ความเคลื่อนไหวเมืองไทยวันนี้ 08.30 น.ประจำวันพุธที่ 25 มีนาคม 2563

25 มีนาคม 2563, 08:50น.


ความเคลื่อนไหวเมืองไทยวันนี้ 08.30 น.ประจำวันพุธที่ 25 มีนาคม 2563



สมเด็จพระสังฆราช พระราชทานโรงทานข้าวกล่องช่วยเหลือประชาชน



            สมเด็จพระสังฆราช มีพระบัญชาให้สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ สำรวจวัดทั่วประเทศที่มีความพร้อมในการจัดตั้งโรงทานช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 โดยจะทำอาหารแบบให้นำอาหารกลับไปทานที่บ้าน

          ส่วนการจัดสวดมนต์เพื่อเสริมสร้างกำลังใจให้ประชาชน นายเทวัญ ลิปตพัลลภ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ระบุว่า มหาเถรสมาคมมีข้อสรุปให้จัดสวดมนต์ในวันวันนี้ (25 มี.ค.) เวลา 16.00 น. โดยมีรายละเอียด คือ

          ในกรุงเทพมหานคร จะจัด 6 วัด ประกอบด้วย

-วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม

-วัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร

-วัดยานนาวา

-วัดเทพศิรินทร์

-วัดไตรมิตรวิทยารามวรวิหาร

-และวัดบวรนิเวศราชวรวิหาร

          ส่วนต่างจังหวัด จัดภาคละหนึ่งวัด เช่น ภาคเหนือ จัดที่วัดเจดีย์หลวงวรวิหาร จ.เชียงใหม่

          ทั้งนี้ ในการสวดมนต์จะไม่อนุญาตให้พุทธศาสนิกชนเข้าฟังที่วัด แต่จะมีการถ่ายทอดสดผ่านวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทยและช่องเอ็นบีที โดยมีคำสวดให้สวดตามด้านล่างหน้าจอและพระสงฆ์จะนั่งห่างกันอย่างน้อย 1 เมตร ตามมาตรการรักษาระยะห่างทางสังคม และก่อนสวดจะทำความสะอาดฆ่าเชื้อภายในอุโบสถ



จับตารัฐหาเงินกู้ แสนล้านบาท รับมือโควิด-19



          การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) ที่ทวีความรุนแรงขึ้น จำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ในไทยเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) เมเห็นชอบมาตรการดูแลเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบทั้งประชาชนและผู้ประกอบการอย่างเร่งด่วน ระยะที่ 2 ขณะเดียวกัน นายกรัฐมนตรี ยอมรับว่า กำลังมองหามาตรการที่อาจจะใช้เงินกู้บ้างในการใช้มาตรการเหล่านี้ เพราะงบประมาณปี 2563 มีจำกัด และงบกลางก็ใช้จ่ายไปพอสมควรแล้ว จึงจำเป็นจะต้องมีการจัดทำพระราชกำหนด(พ.ร.ก.) กู้เงินต่างๆ ขึ้นมาของกระทรวงการคลัง เพื่อเตรียมระยะที่ 3-4 ต่อไป ในการดูแลประชาชนให้มากที่สุด เพื่อลดการเลย์ออฟพนักงาน ให้ผู้ประกอบการมีเงินมีสภาพคล่อง



          แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลัง กล่าวว่า การออกพ.ร.ก.กู้เงิน สามารถทำได้ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 172 และมาตรา 22 ก็ให้อำนาจกระทรวงการคลังสามารถออกพ.ร.ก.กู้เงินเพื่อมาใช้ในการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น แต่กำหนดว่าการกู้เงินดังกล่าวจะต้องมีแผนงานหรือโครงการรองรับไว้อย่างชัดเจนว่าจะเอาไปทำอะไร จึงต้องมีการหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ชัดเจนก่อนออกพ.ร.ก.ว่า จะนำไปใช้ในเรื่องใดบ้าง แต่เบื้องต้นรมว.คลัง ประเมินว่าจะต้องกู้เงินมาใช้ประมาณ 200,000 ล้านบาท



          นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรียังสั่งการให้ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณไปพิจารณาปรับลดงบประมาณรายจ่ายประจำปี2563 ของแต่ละกระทรวงลงมาเพื่อโอนงบประมาณมาใช้เยียวยาผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 อีกประมาณ 200,000 ล้านบาทซึ่งเมื่อรวม 2 รายการจะตก 400,000 ล้านบาท ไม่รวมงบกลางฉุกเฉินอีก 96,000 ล้านบาท



คาด กนง.ลดดอกเบี้ยอีกร้อยละ  0.25



          ส่วนการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินหรือ กนง.ในวันนี้ นายสมประวิณ มันประเสริฐ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่และผู้บริหารสายงานวิจัยและหัวหน้าทีมวิจัยเศรษฐกิจ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา กำลังรอว่า การประชุม กนง.ในวันที่ 25 มีนาคม จะมีมาตรการอะไรออก มาเพิ่ม ซึ่งน่าจะเป็นเรื่องของความร่วมมือ ระหว่างภาครัฐเข้ามาช่วยเรื่องกฎหมายและ ค้ำประกันวงเงินกู้ เพราะเศรษฐกิจเป็นแบบนี้ วงเงินที่ต้องการน่าจะต้องมาก เช่น ประกาศรับซื้อสินทรัพย์ไม่จำกัด ซึ่งเราอาจจะทำคล้ายเฟด เพื่อโชว์ให้เห็นว่ามีเครื่องมือพร้อมจะใช้รองรับ เพื่อทำให้ผลของการคาดการณ์ ทำให้ตลาดไม่รัน (RUN) ดีไม่ดีอาจจะไม่ต้องใช้เครื่องมือเหล่านั้น



          นายเชาว์ เก่งชน กรรมการผู้จัดการ บริษัทศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด กล่าวว่า มาตรการที่ออกมาช่วยสภาพคล่องตลาดพันธบัตรรัฐบาล หุ้นกู้และกองทุนตราสารหนี้ น่าจะช่วยลดความกังวลผู้ลงทุนให้มีความเชื่อมั่นมากขึ้น และลดความตื่นตระหนกลง ส่วนแนวโน้มการแพร่ระบาดของไวรัส น่าจะกระทบเศรษฐกิจค่อนข้างสาหัส ซึ่งกนง.น่าจะปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลง ร้อยละ 0.25  อีกครั้ง เพราะมาตรการควบคุมการแพร่ระบาด หรือล็อกดาวน์ปิดร้าน ค้า หรือห้าง ในหลายพื้นที่ ทำให้คนขาดรายได้ ซึ่งเป็นผลกระทบที่เพิ่มขึ้นมา จากก่อนหน้าที่รับผลกระทบจากการท่องเที่ยวมาแล้ว จึงเป็นแนวทางที่เหมาะสมในการใช้มาตรการออกมาดูแล เข้าใจว่ารัฐบาลน่าจะใช้เงินฉุกเฉินจากผลกระทบที่เกิดขึ้นค่อนข้างมาก



          นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ขณะนี้ได้กำชับให้ทางสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เร่งไปตรวจดูความพร้อมของระบบการคืนเงินค่าประกันการใช้ไฟฟ้า (มิเตอร์ไฟฟ้า) ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 17 มีนาคม ให้กับประชาชนทั่วไปและเจ้าของกิจการขนาดเล็ก ทั้งในส่วนของการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) คิดเป็นวงเงินถึง 32,700 ล้านบาท โดยมีจำนวนผู้ได้รับสิทธิถึง 22.17 ล้านราย



