พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ออกแถลงการณ์ ผ่านโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจ ประกาศใช้ พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ให้มีผลในวันที่ 26 มีนาคม 2563 เพื่อกำหนดมาตรการ แก้ปัญหา เฝ้าระวังและป้องกันไวรัสโควิด-19 โดยมีข้อความคือ
"โดยที่มีการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด 19 ซึ่งเป็นโรคที่ติดต่อได้ง่ายและเป็นอันตรายอย่างมากต่อชีวิตของผู้ได้รับเชื้อ ประกอบกับในขณะนี้ยังไม่มีวัคซีนป้องกันโรค ทั้งยังไม่มียารักษาโรคโดยตรง จึงมีผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตจากโรคดังกล่าวเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมากทั่วโลก จนองค์การอนามัยโลกต้องประกาศให้การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เป็นการระบาดใหญ่ และขอให้ประเทศในกลุ่มอาเซียนบังคับใช้มาตรการที่เข้มงวดเด็ดขาดยิ่งขึ้น
การระบาดของโรคดังกล่าวจึงเป็นสถานการณ์ อันกระทบต่อความสงบเรียบร้อยและความปลอดภัยของประชาชน ซึ่งต้องใช้มาตรการเข้มงวดและเร่งด่วน เพื่อควบคุมมิให้โรคแพร่ระบาดออกไปในวงกว้าง ประกอบกับมีการกักตุนสินค้าจำเป็นต่อการเฝ้าระวังและควบคุม ติดตามการระบาด การป้องกัน และการรักษาโรค ตลอดจนการกักตุนเครื่องอุปโภคบริโภคและสิ่งจำเป็นต่อการ ดำรงชีวิตประจำวันของประชาชน ซึ่งต้องป้องกันมิให้เกิดภาวะขาดแคลน อันจะเป็นการซ้ำเติมความเดือดร้อนของประชาชน กรณีจึงจำเป็นต้องใช้มาตรการเร่งด่วน เพื่อรักษาไว้ซึ่งความปลอดภัยของประชาชน และการดำรงชีวิตโดยปกติสุขของประชาชน
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 5 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 นายกรัฐนตรีโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรึ จึงให้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร สำหรับประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตท้องที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ให้ยังคงมีผลบังคับใช้ต่อไปควบคู่กัน ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม 2563 จนถึงวันที่ 30 เมษายน 2563 ประกาศ ณ วันที่ 25 มีนาคม 2563"
ทั้งนี้ การประกาศใช้พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ฉุกเฉิน ในวันนี้ มีการแถลงการณ์ออกมา 2 ฉบับ โดยสาระสำคัญคือ บังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม-30 เมษายน 2563
-ห้ามประชาชนเดินทางเข้า-ออกสถานที่เสี่ยงบางแห่ง
-ห้ามหรือจำกัดการเข้า-ออกประเทศ และการเคลื่อนย้ายของประชาชนจำนวนมากที่จะเดินทางข้ามเขตจังหวัด
-ควบคุมการใช้ยานพาหนะ, เส้นทางจราจร
-ควบคุมสินค้าและเวชภัณฑ์บางรายการ
-โอนอำนาจรัฐมนตรีบางกระทรวงมาเป็นอำนาจของนายกรัฐมนตรีให้สั่งการแทนได้
-ไม่ปิดร้านค้าที่ต้องจำหน่ายของที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต
นายกรัฐมนตรีจะเป็นผู้บัญชาการศูนย์บริการสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 โดยตรง และมอบอำนาจให้ปลัดกระทรวงต่าง ๆ เป็นผู้ควบคุมสถานการณ์ในแต่ละด้าน เช่น
-ให้ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ควบคุมดูแลการผลิตสินค้าและการกักสินค้า
-ให้ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ดูแลแก้ไขปัญหาด้านสาธารณสุข
-ให้ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ ช่วยคนไทยในต่างประเทศ
-ให้ผู้บัญชาการทหารสูงสุดดูแลเรื่องความมั่นคง
พร้อมย้ำว่าจากนี้จะลงโทษผู้กระทำผิดหรือผู้ที่ฉวยโอกาสเอาเปรียบประชาชนอย่างเด็ดขาด รวมถึงข้าราชการที่ละเลยการปฏิบัติหน้าที่ด้วย และขอให้ประชาชนฟังข้อมูลจากศูนย์แถลงข่าวรัฐบาลไวรัสสายพันธุ์ใหม่ Covid-19 เป็นหลัก
...