การบริหารจัดการน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้ง เพื่อการเพาะปลูก นายทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า ได้ขออนุมัติต่อคณะอนุกรรมการอำนวยด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ เพื่อผันน้ำเพิ่มเติมเข้ามายังลุ่มน้ำเจ้าพระยาต่อที่ประชุม หลังกรมชลประทานได้หารือกับคณะกรรมการบริหารชลประทานในลุ่มน้ำแม่กลอง เพื่อขอแบ่งปันน้ำมาใช้ในการรักษาระบบนิเวศ พืชสวน การเกษตร โดยตั้งเป้าขอเพิ่มอีก 500 ล้านลูกบาศก์เมตรจนถึงวันที่ 30 เมษายนนี้ เนื่องจากพบว่าพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา โดยเฉพาะบริเวณท้ายเขื่อน มีปริมาณน้ำไม่เพียงพอที่จะใช้ต่อเนื่องไปจนถึงวันที่ 30 เมษายนนี้และใช้น้ำเกินแผนไปกว่า 180 ล้านลูกบาศก์เมตร
ส่วนปัญหาความเค็มในแม่น้ำเจ้าพระยา จากการตรวจวัดคุณภาพน้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยา ตั้งแต่ช่วงเช้าจนถึงขณะนี้ ค่าความเค็มปกติ ยังไม่เกิน 0.25 กรัมต่อลิตร ไม่มีปัญหา ยืนยันได้ว่าพื้นที่ในเขตกรมชลประทานและพื้นที่ที่ให้การสนับสนุน จะมีน้ำใช้เพื่อการอุปโภคบริโภคเพียงพอไปจนถึงวันที่30มิถุนายน
สำหรับพื้นที่ลุ่มต่ำโดยเฉพาะบางระกำ จ.พิษณุโลก ที่ปกติจะปลูกข้าวรอบแรกช่วงต้นเดือนเมษายน แต่ปีนี้น้ำมีน้อย จึงสามารถส่งน้ำได้พื้นที่เป้าหมายเพียง256,000ไร่ อีก12ทุ่งที่อยู่ด้านท้ายเขื่อนเจ้าพระยาลงมา ประมาณ1.15ล้านไร่ ไม่สามารถส่งน้ำให้ได้ จะต้องใช้น้ำจากฝนเป็นหลัก หากฝนทิ้งช่วง กรมชลประทานจะพยายามใช้น้ำของชลประทานที่มีอยู่ เข้าไปช่วยเหลืออีกทางหนึ่ง
ด้านการใช้น้ำในพื้นที่โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC ประกอบด้วย ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง จากการประเมินสถานการณ์เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พบว่า น้ำจากแหล่งน้ำต่างๆมีใช้ได้ถึงวันที่10มิถุนายนเท่านั้น ไม่เพียงพอไปจนถึงต้นเดือนกรกฎาคม ซึ่งเป็นช่วงฝนตกเต็มตัว ดังนั้นต้องหาวิธีเติมน้ำเข้ามาในพื้นที่ด้วยการผันน้ำจากวังโตนด จ.จันทบุรี มาเติมไว้ที่อ่างเก็บน้ำประแสร์10ล้านลูกบาศก์เมตร ขณะนี้ดึงมาเก็บไว้แล้วประมาณ7ล้านลูกบาศก์เมตร จากนั้นจะดึงน้ำมาที่หนองปลาไหลและนำเข้าสู่พื้นที่ต่อไป อีกทางหนึ่งคือดึงน้ำจากอ่างเก็บน้ำคลองหลวงรัชชโลทรมาที่อ่างเก็บน้ำบางพระ 3 ล้านลูกบาศก์เมตร ปัจจุบันดึงน้ำมาประมาณ50,000ลูกบาศก์เมตรแล้ว แต่ทั้ง2จุดดังกล่าวรวมกันมีประมาณ 13 ล้านลูกบาศก์เมตร ถือว่ายังไม่เพียงพอ จึงได้สำรวจเพิ่มเติมพบว่ายังมีบ่อต่างๆที่สามารถดึงน้ำมาได้อีกประมาณ18ล้านลูกบาศก์เมตร หากดึงมาครบทั้งหมด จะทำให้น้ำในพื้นที่EEC เพิ่มขึ้นรวมกัน30ล้านลูกบาศก์เมตร ถือว่าเพียงพอแล้ว
นอกจากนี้ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีในฐานะประธานคณะอนุกรรมการอำนวยด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ยังได้กำชับให้ช่วยกันลดการใช้น้ำลงร้อยละ10 ในส่วนของภาคอุตสาหกรรม ครัวเรือนด้วยโดยเป้าหมายหลัก คือ ต้องมีน้ำอุปโภคบริโภคและการรักษาระบบนิเวศ
สำหรับการช่วยเหลือเกษตรกรที่เสียโอกาสในการเพาะปลูกช่วงฤดูแล้งในพื้นที่เขตชลประทาน กรมชลประทานมีงบประมาณ 4,050 ล้านบาท เพื่อจ้างแรงงานเกษตรกว่า 58,000 คน แต่ละคนจะขึ้นอยู่กับลักษณะงานที่จ้างตั้งแต่1-6เดือน เฉลี่ยรายได้คนละ377.85บาทต่อวัน หรือ25,000-50,000บาท
ด้านนาวาอากาศเอกสมศักดิ์ ขาวสุวรรณ์ อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา ระบุว่า ตามที่เคยประกาศว่าปีนี้จะมีฝนน้อยกว่าค่าร้อยละ5-10 โดยเฉพาะพื้นที่อีสาน แต่ขณะนี้พบว่ามีพายุฤดูร้อนเข้ามาเป็นครั้งที่ 3 และตั้งแต่วันนี้ ถึงวันที่ 23 มีนาคม ทุกพื้นที่ของภาคอีสาน ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคเหนือตอนล่าง จะมีฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชก มีฟ้าผ่าและลูกเห็บในบางพื้นที่ จึงแนะนำให้ประชาชนเก็บกักน้ำไว้ใช้ในยามฉุกเฉิน อย่ารอเฉพาะหน่วยงานมาช่วยเก็บกักน้ำฝ่ายเดียว ประชาชนต้องช่วยกันกักเก็บน้ำในพื้นที่ไว้ใช้ในยามฉุกเฉินด้วย เพราะฝนปีนี้จะมาช้ากว่าปกติ ช่วงสัปดาห์ที่3-4ของเดือนพฤษภาคม และฝนจะทิ้งช่วงปลายมิถุนายนถึงปลายกรกฎาคม และฝนจะมาจริงๆสิงหาคม นับปริมาณฝนยังน้อยกว่าปกติ