หุ้นไทย ปิดตลาดร่วงลง 81.15 จุด กังวลโควิด-19 เพิ่มขึ้น คนทยอยกลับภูมิลำเนา
หุ้นไทย ปิดตลาดครึ่งวันเช้าที่ 1,046.09 จุด ลดลง 81.15 จุด คาดแนวโน้มลดลงตามตลาดตลาดต่างประเทศ นายอภิชาติ ผู้บรรเจิดกุล ผู้อำนวยการสายงานวิเคราะห์เชิงกลยุทธ์ บล.ทิสโก้ กล่าวว่า ตลาดหุ้นไทยเช้านี้คาดว่าจะปรับตัวลง ในทิศทางเดียวกับตลาดต่างประเทศ ตลาดหุ้นในภูมิภาคเอเชียเช้านี้ ส่วนใหญ่ติดลบ วิตกผลกระทบจากจำนวนผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 เพิ่มมากขึ้น และผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจ รวมถึงวิตกมาตรการเยียวยาของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐฯ อาจมีความล่าช้า ขณะที่คนที่อยู่ในกรุงเทพฯและปริมณฑล ทยอยเดินทางกลับภูมิลำเนาไปยังต่างจังหวัดอาจสร้างปัญหาต่อไปได้ วันนี้ให้ติดตามตัวเลขส่งออกของไทยเดือนก.พ. ตลาดคาดการณ์ตัวเลขส่งออกลดลงร้อยละ 11 และให้ติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ต่อไป
สมาคมค้าทองคำ รายงานราคาทองคำวันนี้ปรับขึ้น 100 บาท ทองแท่งรับซื้อ 23,200 บาท ขายออก 23,300 บาท ทองรูปพรรณรับซื้อ 22,785.48 บาท ขายออก 23,800 บาท
คลัง จะเสนอการให้ความช่วยเหลือลูกจ้าง พนักงานที่หยุดงาน
นายธนกร วังบุญคงชนะ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ระบุว่า นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ระบุว่า วันพรุ่งนี้จะมีมาตรการดูแลและเยียวยาเศรษฐกิจระยะ 2 เสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) พิจารณา ซึ่งจะเป็นการดูแลประชาชนที่ได้รับผลกระทบ รวมถึงลูกจ้างในกิจการที่รัฐประกาศให้หยุดกิจการชั่วคราว เช่น พนักงานโรงแรม ร้านนวด ผับ บาร์ อาชีพอิสระ เชื่อว่า มาตรการดังกล่าวจะช่วยประชาชนที่ได้รับผลกระทบได้อย่างแน่นอน
ไทยพาณิชย์ ปล่อยซอฟต์โลนช่วยลูกค้าโดนพิษโควิด-19
นางพิกุล ศรีมหันต์ รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส ผู้บริหารสูงสุด กลุ่มธุรกิจ SMEs ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมต่างๆ ในวงกว้างมากยิ่งขึ้น ธนาคารไทยพาณิชย์ หาแนวทางให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการ ธนาคารพร้อมขานรับนโยบายภาครัฐเข้าร่วมในโครงการปล่อยกู้สินเชื่อจากภาครัฐดอกเบี้ยต่ำ หรือ ซอฟต์โลน ให้ผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม(เอสเอ็มอี) ที่ได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมจากการระบาดของโควิด-19 เพื่อเป็นเงินทุนในการเสริมสภาพคล่องและใช้สำหรับลงทุนในธุรกิจ ทั้งประเภทสินเชื่อระยะยาว และตั๋วสัญญาใช้เงิน ด้วยอัตราดอกเบี้ยต่ำร้อยละ 2 ต่อปี วงเงินสูงสุด 20 ล้านบาทต่อราย ระยะเวลาการกู้ยืมสูงสุดไม่เกิน 2 ปี ยกเว้นค่าธรรมเนียมเงินกู้ร้อยละ 1 คาดว่า จะมีลูกค้าเอสเอ็มอีมากกว่า 1,300 ราย ที่ได้รับผลกระทบเข้ามาขอสินเชื่อกับธนาคารเป็นวงเงินกว่า 20,000-30,000 ล้านบาท จากวงเงินรวม 1.3 แสนล้านที่รัฐบาลตั้งไว้ อย่างไรก็ตาม เชื่อว่า เอสเอ็มอีที่เข้ามาขอซอฟต์โลนจะใช้สินเชื่อด้วยความระมัดระวังและใช้อย่างคุ้มค่า จะไม่ก่อให้เกิดเป็นหนี้เอ็นพีแอล เมื่อสถานการณ์ต่าง ๆ กลับเข้าสู่ภาวะปกติ
