‘หมอยง’ ระบุ ไม่ว่าโควิด-19 จะอยู่ในระยะใด ปชช.ก็ต้องป้องกันตัวอย่างเคร่งครัด
ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยา คลินิกภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุสถานการณ์โควิด-19 ผ่านทางเฟซบุ๊กว่า โควิด-19 กับระยะของโรค ระยะที่ 1 ระยะที่ 2 ระยะที่ 3 เปรียบเสมือนการเดินทาง ถึงจุดที่ 1 จุดที่ 2 ที่ 3 ไม่ได้เกี่ยวข้องกับความรุนแรงของโรคหรือระดับความรุนแรงของโรค แต่เดิมสมัยไข้หวัดนก เรากำหนดกันว่า ระยะที่ 1 หมายความว่าพบโรคในสัตว์ปีก เช่น พบในไก่ ระยะที่ 2 โรคไข้หวัดนก ข้ามสู่มาติดคน ระยะที่ 3 โรคสามารถติดคนสู่คนได้ จนมาถึงสมัยนี้ที่มีโควิด-19 เราก็กำหนดกันเอง ไม่แน่ใจว่ามีประเทศไหนกำหนดหรือไม่ มาแบ่งระยะของโรคเพื่อจุดมุ่งหมายในการออกนโยบายและมาตรการในการควบคุมโรค เป็นระยะที่ 1 2 3 โดยให้คำจำกัดความว่า ระยะที่ 1 หมายถึง การพบผู้ป่วยจากการนำเข้าจากต่างประเทศ ระยะที่ 2 พบว่ามีการติดต่อกันภายในประเทศ อยู่ในวงจำกัด มีแหล่งต้นตอที่ชัดเจน ระยะที่ 3 พบผู้ป่วยในวงกว้าง และจำนวนหนึ่งจะไม่รู้ ที่มาของโรคเพื่อนโยบายในการใช้ ในการวางมาตรการ ดูแลควบคุม ป้องกันโรค เชื่อว่า ประเทศอื่นๆอาจจะใช้หรือไม่ใช้ก็ได้ เพราะเป็นการกำหนดนโยบายของแต่ละประเทศ เพื่อวางแผนสำหรับประชาชนทั่วไป เราคงไม่มีความจำเป็นต้องถามว่าเข้าระยะที่ 3 หรือยัง ไม่ว่าจะอยู่ระยะใด แนวทางการปฏิบัติตัวก็จะต้องเข้มข้นอยู่ตลอดเวลา ป้องกันตนเองอย่างเคร่งครัด มีระเบียบวินัย ปฏิบัติตามคำแนะนำในเชิงนโยบายที่จะออกมาของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการดูแลและควบคุมโรค
CAPA ชี้สิ้นเดือนพ.ค.นี้ สายการบินเข้าสู่ภาวะล้มละลาย
CAPA-Center for Aviation บริษัทวิจัยและที่ปรึกษาอุตสาหกรรมการบิน ประเมินสายการบินส่วนใหญ่จะประสบกับภาวะล้มละลายภายในสิ้นเดือนพฤษภาคมนี้ ยกเว้นว่าทั้งอุตสาหกรรมและภาครัฐจะผนึกกำลังช่วยเหลือสายการบิน เนื่องจาก ผลกระทบโรคโควิด-19 ขยายวงกว้างขึ้นประกอบกับมาตรการที่รัฐบาลประเทศต่างๆนำมาใช้จำกัดการเดินทางของผู้คน ทำให้สายการบินหลายแห่ง อาจจะเข้าสู่ภาวะล้มละลายแล้วทางเทคนิค หรือบางรายแม้ยังดำเนินการอยู่ได้แต่ก็ไม่สามารถปฏิบัติตามเงื่อนไขสัญญาเงินกู้ หรือชำระหนี้ที่มีอยู่ได้ตามกำหนด สภาพคล่องเงินสดลดลงอย่างรวดเร็ว เนื่องจากต้องลดจำนวนเที่ยวบินและนำเครื่องบินลงจอดทิ้งไว้ ส่วนเครื่องบินที่ยังให้บริการอยู่ก็มีผู้โดยสารไม่ถึงครึ่งลำ
เปิดรายละเอียดการลงทะเบียนเพื่อขอคืนเงินประกันการใช้ไฟฟ้า
