ความเคลื่อนไหวเมืองไทยวันนี้ 07.30น.วันพุธที่ 25 มีนาคม 2563
ตามติดพรก.ฉุกเฉิน รับมือโควิด-19 ประชุมเตรียมความพร้อมวันนี้
มีรายงานจากทำเนียบรัฐบาลหลังจากคณะรัฐมนตรี ให้อำนาจพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นากรัฐมนตรี ประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน จากนั้น นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ได้เรียกตัวแทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาหารือ ที่ห้องทำงานบนตึกบัญชาการ 1 โดยมี นายดิสทัต โหตระกิตย์ เป็นเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ปลัดกระทรวงทุกกระทรวง พล.อ.สมศักดิ์ รุ่งสิตา เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) และ พล.อ.พรพิพัฒน์ เบญญศรี ผู้บัญชาการทหารสูงสุด (ผบ.ส.ส.) ซึ่งเป็นตัวแทนเหล่าทัพ พร้อมตัวแทนทั้งฝ่ายพลเรือน ตำรวจและทหาร เข้าร่วมประชุม คาดว่า เป็นการหารือเพื่อวางโครงสร้างการทำงาน ศอฉ.เพื่อแบ่งหน้าที่และเตรียมงานในส่วนของแต่ละหน่วยงาน ก่อนที่นายกรัฐมนตรีจะเป็นผู้แถลงประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ด้วยตนเอง ในวันที่ 26 มี.ค.นี้
ในส่วนของศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด -19 เมื่อมีการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน จะมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม เป็นประธาน มี นายประทีป กีรติเลขา รองเลขาธิการนายกฯ ฝ่ายการเมือง เป็นเลขานุการศูนย์ฯโดยมีสำนักเลขาธิการศูนย์ฯ มีคณะที่ปรึกษาด้านการแพทย์และคณะที่ปรึกษาด้านธุรกิจ เป็นองค์ประกอบ โดยภายใต้ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาด แบ่งเป็น
-ศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข กรณีโรคติดเชื้อ โควิด-19 โดยกระทรวงสาธารณสุขดูแล
-ศูนย์ปฏิบัติการมาตรการป้องกันและช่วยเหลือประชาชน โดยกระทรวงมหาดไทย กระทรวงกลาโหม พลเรือน ตำรวจ ทหาร ดูแล
-ศูนย์ปฏิบัติการด้านสื่อสังคมออนไลน์ โดยมีกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมดูแล
-ศูนย์ข้อมูลมาตรการแก้ไขปัญหาจากโรคติดเชื้อโควิด-19 มีสำนักนายกรัฐมนตรีดูแล
-ศูนย์ปฏิบัติการมาตรการเดินทางเข้าออกประเทศ และการดูแลคนไทยในต่างประเทศ มีกระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงคมนาคม กระทรวงมหาดไทย และ สตม.ดูแล
-ศูนย์กระจายหน้ากากและเวชภัณฑ์สำหรับประชาชน มีกระทรวงมหาดไทย กระทรวงพาณิชย์และกระทรวงสาธารณสุขดูแล
-ศูนย์ปฏิบัติการควบคุมสินค้า มีกระทรวงพาณิชย์ดูแล และ
-ศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนการปฏิบัติของทหาร-ตำรวจ มีกองบัญชาการกองทัพไทย ทบ. ทร. ทอ.และ ตร.ดูแล
เสาร์นี้ เริ่มลงทะเบียน ‘เราจะไม่ทิ้งกัน’
นายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.)คาดว่า ในวันเสาร์ที่ 28 มี.ค.นี้ เว็ปไซค์"เราจะไม่ทิ้งกัน.com" จะสามารถเปิดให้ประชาชนที่เป็นแรงงานนอกระบบมาลงทะเบียนเพื่อรับเงินเยียวยาจากรัฐบาลคนละ 5,000 บาท เป็นระยะเวลา 3 เดือนได้ หรือ หากไม่สะดวกสามารถลงทะเบียนผ่านสาขาของธนาคารรัฐ 3 แห่ง คือ ธนาคารออมสิน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.)และ ธนาคารกรุงไทย ได้เช่นกัน โดยผู้ที่มีคุณสมบัติครบจะได้รับเงินภายใน 5 วัน หลังลงทะเบียนผ่านระบบพร้อมเพย์ หรือ บัญชีธนาคารของตนเอง ซึ่งเงินจะเริ่มโอนผ่านธนาคารกรุงไทยรอบแรกในเดือนเม.ย.นี้
