หมอยง ระบุไวรัสโควิดจะอยู่กับเราจนกว่าจะมีวัคซีน แนะควบคุมโรคอย่างเหมาะสม

20 มีนาคม 2563, 07:44น.


          ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ข้อความผ่านทางเฟซบุ๊ก Yong Poovorawan โดยระบุว่า แต่ละประเทศต่างก็มีมาตรการป้องกันโรคที่เหมาะสมกับประเทศของตน และไม่มั่นใจว่าการปิดเมืองจะทำได้จริงหรือไม่ การต่อสู้กับไวรัสจึงเหมือนกับการวิ่งมาราธอน โดยมีเนื้อหาดังนี้


          "การควบคุมโรคระบาด โควิด 19


          แต่ละประเทศจะต้องมีมาตรการในการป้องกันควบคุม ตามบริบทของตัวเอง ที่เหมาะสม


          เราต้องยอมรับว่า โควิด-19 ไม่สามารถที่จะกวาดล้างให้ได้หมดไป เพราะได้มีการระบาดใหญ่ทั่วโลกแล้ว


          โควิด-19 นี้จะอยู่กับเราไปอีกนาน จนกว่าเราจะมีวัคซีนในการป้องกัน


          ในแต่ละประเทศ จะต้องมีวิธีการควบคุม และลดการสูญเสีย ต่อมนุษย์ ทั้งร่างกายและจิตใจ รวมทั้งทางด้านเศรษฐกิจสังคม


          การชะลอการระบาดของโรค โควิด -19 เป็นวิธีหนึ่งที่ถูกนำมาใช้ เพื่อให้ระบบสาธารณสุขของเรารองรับการดูแลผู้ป่วยได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด


          จนกว่าเราจะพร้อมเรื่องยารักษาโรค หรือมีวัคซีนในการป้องกัน


          ขณะนี้เรื่องยารักษาโรค เราก็มองเห็นหนทางบ้างแล้ว แต่วัคซีนยังคงอีกนานพอสมควร


          ประเทศจีนพร้อมที่จะช่วยเรา ในหลายมาตรการรวมทั้งยารักษาโรค favipiravir


          บริบทในการควบคุมป้องกัน ลดจำนวนการระบาด ในแต่ละประเทศไม่เหมือนกัน


          ประเทศจีนกับประเทศทางตะวันตก ที่มีเสรีประชาธิปไตย จึงมีความแตกต่างกัน


          ไม่มั่นใจว่าการปิดเมือง จะทำได้จริงอย่างประเทศจีนหรือไม่ ในประเทศประชาธิปไตย และเป็นไปไม่ได้ที่เราจะปิดเมืองหรือประเทศเป็นระยะเวลายาวนาน


          การวางแผนของประเทศจึงต้องหาจุดสมดุลที่ดีที่สุด ในการต่อสู้ระยะยาว ด้วยกำลังทรัพยากรที่มีอยู่


          ปัจจุบันเรารู้แล้วว่า 80% ของโรคนี้ไม่รุนแรง และมีจำนวนหนึ่งไม่มีอาการด้วยซ้ำ จะเป็นผู้แพร่กระจายโรค


          ผู้ที่เสียชีวิตส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ หรือผู้ที่มีโรคประจำตัว


          ผู้สูงอายุควรอยู่บ้าน และผู้ที่ออกนอกบ้าน ลูกหลานจะต้องเข้าใจว่าเราอาจจะนำเชื้อมาสู่ท่านได้


          การควบคุมป้องกันโรค ในขณะนี้ จึงจำเป็นที่จะต้องป้องกัน ให้มีผู้ป่วยเกิดขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป เพื่อให้ระบบสาธารณสุข ของเรารองรับได้


          ผู้ที่เป็นแล้วก็จะมีภูมิต้านทานขึ้น ไม่เป็นซ้ำอีก จนกว่าจะมีระดับภูมิคุ้มกันกลุ่มของประชาชนสูงถึงระดับหนึ่ง (เป็นแล้วไปจำนวนหนึ่ง) โรคจึงหยุดระบาด


          เราต้องการวัคซีนมาเสริมภูมิต้านทานอีกจำนวนหนึ่ง เพื่อให้ได้ภูมิคุ้มกันกลุ่มเพิ่มขึ้นได้อีก


          การต่อสู้กับโรคระบาดจึงต้องใช้ระยะเวลายาวนาน การต่อสู้จึงต้องมีขั้นตอน แบบค่อยเป็นค่อยไป ตามความเหมาะสม และบริบทของประเทศไทย


          การรบครั้งนี้จึงเปรียบเทียบเหมือนการวิ่งมาราธอน ไม่ใช่วิ่ง 100 เมตร จะหมดแรงเสียก่อน


...
ข่าวทั้งหมด

X