มาตรการให้ความช่วยเหลือประชาชน เรื่องการคืนเงินประกันการใช้ไฟฟ้า ให้ผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทที่ 1 บ้านพักอาศัย และประเภทที่ 2 กิจการขนาดเล็ก รวม 22.17 ล้านราย วงเงิน 32,700 ล้านบาท แบ่งเป็นการไฟฟ้านครหลวง จำนวน 3.87 ล้านราย วงเงิน 13,000 ล้านบาท และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค 18.30 ล้านราย วงเงิน 19,700 ล้านบาท สามารถใช้สิทธิขอคืนเงินประกันการไฟฟ้าที่วางไว้ตามขนาดของเครื่องวัดหน่วยไฟฟ้า ทั้งนี้ ผู้วางหลักประกันการใช้ไฟฟ้าสามารถตรวจสิทธิและแจ้งความประสงค์ พร้อมยื่นเอกสารหลักฐานเพื่อขอคืนเงินประกันผ่านช่องทางต่างๆ
ข้อมูลจากกระทรวงพลังงาน ระบุว่า การลงทะเบียนมีสองรูปแบบ
1.ลงทะเบียนทางออนไลน์ เริ่มตั้งแต่วันที่ 25 มีนาคม ตลอด 24 ชั่วโมง ผ่านหลายช่องทาง ทางแอปพลิเคชั่น MEA Smart Life , เว็ปไซต์ www.mea.or.th, Facebook การไฟฟ้านครหลวง MEA ข้อมูล ,Twitter @mea_news , Line @meathailand ,สแกน QR Code ในใบแจ้งค่าไฟฟ้า (ใบแจ้งค่าไฟฟ้าวันที่จดเลขอ่านตั้งแต่วันที่ 25 มีนาคม เป็นต้นไป) ผู้ลงทะเบียนช่องทางออนไลน์จะได้รับเงินประกันการใช้ไฟฟ้าคืนตั้งแต่วันที่ 31 มีนาคม เป็นต้นไป สามารถเลือกช่องทางการคืนเงินได้ 2 ช่องทาง
-ช่องทางที่ 1 คืนเงินเข้าบัญชีพร้อมเพย์ เฉพาะที่ผูกกับหมายเลขบัตรประชาชน13 หลักเท่านั้น
-ช่องทางที่ 2 คืนเงินเข้าบัญชีธนาคารพาณิชย์ที่เข้าร่วมโครงการ
2.การลงทะเบียนที่ทำการของการฟ้านครหลวง 18 เขต เริ่มตั้งแต่วันที่ 31 มีนาคม เวลา 07.30-15.30 น. เฉพาะวันทำการ แนะนำให้ใช้บริการเฉพาะเจ้าของหลักประกันการใช้ไฟฟ้าที่มีปัญหาสิทธิต่างๆ เช่น เปลี่ยนชื่อ นามสกุล เสียชีวิต สำหรับเจ้าของหลักประกันที่ไม่มีปัญหาด้านสิทธิแนะนำให้ลงทะเบียนผ่านช่องทางออนไลน์ จะได้รับความสะดวกมากกว่า เมื่อการไฟฟ้านครหลวง ตรวจสอบสิทธิว่าเจ้าของหลักประกันมีชื่อตรงกับฐานข้อมูลจะได้รับเงินประกันคืนผ่านช่องทางที่ได้ระบุไว้ในการลงทะเบียนทางออนไลน์ทุกราย โดยไม่ต้องแสดงเอกสารเพิ่มเติม และเป็นการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19
อินโดฯ ยกเลิกวีซ่าทุกประเทศรวมทั้งไทย เป็นเวลา 1เดือน
สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงจาการ์ตา อินโดนีเซีย รายงานสถานการณ์การระบาดของเชื้อโควิด-19 ในอินโดนีเซีย ว่า มีผู้ติดเชื้อรวม 172 คน เสียชีวิต 5 ราย และรักษาหายแล้ว 9 คน โดยผู้ติดเชื้อใน DKI Jakarta, West Java (Bekasi Regency, Depok), Central Java (Solo), Banten (Tangerang Regency, Tangerang City) เป็นการติดเชื้อในชุมชน รัฐบาลอินโดนีเซีย ได้ออกมาตรการชั่วคราวเกี่ยวกับการเดินทางเข้าอินโดนีเซีย ซึ่งจะมีผลตั้งแต่วันศุกร์ที่ 20 มีนาคม ดังนี้
-ยกเลิก visa exemption policy สำหรับ short-stay visit, visa on arrival (VOA) และ diplomatic and service visa free facilities สำหรับทุกประเทศ รวมประเทศไทย เป็นเวลา 1 เดือน
-ผู้ที่ต้องการเดินทางเข้าอินโดนีเซีย (รวมคนไทย) จะต้องยื่นขอวีซ่าที่สถานเอกอัครราชทูต อินโดนีเซีย โดยแจ้งวัตถุประสงค์ของการเดินทาง และแสดงใบรับรองแพทย์ที่ออกโดยหน่วยงานสาธารณสุข (เช่น โรงพยาบาล) ประกอบการยื่นขอวีซ่า