นอกจากนี้ เพื่อเป็นการลดต้นทุนการทำธุรกรรม ธนาคารยกเว้นค่าธรรมเนียมการโอนเงินนาน 1 ปี ผ่านบริการ SCB Business Anywhere บริการธนาคารทางอินเตอร์เน็ตเพื่อธุรกิจ เพื่อช่วยให้การบริหารเงินสดของลูกค้าเป็นเรื่องง่ายได้ทุกที่ ใช้บริการเงินโอนได้โดยไม่ต้องไปใช้บริการที่สาขา อย่างไรก็ตาม สินเชื่อซอฟต์โลน ไม่สามารถใช้เพื่อวัตถุประสงค์ในการปรับโครงสร้างหนี้จากธนาคารอื่น (รีไฟแนนซ์)
ตร.เพิ่มความเข้มข้น ตรวจคัดกรองรถขนส่งสินค้า-คน ผ่านด่าน
พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เปิดเผยว่า ตามที่ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา จังหวัดสตูล จังหวัดยะลา จังหวัดนราธิวาส มีประกาศเพิ่มเติม กรณีการปิดด่านผ่านแดนทางบก(รวมท่าเรือ) ระหว่าง ไทย - มาเลเซีย โดยให้ระงับการเดินทาง เข้า - ออก ไทยของบุคคลทุกสัญชาติ รวมถึงคนไทยในมาเลเซียที่จะเดินทางกลับประเทศไทย (ยกเว้นรถบรรทุกขนส่งสินค้าที่เข้า – ออกได้เฉพาะบางจุด) ซึ่งมีผลตั้งแต่เวลา 00.00 น. ของวันที่ 23 มี.ค. 2563 เป็นต้นไป สำหรับคนไทยที่ประสงค์จะเดินทางกลับไทยสามารถเดินทางกลับได้ทางอากาศเท่านั้น พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ(ผบ.ตร.) สั่งการให้ พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ซึ่งกำกับดูแล สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ให้ประสานการปฏิบัติร่วมกับทุกหน่วยงาน เพิ่มความเข้มข้นในการตรวจคัดกรองรถขนส่งสินค้าและคนประจำพาหนะ การตรวจคัดกรองโรคเชื้อโควิด-19 โดยกำชับการปฏิบัติตามคำสั่ง ประกาศ ของผู้ว่าราชการจังหวัด หรือ ประธานคณะกรรมการโรคติดต่อของแต่ละจังหวัดอย่างเคร่งครัด
พื้นที่ภาคใต้ อยู่ในความรับผิดชอบของกองบังคับการตรวจคนเข้าเมือง 6 มีพื้นที่ติดเขตแดนประเทศเพื่อนบ้าน จำนวน 5 จังหวัด ซึ่งปัจจุบันได้ระงับการเดินทางเข้า-ออก ไทยของบุคคลทุกสัญชาติในทุกด่านผ่านแดนถาวร ยกเว้นรถบรรทุกขนส่งสินค้าที่เข้า – ออกได้เฉพาะบางจุด (คนประจำพาหนะ 1 คนต่อ 1 คัน) ได้แก่ จุดผ่านแดนถาวรด่านสะเดา จังหวัดสงขลา, จุดผ่านแดนถาวรวังประจัน อำเภอควนโดน จังหวัดสตูล, จุดผ่านแดนถาวร อำเภอเบตง จังหวัดยะลา, จุดผ่านแดนถาวรด่านสุไหงโก-ลก จังหวัดนราธิวาส และ จุดผ่านแดนถาวรระนอง-เกาะสองบริเวณช่องทางท่าเทียบเรือศุลกากรระนอง จังหวัดระนอง
กรมอนามัย ออกแนวทางรูปแบบการจัดบริการอาหารในรูปแบบเดลิเวอรี่
กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ได้ออกแนวทางการปฏิบัติด้านสุขอนามัยสำหรับการจัดบริการอาหารในรูปแบบเดลิเวอรี่ (delivery) ในสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 ดังนี้
