ธปท.-กลต.ออกมาตรการเพิ่มสภาพคล่องตลาดการเงิน ป้องกันการไถ่ถอนตราสารหนี้

22 มีนาคม 2563, 17:32น.

nbsp;        การดูแลความเรียบร้อยในตลาดการเงิน ป้องกันการขาดสภาพคล่อง ป้องกันประชาชนไถ่ถอนหน่วยลงทุน ธนาคารแห่งประเทศไทย จึงประกาศ 3 มาตรการเร่งด่วนรองรับสถานการณ์โควิด-19 นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)เปิดเผยว่า 3 มาตรการนี้ สอดรับกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ซึ่งหากไม่มีแนวทางช่วยเหลือจะกระทบต่อกลไกการทำงานของตลาดตราสารหนี้ และอาจจะทำให้เกิดความเสียหายต่อเศรษฐกิจโดยรวม
-มาตรการแรก​ เกี่ยวข้องกับกองทุนรวมตราสารหนี้ ที่ผู้ถือหน่วยลงทุนอาจมีความกังวลและพากันมาไถ่ถอน ดังนั้น ธปท. จึงได้จัดตั้งกลไกพิเศษเพื่อช่วยเพิ่มสภาพคล่องให้กับกองทุนรวมผ่านธนาคารพาณิชย์ โดยที่ ธปท. อนุญาตให้ ธนาคารพาณิชย์สามารถเข้าซื้อหน่วยลงทุนจากกองทุนรวมตลาดเงิน และกองทุนรวมตราสารหนี้ที่เป็นกองทุนเปิด ที่ถือสินทรัพย์คุณภาพดี โดยที่ธนาคารพาณิชย์สามารถนำหน่วยลงทุนเหล่านี้มาเป็นหลักประกันเพื่อขอสภาพคล่องกับ ธปท.ได้ โดย ธปท.พร้อมดำเนินการต่อเนื่องจนกว่าตลาดเงินเข้าสู่ภาวะปกติ ขณะที่กองทุนดังกล่าว จะมีมูลค่ารวมกันมากกว่า 1 ล้านล้านบาท ซึ่งเชื่อว่ามีขนาดที่ใหญ่เพียงพอมาตรการนี้จะเริ่มดำเนินการได้ในวันอังคาร(24 มี.ค.)
-มาตรการที่​2 พบว่า มีหุ้นกู้เอกชน ​ตราสารหนี้เอกชนที่จะครบกำหนดไถ่ถอนในแต่ละปีจำนวนหนึ่ง ซึ่งในภาวะปกติ หุ้นกู้เหล่านี้สามารถต่ออายุ​ได้ไม่ยาก แต่ในภาวะเช่นนี้ หลายหน่วยงาน ตั้งแต่สมาคมธนาคารไทย สมาคมธุรกิจประกันภัย ธนาคารออมสิน และ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ(กบข.) จะร่วมกันจัดตั้งกองทุนขึ้นมาใหม่ เรียกว่าเป็น “กองทุนเสริมสภาพคล่อง” เพื่อลดความเสี่ยงการระดมทุนในตลาดตราสารหนี้ วงเงินเริ่มต้น 70,000-100,000 ล้านบาท โดยตอนนี้มีผู้แจ้งความจำนงค์เข้าร่วมแล้ว 80,000 ล้านบาท ซึ่งกองทุนดังกล่าว จะทำหน้าที่ คือ เมื่อมีตราสารหนี้คุณภาพดีครบกำหนดแล้วต้องการต่ออายุ หากระดมทุนได้ไม่ครบ กองทุนนี้จะเข้ามาเสริมในส่วนที่ขาด เพื่อให้ผู้ออกหุ้นกู้เอกชน สามารถต่ออายุได้ โดยเงินที่ท็อปอัพเป็นเงินระยะสั้นอายุไม่เกิน 270 วัน หรือ 9 เดือน​ มาตรการนี้อยู่ระหว่างการจัดตั้งกองทุนภายใน 1 สัปดาห์จะมีผลบังคับใช้ เชื่อว่าทันต่อสถานการณ์
-มาตรการที่​ 3 เป็นกลไกที่ดูแลตลาดตราสารหนี้(บอนด์ซึ่งถือเป็นหัวใจของตลาดตราสารหนี้ โดยช่วงที่ผ่านมาผลตอบแทนพันธบัตร(บอนด์ยีลต์) มีความผันผวนสูงมาก เพราะสภาพคล่องในระบบการเงินโลกมีความต่างจากช่วงเวลาปกติ ซึ่ง ธปท.พร้อมจะเข้าไปดูแลให้ตลาดบอนด์รัฐสามารถทำงานได้ตามกลไกตลาดที่มีประสิทธิภาพ หากพบว่า ตลาดขาดสภาพคล่องก็พร้อมเข้าไปดูแล และจะประเมินสถานการณ์ตลอดเวลา เพื่อหามาตรการอื่นๆเสริมช่วยเหลือเพิ่มเติมต่อไป
ข่าวทั้งหมด

X