สำหรับผู้ที่มีสิทธิ จะต้องเป็นแรงงานที่ไม่อยู่ในระบบประกันสังคม และ ต้องเป็นผู้ได้รับความเดือดร้อนได้รับผลกระทบจากการสั่งปิดกิจการในช่วงที่เกิดเหตุระบาดโควิด-19 จริง โดยจะใช้ระบบ AI เข้ามาตรวจสอบลิงค์ข้อมูลจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงมหาดไทย สำนักงานประกันสังคม โดยผู้ประกันตนตามมาตรา 40 คือกลุ่มอาชีพอิสระของกองทุนประกันสังคม จะได้รับสิทธิ์ในเงินเยียวยาด้วย
ส่วนของแรงงานที่อยู่ในระบบประกันสังคม กรณีที่ต้องว่างงานในช่วงนี้ เนื่องจาก มีการปิดกิจการเพื่อป้องกันการระบาดของโรค จะได้รับเงินจากกองทุนประกันสังคมในกรณีว่างงานในอัตราร้อยละ50 ของค่าจ้าง (แต่ค่าจ้าง cap ไว้ไม่เกิน 15,000) โดยกรณีนายจ้างไม่ให้ทำงานจะรับเงินในกรณีว่างงาน ไม่เกิน 180 วัน,กรณีรัฐสั่งให้หยุดงานรับเงินไม่เกิน 90 วัน
ยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 สะสม แตะระดับ 827 คน
นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกกระทรวงสาธารณสุข แถลงความคืบหน้าสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 ประจำวันที่ 24 มีนาคม 2563 โดยเปิดเผยว่า พบผู้เสียชีวิตในไทยเพิ่ม 3 ราย รวมเป็นเสียชีวิต 4 รายแล้ว ผู้ป่วยหายดีกลับบ้านได้ 5 ราย ส่วนผู้ป่วยที่ยืนยันติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่เพิ่ม 106 คน จำแนกได้เป็น
1. สัมผัสเกี่ยวข้องผู้ป่วยก่อนหน้า 25 ราย
1.1 สนามมวย 5 คน เช่น นักมวย เซียนมวย ผู้ปล่อยแถวนักมวย ผู้ชมมวย กลุ่มนี้ พบผู้ป่วยที่จังหวัด กทม. อุบลราชธานี นครปฐม
1.2 กลุ่มสถานบันเทิง ย่านทองหล่อ นานา RCA พบ 6 ราย เป็นนักเที่ยว และพนักงาน พบผู้ป่วยอยู่ที่ กทม. สระบุรี บุรีรัมย์ และ ชลบุรี
1.3 สัมผัสกับผู้ป่วยติดเชื้อ 12 ราย โดยเป็นกลุ่มที่สังสรรค์ หรือทำงานกับชาวต่างชาติ นั่งรถคันเดียวกัน ร่วมประชุม หรือรับประทานอาหารร่วมกัน
1.4 ร่วมพิธีทางศาสนาที่มาเลเซีย 2 ราย พบที่ จ.ปัตตานี
2. กลุ่มผู้ป่วยใหม่ 34 ราย
2.1 เดินทางจากต่างประเทศ เป็นชาวต่างชาติ 20 ราย และชาวไทยที่เดินทางจากต่างประเทศ 8 ราย เป็นนักศึกษา พนักงานที่ร้านต่างๆในปอยเปต พนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน ฝรั่งเศส สวีเดน ปากีสถาน อังกฤษ และนิวซีแลนด์
2.2 ทำงานในที่แออัด ใกล้ชิดชาวต่างชาติ 10 ราย ผู้ป่วยกลุ่มนี้มีอาชีพ รปภ. พนักงานขับรถ รับรถ พนักงานในสถานบันเทิง กทม. ชลบุรี อุบลราชธานี จันทบุรี บุรีรัมย์ ภูเก็ต และนครราชสีมา
2.3 บุคลากรทางการแพทย์ 4 ราย ได้แก่ แพทย์ พยาบาล ที่ จ.ภูเก็ต ยะลา บุรีรัมย์ และนครปฐม
กลุ่มนี้เป็นกลุ่มใหม่ที่เพิ่งเพิ่มขึ้นมา ส่วนใหญ่เกิดจากผู้ป่วยไม่ยอมแจ้งประวัติ ปกปิดประวัติเสี่ยง ทำให้บุคลากรทางการแพทย์ ไม่สามารถป้องกันตัวเอง จนได้รับเชื้อไป
3. กลุ่มรอสอบเพิ่มเติม 47 ราย ได้รับผลแล็บยืนยันพบเชื้อ แต่ยังอยู่ระหว่างสอบสวนโรค
ในส่วนของผู้ป่วยอาการหนัก 4 ราย จากเดิม 7 ราย ตัวเลขยังคงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ รอการยืนยันทั้งในส่วนกลางและต่างจังหวัด โดยทุกรายต้องใส่เครื่องช่วยหายใจ และเฝ้าระวังใกล้ชิด
ผู้เสียชีวิตเพิ่ม 3 ราย รายแรก ชายไทย อายุ 70 ปี มีโรควัณโรคเป็นโรคร่วม รักษาตัวที่สถาบันบำราศนราดูร
รายที่ 2 ชายไทย อายุ 79 ปี เกี่ยวข้องกับสนามมวย อาการหนักตั้งแต่แรกรับ เข้ามารักษาเมื่อ 16 มี.ค. ที่สถาบันบำราศนราดูร มีโรคประจำตัวร่วมหลายโรค