-ผู้ประกอบการที่จัดบริการอาหารในรูปแบบเดลิเวอรี่ (delivery)ต้องคัดเลือกร้านอาหารที่ได้รับใบอนุญาตหรือหนังสือรับรองการแจ้งเป็นสถานที่จำหน่ายอาหารจากเจ้าพนักงานท้องถิ่น ให้ความรู้เกี่ยวกับการป้องกันไวรัสโควิด-19 ให้คนขนส่งอาหาร เช่น การสวมหน้ากากที่ถูกวิธี และขั้นตอนการล้างมือที่ถูกต้อง เป็นต้น ผ่านช่องทางต่าง ๆ ของบริษัท พร้อมจัดบริการหน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัย และเจลแอลกอฮอล์สำหรับทำความสะอาดมือให้คนขนส่งอาหารและจัดบริการตรวจสุขภาพให้คนขนส่งอาหาร หากพบคนขนส่งอาหารมีอาการป่วยให้หยุดปฏิบัติงานและไปพบแพทย์ทันที
-ร้านอาหารให้บริการอาหารในรูปแบบเดลิเวอรี่ (delivery)อาหารอาหารปรุงสำเร็จ ต้องปรุงสุกใหม่พร้อมจัดให้มีที่ล้างมือพร้อมสบู่สำหรับล้างมือ หรือจัดให้มีเจลแอลกอฮอล์สำหรับทำความสะอาดมือ จัดสถานที่ให้เพียงพอกับจำนวนคนขนส่งอาหารที่เข้ามาใช้บริการโดยจัดระยะห่าง 1 เมตร และมีการระบายอากาศที่เหมาะสม ส่วนภาชนะบรรจุอาหารต้องเหมาะสมกับอาหารแต่ละประเภท ไม่ใช้โฟมในการบรรจุอาหาร และอาหารปรุงสำเร็จ มีการติดฉลากที่ระบุรายละเอียดอย่างชัดเจน เช่น ชื่อร้านอาหาร วัน/เดือน/ปี เวลาที่ผลิต ระยะเวลา และอุณหภูมิที่เหมาะสมในการเก็บรักษาอาหาร เป็นต้น กรณีจัดส่งอาหารเสี่ยง เช่น อาหารที่ใช้มือสัมผัสมาก (ข้าวมันไก่ ข้าวหมูแดง ข้าวหมูกรอบ ฯลฯ) อาหารที่มีส่วนประกอบของ กะทิ นม ควรแนะนำให้ผู้บริโภคนำไปอุ่นร้อนก่อนรับประทาน
-คนขนส่งอาหารเดลิเวอรี่ (delivery) ต้องสวมหน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัย เพื่อป้องกันตนเอง และไอ จามปนเปื้อนอาหาร และลดความเสี่ยงการได้รับเชื้อโรคระหว่างให้บริการ และล้างมือบ่อย ๆ ด้วยน้ำและสบู่หรือเจลแอลกอฮอล์ ตั้งแต่เริ่มปฏิบัติงานขนส่งอาหาร ก่อนเข้าร้านอาหาร หลังการส่งอาหารให้ผู้บริโภค ส่วนจัดหากล่องบรรจุอาหารท้ายยานพาหนะสำหรับขนส่งอาหาร ที่มีโครงสร้างที่แข็งแรง ปกปิดมิดชิดในลักษณะที่ช่วยป้องกันการปนเปื้อน และใช้กล่องบุฉนวนเพื่อรักษาอุณหภูมิให้อยู่ในช่วงอุณหภูมิที่เหมาะสม ต้องทำความสะอาดด้วยน้ำและน้ำยาทำความสะอาด และฆ่าเชื้อโรคด้วย Alcohol 70 % โดยสเปรย์หรือหยด Alcohol 70 % ลงบนผ้าสะอาดพอหมาดๆ เช็ดไปในทิศทางเดียวกัน เป็นประจำทุกวัน
-ผู้สั่งซื้ออาหาร ผู้บริโภค ล้างมือด้วยน้ำและสบู่ หรือใช้เจลแอลกอฮอล์สำหรับทำความสะอาดมือ หลังการรับอาหารจากคนขนส่งอาหาร ก่อนรับประทานอาหาร สวมหน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัยหากมีอาการป่วย ในระหว่างการรับอาหารจากคนขนส่งอาหาร พร้อมตรวจสอบคุณภาพอาหาร เช่น ความสะอาด สภาพอาหารและไม่มีกลิ่นเน่าเสีย ความเหมาะสมของภาชนะบรรจุ การปกปิดอาหาร เป็นต้น เมื่อได้รับอาหารจากคนขนส่งอาหาร
ผู้นำสหรัฐฯสั่งเสริมเตียงคนไข้-ตั้งจุดตรวจฉุกเฉินใน 3 รัฐ
ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐฯ สั่งให้มีการตั้งจุดตรวจทางการแพทย์ฉุกเฉิน พร้อมเตียงคนไข้ 4,000 เตียง ในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศที่พบโรคโควิด-19 ระบาดหนัก โดยเฉพาะรัฐนิวยอร์ก รัฐวอชิงตัน และ รัฐแคลิฟอร์เนีย 3 รัฐที่พบผู้เสียชีวิต 3 ลำดับแรก รัฐนิวยอร์ก พบผู้เสียชีวิต 117 ราย รัฐวอชิงตัน พบผู้เสียชีวิต 95 ราย และ รัฐแคลิฟอร์เนีย 30 ราย
