ความเคลื่อนไหวเมืองไทยวันนี้ 07.30น.วันพฤหัสบดีที่ 26 มีนาคม 2563

26 มีนาคม 2563, 07:09น.


ความเคลื่อนไหวเมืองไทยวันนี้ 07.30น.วันพฤหัสบดีที่ 26  มีนาคม 2563



ผอ.รพ.จุฬาภรณ์ ชี้ สถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 ในแต่ละประเทศต่างกัน  รายงานยอดผู้เสียชีวิต สำคัญกว่า ยอดผู้ติดเชื้อ



        สถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา หรือ โควิด-19 ศ.ดร. นพ. นิธิ มหานนท์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ได้เขียนข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ระบุว่า จำนวนตัวเลขผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 ที่ทุกคนทุกท่านเฝ้าดู เฝ้าตื่นเต้นกันอยู่ทุกวัน ทั้งของประเทศไทยและประเทศอื่นๆนั้นมีตัวแปรที่มีผลอยู่หลายเรื่องดังนี้

1) ถ้าเราตรวจมาก โอกาสพบจำนวนคนที่มีผลตรวจเป็นบวกก็มาก (ผลตรวจเป็นลบก็มากตามไปด้วย)

2) ประเทศใดหรือชุมชนใดจะมีการตรวจมากหรือน้อย ซึ่งขึ้นอยู่กับ

      2.1) ความเพียงพอของอุปกรณ์หรือเครื่องมือตรวจที่มี

      2.2) ข้อบ่งชี้ในการตรวจของแต่ละประเทศ เช่นบางประเทศตรวจเฉพาะคนที่มีอาการและมีความเสี่ยงที่ “อาจจะ” ได้รับเชื้อมา หรือบางประเทศตรวจทั้งคนที่มีอาการและมีความเสี่ยง ร่วมกับตรวจคนที่สัมผัสกับคนที่ตรวจพบเชื้อแล้วที่มีอาการด้วย หรือบางที่ ตรวจทุกคนที่สัมผัสกับคนที่มีเชื้อ ไม่ว่าคนที่สัมผัสนั้นจะมีอาการหรือไม่ อันนี้ภาษานักวิจัยเรียกว่าข้อบ่งชี้ในการรวบรวมกลุ่มประชากร ถ้าข้อบ่งชี้ในการตรวจหย่อน ถึงตรวจมากก็พบคนติดเชื้อน้อย แต่ถ้าข้อบ่งชี้เข้มงวด ถึงตรวจน้อยก็อาจจะพบคนติดเชื้อมาก (ในสัดส่วนที่สูงเมื่อเทียบกับคนที่ตรวจแล้วไม่พบ)



3) จำนวนประชากรและความหนาแน่นของประชากรในประเทศหรือในพื้นที่



          ดังนั้นการดูตัวเลขที่เพิ่มขึ้นของจำนวนคนตรวจพบเชื้อ แล้วเอามาคาดการณ์ว่าจะไปเหมือนประเทศนั้นประเทศนี้ หรือดูเทียบกับตัวเลขของประเทศนั้นประเทศนี้ว่าใครมากกว่ากัน ต้องเข้าใจเบื้องต้นด้วยว่า เคสของแต่ละประเทศนั้น มีที่มาของตัวเลขไม่เหมือนกัน (สัดส่วนของการตรวจพบเชื้อต่อจำนวนที่ตรวจทั้งหมดอาจจะพอบอกได้ว่าข้อบ่งชี้ในการตรวจของแต่ละประเทศหย่อนหรือเข้มงวด) อันนี้แค่เบื้องต้นที่ควรรู้ก่อนนำตัวเลขใดไปวางแผนป้องกันและต่อสู้ต่อได้