รายที่ 3 ชาวไทย อายุ 45 ปี มีภาวะโรคอ้วนและโรคเบาหวาน รักษาตัวที่โรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่ง สรุปจนถึงขณะนี้ ไทยมีผู้ป่วยรักษาหาย 57 ราย ยังรักษาอยู่ 766 ราย เสียชีวิต 4 ราย
ศูนย์ทนายความฯ เรียกร้องตร.ชี้แจง หลังจับมือโพสต์ กลับจากสเปนไม่ได้ผ่านจุดคัดกรองทั้งที่กำลังกักตัว
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่า ได้รับแจ้งจากนายดนัย อุศมา ศิลปินวัย 42 ปี ว่าถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าจับกุมจากแกลลอรี่ในจังหวัดภูเก็ต ตามหมายจับศาลอาญา ที่ 400/2563 ลงวันที่ 23 มี.ค. 2563 ในข้อหา "นำเข้าข้อมูลคอมพิวเตอร์ ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะก่อให้เกิดความตื่นตระหนกแก่ประชาชน" หลังถูกจับกุม ตำรวจได้นำตัวเขาไปทำบันทึกการจับกุมที่ กองกำกับการสืบสวนตำรวจภูธรจังหวัดภูเก็ต ก่อนควบคุมตัวขึ้นเครื่องบินจากภูเก็ตในเวลาประมาณ 17.00 น. เพื่อนำตัวมาที่กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) ขณะตำรวจเข้าจับกุมนั้น เขากักตัวเองอยู่ที่ชั้น 3 ของแกลเลอรี่ ส่วนภรรยากำลังลงมาเปิดร้านตอนใกล้เวลา 12.00 น. ซึ่งสเปนเป็นหนึ่งในนั้น จะต้องถูกคุมไว้สังเกตอาการภายในที่พักอาศัย 14 วัน (กรณีดนัยคือวันที่ 16-29 มี.ค. 2563) แต่ตำรวจกลับเลือกใช้วิธีการออกหมายจับ และติดตามจับกุมนายดนัยมาดำเนินคดีในทันที ทั้งที่กรณีนี้สามารถออกเป็นหมายเรียกและกำหนดให้เข้ารับทราบข้อกล่าวหาภายหลังช่วงเวลากักตัวได้
นายดนัย กล่าวว่าทางการไทยควรให้ความสำคัญในการคัดกรอง จึงโพสต์ข้อความดังกล่าวตามข้อเท็จจริงที่ได้พบเห็น โดยไม่ได้มีเจตนาแอบแฝงแต่อย่างใด หลังสอบปากคำนายดนัยถูกนำตัวไปคุมขังไว้ที่ สน.ทุ่งสองห้อง ร่วมกับผู้ต้องขังในคดีอื่นๆ ซึ่งถูกขังที่ สน.อยู่ก่อนแล้ว อีก 5 ราย ต่อมา ญาติของนายดนัย ผู้ต้องหายื่นคำร้องพร้อมหลักทรัพย์เป็นเงินสด 1 แสนบาทขอปล่อยชั่วคราวในชั้นฝากขัง ศาลพิจารณาแล้วมีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวโดยตีราคาประกัน 100,000 บาท ในชั้นฝากขังโดยไม่กำหนดเงื่อนไขใดๆ
อินเดีย ใช้มาตรการล็อกดาวน์ 21 วัน หลังยอดผู้ป่วยใหม่เพิ่มขึ้น
นายกรัฐมนตรีนาเรนทรา โมดีของอินเดียแถลงทางโทรทัศน์เมื่อวานนี้ ขอให้ประชาชน 1.3 พันล้านคนทั่วประเทศกักกันตัวอยู่ในบ้าน 21 วัน ตั้งแต่หลังเที่ยงคืนวานนี้ เพื่อลดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในอินเดีย เพื่อความปลอดภัย ก่อนจะประสบปัญหาวิกฤตหนักที่สุดในรอบ 21 ปี พร้อมขอให้ทุกคนรับผิดชอบต่อสังคม
นายโมดี ขอให้ประชาชนอย่าตื่นตระหนก ซื้อสินค้าไว้กักตุน ระบุว่ารัฐบาลให้ความมั่นใจว่าสินค้าทุกอย่าง จะมีอย่างเพียงพอ ตามคำสั่งนี้ ยังไม่ชัดเจนว่า ประชาชนสามารถจะออกมาซื้ออาหารและสิ่งของ ที่จำเป็นอื่นๆหรือไม่ แต่มีความเคลื่อนไหว หลังการประกาศของนายกรัฐมนตรี ทำให้ประชาชนจำนวนมากไปยืนเข้าแถวยาวเหยียดที่ด้านนอกร้านค้าและร้านขายยาหลายแห่งในกรุงนิวเดลี เพื่อซื้อสินค้า ทำให้สินค้าหลายอย่าง เช่น ข้าวสาร แป้ง ขนมปัง ขนมปังกรอบและน้ำมัน ประกอบอาหารขายหมดอย่างรวดเร็ว มาตรการรณรงค์ให้ประชาชนกักตัวอยู่ในบ้าน มีขึ้นหลังอินเดียพบผู้ป่วยรายใหม่เพิ่มในระยะหลังๆมานี้ มีผู้ป่วยสะสม 536 คน เสียชีวิต 10 ราย รักษาหาย 40 คน