พาณิชย์ ตั้ง7วอร์รูม คุมการผลิต-กระจายสินค้า ส่งข้าวอาหารสดทุกพื้นที่
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พาณิชย์ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนด้านการพาณิชย์ (กรอ.พาณิชย์) พร้อมเปิดเผยว่า ประชุมมีความเห็นร่วมกันว่า ควรจะตั้งวอร์รูมสำหรับ 7 กลุ่มสินค้าและบริการสำคัญ ประกอบด้วย 1.อาหารสำเร็จรูปพร้อมทาน ประกอบด้วย บะหมี่สำเร็จรูป น้ำดื่ม น้ำผลไม้ เครื่องดื่มเป็นต้น 2.กลุ่มข้าว 3.กลุ่มปศุสัตว์ ประกอบด้วยไก่ ไข่ หมู กุ้งและสินค้าอื่นเป็นต้น 4.ผลไม้ซึ่งกำลังจะออกมามากในช่วงต้นเดือนหน้าที่จะถึงนี้แล้ว 5.วัตถุดิบที่ใช้ทำอาหารสัตว์ ซึ่งจะเป็นต้นทางของการผลิตไก่ หมู กุ้ง สินค้าบริโภคต่อไป ซึ่งสินค้าในกลุ่มนี้ประกอบด้วยมันสำปะหลัง ข้าวโพด ถั่วเหลืองเป็นต้น 6.เวชภัณฑ์ต่างๆ รวมทั้งเจลแอลกอฮอล์และหน้ากากอนามัย 7.บริการโดยเฉพาะกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับการขนส่งและโลจิสติกส์ต่างๆและการให้บริการ delivery ส่งอาหารไปถึงบ้าน
ด้านนายสมเด็จ สุสมบูรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ หรือ DITP นำทีมผู้ประกอบการส่งออกผลไม้ไทยกว่า 70 ราย ร่วมเจรจาซื้อขายกับผู้นำเข้า ผู้ซื้อ และตัวแทนจำหน่ายจากภูมิภาคต่างๆ 45 บริษัท จาก 13 ประเทศทั่วโลก พร้อมจัดพิธีลงนามความตกลงทางการค้า (MOU) สร้างความร่วมมือระหว่างผู้ผลิตและผู้ส่งออกไทยกับคู่ค้าจากสิงคโปร์และฮ่องกงในการซื้อขายสินค้าผลไม้สด ผักสด และผลไม้อบแห้งต่างๆ กว่า 10,000 ตัน รวมมูลค่าการซื้อขายกว่า 1,095 ล้านบาท เพื่อรองรับผลผลิตที่จะออกมาจำนวนมากในช่วงฤดูกาลผลไม้ที่จะถึง ไม่ว่าจะเป็นทุเรียน มังคุด และลำไย ซึ่งถือเป็นผลไม้ยอดนิยมในแถบเอเชีย รวมถึงผลไม้อื่นๆ ทั้งยังเป็นการกระชับความสัมพันธ์อันดีระหว่างผู้ซื้อ ผู้นำเข้า และผู้ประกอบการส่งออกผลไม้ไทยอีกด้วย
กพท.อนุมัติแอร์ไลน์หยุดบิน
นายจุฬา สุขมานพ ผู้อำนวยการสำนักงานการบินพลเรือน แห่งประเทศไทย (กพท.) กล่าวว่า การประชุมร่วมกับผู้ประกอบการสายการบินเมื่อวาน โดยสายการบินได้ยื่นแผนการยกเลิกเส้นทางบินทั้งในประเทศและต่างประเทศ จากผลกระทบการระบาดของไวรัส โควิด-19 ทำให้จำนวนผู้โดยสารลดลงจำนวนมากและอย่างรวดเร็ว ขณะนี้ตั้งแต่ช่วงเดือนมกราคมถึงมีนาคมที่ยังอยู่ในช่วงการบินฤดูหนาว กพท.ได้ประเมินผลกระทบสำหรับธุรกิจการบินไปก่อนหน้านี้แล้วว่า ทำให้เที่ยวบินลดลง 9,797 เที่ยวบิน เลขผู้โดยสารหายไปกว่า 3,000,000 คน
ส่วนช่วงสัปดาห์ สุดท้ายของเดือนมีนาคม ซึ่งปกติสายการบินจะมีการเตรียมจัดทำแผนการบินในช่วงฤดูร้อน ตั้งแต่เดือนเมษายนจนถึงเดือนตุลาคม ซึ่งปกติจำนวนผู้โดยสารก็จะน้อยกว่าช่วงการบินฤดูหนาวอยู่แล้ว ซึ่งสายการบินแต่ละแห่งจะต้องไปจัดการแผนตารางการบินของตัวเอง ซึ่งหากสถานการณ์การระบาดของไวรัส โควิด-19 ยังหนักหน่วงต่อไป การที่สายการบินจะกลับมาทำการบินได้คงเป็นเรื่องยาก หวังว่าปัจจัยบวก คือฤดูร้อนในยุโรป และการคิดวัคซีนรักษาจะช่วยทำให้สถานการณ์ดีขึ้น
ตามหาผู้โดยสาร TG 923 บินไทยไปเยอรมนี พบคนติดโควิด-19 เดินทางด้วย
แฟนเพจเฟซบุ๊ก สมาคมนักเรียนไทยในเยอรมนีฯ (ส.น.ท.ย.), TSVD ได้โพสต์ข้อความระบุว่า โปรดทราบจากที่ได้รับแจ้งมาว่ามีผู้ที่เดินทางในเที่ยวบินต่อไปนี้ ตรวจพบว่าติดเชื้อโควิด-19 จึงขอให้ทุกคนช่วยกันแชร์ข้อมูลต่อไปให้คนรู้จักในเที่ยวบินนี้ หรือคนใกล้ชิดให้มีการกักตัว และไปรับการตรวจหากมีอาการ
วันที่ 14 มี.ค. 63 TG 923 เวลา 20.55 FRA-BKK 13.45 วันที่ 17 มี.ค. 63 TG 923 เวลา 20.55 FRA-BKK 13.45 น.
หญิงไทย ติดโควิด-19 ในสวิตเซอร์แลนด์
สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาหรือไวรัสโควิด-19 ล่าสุด พบผู้ป่วยติดเชื้อทั้งหมดรวม 10,456 คน เสียชีวิต 145 คน และรักษาหาย 131 คน หนึ่งในนั้นพบผู้ป่วยที่ติดเชื้อไวรัสโคโรนาเป็นหญิงไทยอายุ 35 ปีที่สวิตเซอร์แลนด์รายแรก จากการยืนยันของแพทย์เมื่อวันที่ 22 มี.ค. 2563 ผลตรวจเลือดเป็นบวก (positive) ชื่อน.ส.นราทิพย์ เป็นเจ้าของร้านอาหาร พริกไทย ที่รัฐลูเซิล ขณะนี้กำลังรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลลูเซิลและขอแจ้งข่าวสำหรับเพื่อนๆ หรือผู้ใดที่ได้สัมผัสหรือใกล้ชิดน.ส.นราทิพย์ เจ้าของร้านอาหารพริกไทยที่เมืองลูเซิล ก็ขอให้คอยเฝ้าระวังหรือรีบไปพบแพทย์ด้วย