           จำนวนคนที่เสียชีวิตดูเหมือนจะสำคัญ เพราะในการต่อสู้กับโรคนี้ ท้ายที่สุดเราไม่อยากให้ใครตาย ( อย่างไรก็ตาม จำนวนผู้เสียชีวิตก็ยังขึ้นอยู่กับข้อบ่งชี้ในการตรวจเช่นกัน) จากเหตุผลข้างต้น การรู้จำนวนผู้ติดเชื้ออย่างเดียวเป็นตัวเลขเลื่อนลอยไม่มีประโยชน์ใดๆ การรู้จำนวนคนไข้ที่ตายยังพอมีประโยชน์ในทางการแพทย์บ้าง



สรุป



1) ตรวจมากก็พบมาก การดูจำนวนที่พบคนติดเชื้อจึงต้องรู้ยอดการตรวจด้วย

2) ข้อบ่งชี้ในการตรวจไม่เหมือนกัน ในแต่ละประเทศ

3) การดูจำนวนคนที่เสียชีวิตอาจจะดีที่สุด ถ้ารู้ว่าทุกประเทศตรวจทุกคนที่ตายด้วยอาการคล้ายๆกันหรือไม่ด้วย



           พร้อมมองเลยไปถึงว่าเราจะใช้เวลานานเท่าไหร่ในการสร้างภูมิต้านทานต่อโควิด-19 นี้ และที่สำคัญภูมิต้านทานนี้จะอยู่ไปนานแค่ไหน



นายกฯ ออกแถลงการณ์เตือนพวกฉวยโอกาสบนความทุกข์

          พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ออกแถลงการณ์ระบุว่า ประเทศไทยกำลังอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของภาวะวิกฤตจากไวรัสโควิด-19 และสถานการณ์อาจจะยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลต่อสุขภาพกาย สุขภาพใจ รวมทั้งรายได้ และการใช้ชีวิตของคนไทยทุกคน จึงจำเป็นต้องดำเนินมาตรการต่างๆ เพื่อให้สามารถหยุดการแพร่ระบาด พร้อมไปกับลดผลกระทบทางเศรษฐกิจ ที่จะเกิดขึ้นกับทุกคน โดยจะประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินทั่วราชอาณาจักร โดยอาศัยอำนาจตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินฯ เพื่อควบคุมสถานการณ์การระบาดของโรคติดต่ออันตรายร้ายแรงตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม 2563 เป็นต้นไป ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบแล้ว และจะยกระดับศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ที่ได้ตั้งไว้แล้ว ให้เป็นหน่วยงานพิเศษ ตามมาตรา 7 แห่งพระราชกำหนดฯ เพื่อบูรณาการทุกส่วนราชการ และสั่งการทุกส่วนราชการได้อย่างมีเอกภาพ รวดเร็ว นายกรัฐมนตรี ยืนยันว่า จะไม่มีการปิดร้านค้าที่จำหน่ายสิ่งของที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต และขอเตือนผู้ที่จะฉวยโอกาสหาผลประโยชน์บนความทุกข์ ว่าอย่าคิดว่าจะหลุดพ้นไปได้ ผมจะทำทุกทาง ที่จะใช้กฎหมายจัดการกับกลุ่มคนเหล่านี้ อย่างรวดเร็ว เด็ดขาด และไม่ปรานี





รองนายกฯ ย้ำมาตรการหลังประกาศใช้พรก.ฉุกเฉิน



           การประกาศพระราชกำหนด(พ.ร.ก.) การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 เพื่อควบคุมการระบาดของโรคโควิด-19 ในประเทศไทย นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ชี้แจงรายละเอียดประกาศ ดังนี้ 



-ไม่มีคำสั่งเคอร์ฟิว สั่งห้ามประชาชนออกจากบ้าน ประชาชนจึงยังออกจากบ้านได้ตลอดเวลา



