การสำรองอุปกรณ์ทางการแพทย์ให้พร้อมรองรับผู้ป่วยโรคโควิด-19 ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น นายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ยืนยันว่า ได้เตรียมความพร้อมไว้ทุกด้าน โดยในส่วนของเตียงผู้ป่วยในกรุงเทพฯมี 1,600 เตียง ที่สามารถจะรองรับผู้ป่วยโรคนี้โดยเฉพาะ ซึ่งอยู่ในโรงพยาบาลเอกชน, โรงเรียนแพทย์ และโรงพยาบาลในสังกัดกรุงเทพมหานคร โดยในวันอาทิตย์นี้จะมีการประชุมเตรียมความพร้อมเรื่องเตียงผู้ป่วยอีกครั้ง จากนั้นในวันจันทร์จะไปตรวจสถานที่ ที่จัดเป็นสถานพยาบาลพิเศษเพื่อเตรียมย้ายผู้ป่วยที่มีอาการไม่หนักไปพักรักษาอาการ
สำหรับสถานพยาบาลพิเศษนี้ มีเตียงผู้ป่วย 400-500 เตียง เพื่อรองรับกลุ่มผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรง ที่มีจำนวนประมาณร้อยละ 80 โดยก่อนที่จะมีการย้ายมาที่สถานพยาบาลพิเศษนี้ ผู้ป่วยจะต้องได้รับการยืนยันว่าเป็นโควิด-19 จริง และต้องเข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลไม่น้อยกว่า 48 ชม. เพื่อดูอาการ และขอว่าอย่าตื่นตระหนกเกินไป แค่ระวังตัวเองตามคำแนะนำของกระทรวงก็เพียงพอ
ด้านนพ.สุกิจ ศรีทิพยวรรณ รองผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ กทม. ระบุว่า กทม.จะจัดโรงพยาบาลผู้สูงอายุบางขุนเทียนเป็นที่รองรับผู้ป่วยที่มีอาการไม่หนัก ช่วงแรกสำรองเตียงไว้ 103 เตียง เป็นห้องเดี่ยว 39 ห้อง ที่เหลือเป็นห้องรวม ส่วนผู้ป่วยในกทม. ที่มารักษาในโรงพยาบาล 11 แห่ง ของกทม. พบว่ามี 28 คนที่ยืนยันว่าเป็นผู้ติดเชื้อ อีก 29 คนเข้าข่ายเป็นผู้ต้องสงสัย
ส่วนในเรื่องยา นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ คาดว่า ผู้ป่วยกว่าร้อยละ 80 ไม่ต้องใช้ยา และอีกประมาณร้อยละ 10 จะใช้ยารักษาตามปกติ ขณะที่ในกลุ่มผู้ป่วยวิกฤตต้องใช้ยาฟาวิพิราเวียร์ซึ่งในเวลานี้มีอยู่ 40,000 เม็ดโดย 20,000 เม็ดอยู่ที่กทม. ที่เหลือกระจายไปจังหวัดต่าง ๆ โดยยานี้จะนำมาใช้กับผู้ป่วยวิกฤตเท่านั้นและเป็นแค่การช่วยประคอง ไม่ได้รักษาโรคโดยตรง และยาทุกชนิดมีผลข้างเคียง แต่แพทย์จะเป็นผู้ประเมินเองว่าจะใช้ยาใดกับผู้ป่วย ซึ่งก็ขึ้นกับสภาวะร่างกายผู้ป่วยและปัจจัยต่าง ๆ ด้วย
...