นายทรัมป์ กล่าวว่า รัฐนิวยอร์กและรัฐวอชิงตัน จะมีการตั้งจุดตรวจฉุกเฉินรัฐละ 4 แห่ง แต่ละแห่งมีเตียงคนไข้ 1,000 เตียง ส่วนที่รัฐแคลิฟอร์เนีย จัดตั้งจุดตรวจฉุกเฉิน 8 แห่ง แต่ละแห่งมีเตียงคนไข้ 2,000 เตียง เพื่อให้ชาวอเมริกันมีความมั่นใจว่ารัฐบาลเร่งดำเนินการทุกอย่างที่ทำได้เพื่อตรวจคัดกรอง ค้นหาผู้ป่วย เพื่อหยุดยั้งการแพร่ระบาดโดยเร็ว
สถานการณ์โรคโควิด-19 ในสหรัฐฯ ขณะนี้ว่า เสมือนอยู่ในภาวะสงครามโรคระบาด พร้อมสั่งระดมทหารจากกองกำลังพิทักษ์ชาติสหรัฐฯ ให้เดินทางไปที่ 3 รัฐ ดังกล่าว เพื่อสนับสนุนหน่วยงานสาธารณสุขท้องถิ่นในการสกัดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19
ไอโอซี ไม่มีแนวคิดให้ญี่ปุ่น ยกเลิกการแข่งขันโอลิมปิก2020
คณะกรรมการบริหารของคณะกรรรมการโอลิมปิกสากล(ไอโอซี) ประชุมผ่านระบบวีดิโอคอนเฟอร์เรนซ์ เปิดเผยว่าไอโอซีจะเริ่มหารือกับคณะกรรมการจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกของญี่ปุ่น รัฐบาลท้องถิ่นกรุงโตเกียวและรัฐบาลญี่ปุ่น เรื่องการจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกกรุงโตเกียว 2020 หลังโรคโควิด-19 ระบาดทั่วโลก ไอโอซี คาดว่า จะได้ข้อสรุปใน 4 สัปดาห์ข้างหน้า
ส่วนแนวทางที่ไอโอซีจะพิจารณา มี 2 แนวทาง
-แนวทางแรก คือ การเลื่อนกำหนดการแข่งขันจากเดิมตั้งแต่ วันที่ 24 กรกฎาคม ถึงวันที่ 9 สิงหาคมนี้ ออกไป แต่ยังไม่ได้กำหนดช่วงเวลาที่เหมาะสม
-แนวทางที่ 2 คือ การจัดการแข่งขันตามกำหนดเดิมคือวันที่ 24 กรกฎาคมนี้ แต่ปรับแผนงานต่างๆ ปลอดภัยมากขึ้น
สำหรับคณะนักกีฬาและเจ้าหน้าที่จากประเทศต่างๆที่เข้าร่วมการแข่งขัน จะมีการหารือในรายละเอียดต่างๆต่อไป เพื่อให้เกิดผลดีกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง
คณะกรรมการไอโอซี เห็นว่า การยกเลิกจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกกรุงโตเกียว 2020 ไม่เกิดผลดีแก่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง จึงไม่ได้หารือในประเด็นนี้ พร้อมตั้งข้อสังเกตว่าสถานการณ์เรื่องโรคโควิด-19 ในญี่ปุ่น ขณะนี้เริ่มมีแนวโน้มดีขึ้น โดยลำดับ แม้ว่าในภาพรวม จะมีผู้ป่วยและผู้ติดโรคโควิด-19 เพิ่มขึ้นในประเทศอื่นๆทั่วโลก ญี่ปุ่นมีผู้ป่วยสะสม 1,086 คน เสียชีวิต 40 ราย มีผู้หายป่วย 235 คน
แคนาดา ถอนตัวไม่ส่งนักกีฬาแข่งโอลิมปิก
คณะกรรมการโอลิมปิกแคนาดา (ซีโอซี) และคณะกรรมการพาราลิมปิกแคนาดา (ซีพีซี) ประกาศไม่ส่งนักกีฬาเข้าร่วมการแข่งขันมหกรรมกีฬาโอลิมปิกเกมส์ 2020 ที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น จะเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เมื่อวันอาทิตย์ เป็นประเทศแรกที่ประกาศถอนตัวจากศึก โตเกียวเกมส์ โดยการตัดสินใจดังกล่าวได้รับการสนับสนุนจากทั้งทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง รวมถึงรัฐบาลแคนาดา เนื่องจากไม่ต้องการให้นักกีฬาเสี่ยงกับการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 พร้อมเรียกร้องให้เลื่อนการแข่งขันออกไปอีก 1 ปีเป็นอย่างน้อย
CR:Facebook สำนักงานประชาสัมพันธ์ จ.ระนอง