-ไม่มีการสั่งปิดประเทศ เนื่องจาก คนไทยยังเดินทางกลับเข้าประเทศได้



-ยังไม่มีการปิดเมือง เพราะประชาชนยังเดินทางข้ามจังหวัดได้



         สำหรับประกาศที่อาศัยอำนาจพระราชกำหนดที่จะออกมาจะมีทั้งสิ้น 4 ฉบับ สาระสำคัญอยู่ที่ฉบับ 4 ว่าด้วยข้อกำหนดต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับการควบคุมพฤติกรรมของประชาชนทั่วประเทศ มีทั้งสิ้น 15-17 ข้อ แบ่งเป็น 3 ประเภทพฤติกรรม ประกอบด้วย



-ห้ามทำ, ให้ทำ และควรทำ



ห้ามทำ 



-ห้ามเข้าพื้นที่เขตกำหนด เช่น สนามมวย สถานบันเทิง  ส่วนสถานที่ท่องเที่ยวสาธารณะ หรือ ทางธรรมชาติ ต้องพิจารณาตามความเหมาะสม



-ห้ามเดินทางเข้าในราชอาณาจักรโดยยานพาหนะทุกจุด ทุกด่าน ยกเว้น ผู้มีสัญชาติไทย เพียงแต่ต้องมีเอกสารสำคัญใบรับรองทางการแพทย์ และยังยกเว้นบุคคลในคณะทูตโดยแจ้งกระทรวงการต่างประเทศของไทย ต้องมีใบรับรองแพทย์ และผู้ขนส่งสินค้า เมื่อส่งสินค้าเสร็จต้องออกไปโดยเร็ว ห้ามชุมนุม ห้ามเผยแพร่ข่าวเท็จ ทำให้เกิดการตื่นตระหนก



ให้ทำ 



-เช่นให้หน่วยงานเตรียมบุคลากร เตรียมยา โรงพยาบาลสนาม สถานที่ หรือเช่าโรงแรม พักรักษาหรือกักกันผู้ป่วย รวมถึงการใช้อาคารเอกชนเป็นโรงพยาบาลสนามให้พร้อม ซึ่งปัจจุบันมีการเตรียมการไปแล้วบางส่วน



ควรทำ 



-เป็นคำแนะนำ บุคคล 3 กลุ่ม คือ บุคคลที่อายุเกินกว่า 70 ปีขึ้นไป บุคคลที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน ความดัน ทางเดินหายใจ โรคปอด และเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ไม่ควรออกจากบ้าน



          ส่วนประกาศ 3 ฉบับที่เหลือ



-ฉบับแรกจะเกี่ยวกับการโอนอำนาจ 40 ฉบับเพื่อความรวดเร็วในการดำเนินการ เเละเป็นการโอนอำนาจของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างๆมาเป็นของนายกรัฐมนตรีมีอำนาจในการสั่งการเสมือนนายกรัฐมนตรีเป็นเจ้ากระทรวง แต่รัฐมนตรียังคงเป็นเจ้ากระทรวงเหมือนเดิม ส่วนสาเหตุที่เว้นระยะ 2 วันก่อนประกาศใช้จริง เพื่อชี้แจงให้ประชาชนเข้าใจ และเจ้าหน้าที่ต้องรับรู้เตรียมพร้อมปฏิบัติ เมื่อมีการฝ่าฝืนจะมีผลกระทบจริง จึงถือเป็นการเตือนให้รู้ล่วงหน้า



-ฉบับที่ 2 จะเกี่ยวกับการแต่งตั้งผู้รักษาสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยนายกรัฐมนตรีจะเป็นผู้มีอำนาจสั่งการ



-ฉบับที่ 3 เกี่ยวกับการจัดตั้งศูนย์บริการสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 โดยจะมีการจัดตั้งศูนย์ย่อยอีก 5-6 ศูนย์ และบูรณาการการจัดการร่วมกันเพื่อให้เกิดความเป็นเอกภาพ



-งานใดที่เป็นของรัฐ แต่มีการเชิญสำนักพระราชวัง เช่น พิธีพระราชทานปริญญาบัตร, งานสโมสรสันนิบาต ให้เลื่อนหรืองดไปก่อน



