สถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา หรือ โควิด-19 ศ.ดร.นพ.นิธิ มหานนท์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ได้เขียนข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ระบุว่า จำนวนตัวเลขผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 ที่ทุกคนทุกท่านเฝ้าดู เฝ้าตื่นเต้นกันอยู่ทุกวัน ทั้งของประเทศไทยและประเทศอื่นๆนั้นมีตัวแปรที่มีผลอยู่หลายเรื่องดังนี้
1) ถ้าเราตรวจมาก โอกาสพบจำนวนคนที่มีผลตรวจเป็นบวกก็มาก (ผลตรวจเป็นลบก็มากตามไปด้วย)
2) ประเทศใดหรือชุมชนใดจะมีการตรวจมากหรือน้อย ซึ่งขึ้นอยู่กับ
2.1) ความเพียงพอของอุปกรณ์หรือเครื่องมือตรวจที่มี
2.2) ข้อบ่งชี้ในการตรวจของแต่ละประเทศ เช่นบางประเทศตรวจเฉพาะคนที่มีอาการและมีความเสี่ยงที่ “อาจจะ” ได้รับเชื้อมา หรือบางประเทศตรวจทั้งคนที่มีอาการและมีความเสี่ยง ร่วมกับตรวจคนที่สัมผัสกับคนที่ตรวจพบเชื้อแล้วที่มีอาการด้วย หรือบางที่ ตรวจทุกคนที่สัมผัสกับคนที่มีเชื้อ ไม่ว่าคนที่สัมผัสนั้นจะมีอาการหรือไม่ อันนี้ภาษานักวิจัยเรียกว่าข้อบ่งชี้ในการรวบรวมกลุ่มประชากร ถ้าข้อบ่งชี้ในการตรวจหย่อน ถึงตรวจมากก็พบคนติดเชื้อน้อย แต่ถ้าข้อบ่งชี้เข้มงวด ถึงตรวจน้อยก็อาจจะพบคนติดเชื้อมาก (ในสัดส่วนที่สูงเมื่อเทียบกับคนที่ตรวจแล้วไม่พบ)
3) จำนวนประชากรและความหนาแน่นของประชากรในประเทศหรือในพื้นที่
ดังนั้นการดูตัวเลขที่เพิ่มขึ้นของจำนวนคนตรวจพบเชื้อ แล้วเอามาคาดการณ์ว่าจะเป็นเหมือนประเทศนั้นประเทศนี้ หรือดูเทียบกับตัวเลขของประเทศนั้นประเทศนี้ว่าใครมากกว่ากัน ต้องเข้าใจเบื้องต้นด้วยว่า เคสของแต่ละประเทศ มีที่มาของตัวเลขไม่เหมือนกัน (สัดส่วนของการตรวจพบเชื้อต่อจำนวนที่ตรวจทั้งหมดอาจจะพอบอกได้ว่าข้อบ่งชี้ในการตรวจของแต่ละประเทศหย่อนหรือเข้มงวด) อันนี้แค่เบื้องต้นที่ควรรู้ก่อนนำตัวเลขใดไปวางแผนป้องกันและต่อสู้ต่อได้
จำนวนคนที่เสียชีวิตดูเหมือนจะสำคัญ เพราะในการต่อสู้กับโรคนี้ ท้ายที่สุดเราไม่อยากให้ใครตาย ( อย่างไรก็ตาม จำนวนผู้เสียชีวิตก็ยังขึ้นอยู่กับข้อบ่งชี้ในการตรวจเช่นกัน) จากเหตุผลข้างต้น การรู้จำนวนผู้ติดเชื้ออย่างเดียวเป็นตัวเลขเลื่อนลอยไม่มีประโยชน์ใดๆ การรู้จำนวนคนไข้ที่เสียชีวิตยังพอมีประโยชน์ในทางการแพทย์บ้าง
สรุป
1) ตรวจมากก็พบมาก การดูจำนวนที่พบคนติดเชื้อจึงต้องรู้ยอดการตรวจด้วย
2) ข้อบ่งชี้ในการตรวจไม่เหมือนกัน ในแต่ละประเทศ
3) การดูจำนวนคนที่เสียชีวิตอาจจะดีที่สุด ถ้ารู้ว่าทุกประเทศตรวจทุกคนที่ตายด้วยอาการคล้ายๆกันหรือไม่ด้วย
ผมมองเลยไปถึงว่าเราจะใช้เวลานานเท่าไหร่ในการสร้างภูมิต้านทานต่อโควิด-19 นี้ และที่สำคัญภูมิต้านทานนี้จะอยู่ไปนานแค่ไหนแล้วครับ
นิธิ 25 มีนาคม 2563