          ล่าสุด กกพ.ได้ออกประกาศหลักเกณฑ์เรื่องการคืนหลักประกันการใช้ไฟฟ้าให้แก่ผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทที่ 1 บ้านอยู่อาศัย และประเภทที่ 2 กิจการขนาดเล็ก พ.ศ.2563 แล้ว โดย กฟน.และ กฟภ.จะเปิดให้ประชาชนตรวจสอบสิทธิและลงทะเบียนได้ตั้งแต่วันที่ 25 มีนาคม 2563 นี้ ตามช่องทางที่กำหนดไว้และเริ่มทยอยคืนเงินให้ประชาชนตั้งแต่วันที่ 31 มีนาคม 2563 เป็นต้นไป



          มาตรการคืนเงินประกันมิเตอร์ไฟฟ้าครั้งนี้ มั่นใจจะทำให้เกิดเงินหมุนเวียนเศรษฐกิจฐานรากตลอดช่วงเดือนเมษายนนี้ สามารถนำไปจับจ่ายใช้สอยสินค้าหรือเก็บไว้ใช้ยามจำเป็น ส่วนจำนวนเงินมากหรือน้อยนั้นขึ้นกับวงเงินที่วางประกันหรือขนาดมิเตอร์ไฟฟ้าตามประกาศของ กกพ. อาทิ ถ้าเป็นระดับครัวเรือน เงินคืนก็อยู่ตั้งแต่ 300-6,000 บาท ส่วนประเภทกิจการขนาดเล็กนั้นตัวเลขเงินคืนจะเป็นหลักหมื่นบาทขึ้นไป         



สั่งขัง 15 วัน คนไม่ได้ป่วยทางจิตแต่ป่วนสถานีรถไฟฟ้า



           กรณีที่มีการแชร์คลิปวิดีโอกล้องวงจรปิดในโซเชียลมิเดีย พร้อมระบุข้อความ “เกิดขึ้นที่ BTS สถานีสนามกีฬาฯ” โดยพบว่า ชายคนหนึ่งได้เข้ามาในลิฟต์ก่อนที่จะนำมือไปป้ายน้ำลายตามตำแหน่งต่างๆ ในลิฟต์จนทั่ว รวมทั้งควักเป้าและป้ายไปยังปุ่มกดต่างๆ นั้น พ.ต.อ.กฤษณะ  พัฒนเจริญ รอง โฆษก ตร. เปิดเผยว่า พนักงานสอบสวน สน.ปทุมวัน ได้นำตัวผู้ต้องหาฟ้องต่อศาลแขวงปทุมวัน ในความผิดฐานกระทำด้วยประการใดๆ ให้ของโสโครกเปรอะเปื้อนทรัพย์ หรือแกล้งทำให้ของโสโครก เป็นที่เดือดร้อนรำคาญ ตาม ป.อาญา มาตรา 389 ประกอบกับผลการตรวจสอบร่างกายและการวินิจฉัยโรคของแพทย์ พบว่าผู้ต้องหาไม่ได้มีอาการป่วยทางจิตและไม่ได้ติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 โดยศาลแขวงปทุมวัน ได้มีคำพิพากษาให้ จำคุก 15 วัน โทษจำคุกเปลี่ยนเป็นกักขัง ณ สถานกักขังกลาง จังหวัดปทุมธานี 



          รองโฆษกตร.ฝากเตือนประชาสัมพันธ์ประชาชน ถึงการป้องกันตนเองจากโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019  (COVID-19) โดยใช้หลักการป้องกันโรคคิดต่อทางเดินหายใจ ได้แก่ สวมหน้ากากอนามัย หมั่นล้างมือให้สะอาดด้วยน้ำและสบู่ หรือเจลล้างมือแอลกอฮอล์ ไม่ใช้ของส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น รับประทานอาหารปรุงสุกร้อน ไม่ไปที่ชุมชนหรือแออัด ไม่คลุกคลีกับผู้ป่วยโรคทางเดินหายใจ เว้นระยะห่างในการพูดคุย การนำแนวทาง Social Distancing มาปรับใช้ในชีวิตประจำวัน ตลอดจนการ "อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ" เพื่อลดการแพร่ระบาดของโรค



 



 

ข่าวทั้งหมด

X