          ส่วนการจัดงานแต่งงาน, งานศพ เทศกาลเชงเม้ง ยังทำได้ แต่ต้องยึด 5 มาตรการของกระทรวงสาธารณสุขเช่นกัน พร้อมย้ำว่ามาตรการที่ออกมาทั้งหมดจะเริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันนี้ (26 มีนาคม ถึงวันที่ 30 เมษายน 2563) รัฐบาลมีอำนาจต่ออายุได้อีกครั้งละ 3 เดือน พร้อมจะประเมินสถานการณ์การระบาดเป็นรายวันก่อนจะมีคำสั่งใดออกมา อนาคตหากมีเคอร์ฟิวก็คาดว่าจะเป็นการสั่งห้ามออกนอกบ้านตลอดเวลา เนื่องจากโรคสามารถแพร่ระบาดได้ตลอดเวลา 



วันนี้ เจ้าหน้าที่ตำรวจ และทหารร่วมตั้งด่านตรวจ หรือจุดสกัด สกัด COVID-19



          นายฉัตรชัย พรหมเลิศ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ส่งหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัด ทุกจังหวัด หลังมีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร ลงวันที่ 25 มี.ค.2563 โดยให้จัดทำคำสั่งมอบหมายเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ และทหารในพื้นที่ ร่วมกันตั้งด่านตรวจหรือจุดสกัด ดูแลการเดินทางข้ามพื้นที่จังหวัด เพื่อจัดระเบียบการเดินทางการจราจร การเฝ้าระวัง หรือสังเกตผู้เดินทางและพฤติกรรมที่เสี่ยงต่อการติดต่อโรค ตั้งแต่ เวลา 00.01 น. ของวันพฤหัสที่ 26 มีนาคม 2563 เป็นต้นไป



ไทยมีผู้ป่วยสะสมเพิ่มเป็น 934 คน แพทย์พี่เลี้ยงป่วย 2

          นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน สาธารณสุขนิเทศก์ เขตสุขภาพที่ 10 และโฆษกกระทรวงสาธารณสุข แถลงความคืบหน้าของสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ประเทศไทยพบผู้ป่วยยืนยันสะสม 934 คน กลับบ้านแล้ว 70 คนและรักษาอยู่ในโรงพยาบาล 860 คนมีผู้ป่วยอาการหนัก 4 คน และเสียชีวิต 4 ราย โดยในวันนี้พบผู้ป่วยรายใหม่อีก 107 คน นับเป็นรายที่ 828-934 โดยในกลุ่มนี้เป็นบุคลากรทางการแพทย์จำนวน 2 คน ซึ่งมีผู้สัมผัสใกล้ชิดเป็นบุคลากรทางการแพทย์ห้องผ่าตัด และแพทย์ร่วมงานรวม 25 คน ทั้งหมดถูกพักงานและอยู่ที่บ้านเพื่อกักกันตนเอง



ตร.บช.น และ ตร.ภาค 1 เริ่มตั้งด่านตรวจควบคุมการแพร่ระบาดโควิด-19 ทั้ง 7 จุด ตั้งแต่เช้า



- ถนนแจ้งวัฒนะ บริเวณสะพานข้ามแยกคลองประปา ,



- ถนนสุวินทวงศ์ บริเวณใต้ด่วนมหานคร



- ถนนคู่ขนานกาญจนาภิเษก ซอย 39



- ถนนสุขุมวิท บริเวณ BTS แบริ่ง



- ถนนราชพฤกษ์ บริเวณหน้าศูนย์โตโยต้า พื้นที่ตลิ่งชัน



- ถนนสุขสวัสดิ์ ใต้สะพานภูมิพล



-  ถนนพระราม 2 ซอยพระราม 2 ซอย 92



หมายเหตุ : เป็นด่าน 24 ชม. ตรวจบัตรประชาชน,ตรวจการใส่หน้ากากอนามัย,วัดไข้ , ซักประวัติการเดินทาง ขอให้ประชาชนเผื่อเวลาเดินทางอย่างน้อย 1 ชั่วโมง

ข่าวทั้งหมด

X