-ระงับการเข้าเมืองและผ่านเมืองของผู้ที่เดินทางมาจาก อิหร่าน อิตาลี นครรัฐวาติกัน สเปน ฝรั่งเศส เยอรมนี สวิตเซอร์แลนด์ และ สหราชอาณาจักร ในช่วง 14 วันที่ผ่านมา
-มาตรการห้ามการเข้าเมืองของผู้ที่เดินทางมาจากจีนที่ประกาศเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2563 และมาตรการสำหรับผู้ที่เดินทางมาจากพื้นที่ระบาดในเกาหลีใต้ อิหร่านและ อิตาลี ที่ประกาศเมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2563 ยังคงมีผลบังคับใช้
สถานการณ์การระบาดในอินโดนีเซีย รุนแรงมากขึ้น เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมกรณีจำเป็น จึงขอให้คนไทยที่พำนัก/ศึกษาในอินโดนีเซีย (ที่ยังไม่เคยลงทะเบียน) ลงทะเบียนคนไทยออนไลน์ได้ที่ https://goo.gl/forms/xh7VWMsysCVpPv6y1 ในกรณีฉุกเฉินต้องการความช่วยเหลือ สามารถติดต่อสถานเอกอัครราชทูตฯ ที่เบอร์โทร. +62 811 186253
ปตท.ตั้งคณะกรรมการแผนฉุกเฉิน–ให้พนักงานทำงานที่บ้าน ลดการแพร่เชื้อโควิด-19
หนึ่งในนโยบายของที่ประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 ที่ออกมาก่อนหน้านี้คือการขอให้บริษัทต่าง ๆ เลื่อนการประชุมผู้ถือหุ้นในบริษัทเพื่อสกัดการแพร่กระจายของเชื้อโรคโควิด-19 หนึ่งในนั้นมีบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และบริษัทในเครือของปตท. ที่มีกำหนดจัดประชุมผู้ถือหุ้นอยู่ด้วย เรื่องนี้ นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า บริษัทในเครือปตท.มีกำหนดประชุมผู้ถือหุ้นด้วยกันทั้งสิ้น 6 นัด 6 บริษัท เริ่มครั้งแรกวันที่ 31 มีนาคม และปิดท้ายวันที่ 10 เมษายน ยืนยันว่ายังต้องจัดตามกำหนดเดิม เพราะการประชุมดังกล่าวจะมีการแต่งตั้งคณะกรรมการของแต่ละบริษัท ทั้งมีการจ่ายเงินปันผลให้ผู้ถือหุ้น ซึ่งผู้เกี่ยวข้องต้องมาประชุมด้วยตัวเอง เนื่องจาก อาจมีคนนอกรับรู้เรื่องได้ แต่เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโรค บริษัทได้วางแนวทางผู้เข้าร่วมประชุมไว้แล้ว เช่น
-ทุกคนต้องนำหน้ากากอนามัยมาเองและต้องใส่เข้าห้องประชุม ต้องผ่านการตรวจวัดไข้ก่อนเข้าห้อง หากคนใดมีไข้หรือมีอาการไม่สบาย เจ้าหน้าที่จะให้นั่งหน้าห้องเพื่อประชุมผ่านกล้องที่ถ่ายทอดไว้หรืออาจพาไปส่งโรงพยาบาล เป็นต้น ยืนยันว่าบริษัทก็มีมาตรการที่รัดกุมและเตรียมพร้อมทุกอย่าง
ส่วนแนวทางการทำงานของพนักงาน ตอนนี้บริษัทเริ่มมีมาตรการต่างๆ เช่น
-ให้พนักงานทำงานที่บ้าน
-ห้ามพนักงานเดินทางไปต่างประเทศ
-มีคณะกรรมการแผนฉุกเฉินพิจารณาการรับมือ เป็นต้น
นายชาญศิลป์ เชื่อมั่นในการควบคุมสถานการณ์การระบาดโรคโควิด-19 ของรัฐบาล พร้อมรับว่าการระบาดส่งผลต่อราคาหุ้นและผลประกอบการของบริษัท ที่ผลประกอบการไตรมาสแรกปีนี้คงไม่ดี แต่เชื่อว่าอนาคตราคาหุ้นของบริษัทจะค่อย ๆ ฟื้นตัว เมื่อการระบาดคลี่คลาย