หุ้นดาวโจนส์ เพิ่มขึ้นกว่าพันจุด หลังสหรัฐฯ เปิดแผนอุ้มชาวอเมริกัน
ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ปิดตลาดในวันอังคารพุ่งขึ้นแรง ดาวโจนส์ บวกกว่า 1,000 จุด เพิ่มขึ้น 1,048.86 จุด หรือร้อยละ 5.20 ปิดที่ 21,237.38 จุด เอสแอนด์พี เพิ่มขึ้น 143.06 จุด หรือร้อยละ 6.00 ปิดที่ 2,529.19 จุด แนสแดค เพิ่มขึ้น 430.19 จุด หรือร้อยละ 6.23 ปิดที่ 7,334.78 จุด หลังจากทำเนียบขาว ของสหรัฐฯ เปิดเผยมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่รับมือกับผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 นายสตีเวน มนูชิน รัฐมนตรีคลังสหรัฐฯ กล่าวที่ทำเนียบขาวว่ารัฐบาลจะมอบเงินจากกองทุนฉุกเฉินให้ชาวอเมริกันอย่างรวดเร็ว เพื่อเยียวยาผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19
นายมนูชิน กล่าวว่า รัฐบาลสหรัฐฯ จะจ่ายเช็คให้ชาวอเมริกันในช่วง 2 สัปดาห์ข้างหน้า ขณะที่ ภาคธุรกิจสามารถเลื่อนการชำระภาษีเป็นจำนวนเงินมากถึง 10 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ส่วนบุคคลธรรมดา สามารถเลื่อนการชำระภาษีเป็นจำนวนเงิน 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยนายทรัมป์ อนุมัติให้มีการเลื่อนการชำระภาษีให้กรมสรรพากรสหรัฐฯ คิดเป็นวงเงินรวม 300,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ นอกจากนี้ ทำเนียบขาว ยังมีแผนกระตุ้นเศรษฐกิจวงเงิน 8.5 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในนั้นรวมถึงวงเงิน 5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ แก่อุตสาหกรรมการบิน
ราคาทองคำ ปิดบวกแรงขยับขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 6 วัน หลังจาก ธนาคารกลางสหรัฐฯ(เฟด) แถลงปล่อยเงินกู้ระยะสั้นเพื่อช่วยเสริมสภาพคล่องให้บริษัทสหรัฐฯ เพื่อรับมือกับวิกฤตเศรษฐกิจ ทองคำตลาดโคเม็กซ์ เพิ่มขึ้น 39.30 ดอลลาร์ ปิดที่ 1,525.80 ดอลลาร์ต่อออนซ์
ความเคลื่อนไหวสัญญาน้ำมันดิบเวสต์เทกซัส อินเตอร์มีเดียต หรือไลต์สวีตครูด งวดส่งมอบเดือนเมษายน ลดลง 1.75 ปิดที่ 26.95 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ส่วนเบรนต์ลอนดอนงวดส่งมอบเดือนพฤษภาคม ลดลง 1.32 ดอลลาร์ ปิดที่ 28.73 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนมกราคม 2016 นักวิเคราะห์ทางพลังงานจากสถาบันไอเอสเอส มาร์กิต คาดหมายว่า ถ้าซาอุดีอาระเบีย เดินหน้าแผนเพิ่มกำลังการผลิตครั้งใหญ่ในเดือนเมษายน ภาวะน้ำมันดิบล้นตลาดโลกจะอยู่ที่ระดับ 4 ล้าน ถึง 10 ล้านบาร์เรลต่อวัน ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ไปจนถึงเดือนพฤษภาคม
ครม.ไฟเขียวงบ1.7 หมื่นล้านบาท พยุงปัญหาโควิด-19 และ ภัยแล้ง
น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรี(ครม.) อนุมัติงบกลางจำนวน 17,310 ล้านบาท เพื่อใช้แก้ไขและบรรเทาปัญหาผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 รวมถึงปัญหาผลกระทบจากภัยแล้ง แบ่งใช้งบประมาณ 2 ส่วน คือ ส่วนแรกเพื่อบรรเทาปัญหาผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 แบ่งให้ส่วนราชการต่างๆ จำนวน 9,002 ล้านบาท จัดสรรโครงการการจ้างงานให้กับผู้ที่จะได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 อีก 2,700 ล้านบาท โครงการจ้างงานจะมีระยะเวลาไม่เกิน 6 เดือน อัตราค่าจ้างกำหนดไว้คนละไม่เกิน 9,000 บาทต่อเดือน
ส่วนงบประมาณที่จัดสรรให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 จำนวน 9,002 ล้านบาท กระทรวงที่ได้รับการจัดสรรงบมากที่สุด คือกระทรวงสาธารณสุข จำนวน 5,488 ล้านบาท ในส่วนของกระทรวงพาณิชย์ ก็ได้รับการจัดสรรงบประมาณเช่นกัน ได้รับการจัดสรร 108 ล้านบาท เพื่อนำไปชดเชยให้โรงงานผลิตหน้ากากอนามัยทั้ง 11 โรงงานที่ขณะนี้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้นมาก
การจัดสรรหน้ากากอนามัยในภาพรวมปัจจุบันว่า รัฐบาลเต็มที่กับการจัดสรรหน้ากากอนามัยให้เพียงพอ ลำดับแรกคือการจัดสรรสำหรับใช้ทางการแพทย์ ทางกระทรวงพาณิชย์มีการประสานงานกับผู้ผลิตหน้ากากอนามัยทั้ง 11 โรงงาน เพื่อปรับสายการผลิตให้มีการผลิตหน้ากากอนามัยสำหรับใช้ในประเทศเพิ่มมากขึ้น จากเดิมที่สามารถผลิตได้วันละ 1,200,000 ล้านชิ้น ขณะนี้สามารถเพิ่มขึ้นเป็น 1.76 ล้านชิ้นต่อวัน จำนวนหน้ากากอนามัยที่สามารถผลิตได้เพิ่มขึ้นวันละ 560,000 ชิ้นต่อวันนั้น มีการจัดสรรให้กับสถาบันและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับทางการแพทย์ โดยกระทรวงสาธารณสุขได้รับการจัดสรรจำนวน 1,000,000 ชิ้นต่อวัน จากเดิมที่ได้รับการจัดสรรเพียง 700,000 ชิ้นต่อวัน โดยในจำนวนนี้มีการจัดสรรให้กับหน่วยงานภายใต้สังกัดกระทรวงสาธารณสุขจำนวน 500,000 ชิ้น โรงพยาบาลภายนอกกระทรวงสาธารณสุขจำนวน 70,000 ชิ้น โรงพยาบาลที่สังกัดมหาวิทยาลัย และคณะทันตแพทย์จำนวน 100,000 ชิ้นต่อวัน โรงพยาบาลเอกชนและคลินิกเอกชน ได้รับการจัดสรรจำนวน 200,000 ชิ้นต่อวัน โรงพยาบาลในสังกัดกรุงเทพมหานครได้รับการจัดสรรจำนวน 80,000 ชิ้นต่อวัน และมีการจัดสรรตามมาตรการกักตัว 50,000 ชิ้นต่อวัน
นอกจากนี้ จัดสรรหน้ากากอนามัยของกลาง ที่ยึดมาจากการจับกุมผู้ขายหน้ากากอนามัยเกินราคา รวมถึงที่ยึดได้จากกรมศุลกากร มีการจัดสรรให้กับโรงพยาบาล และเมื่อคดีเป็นที่สิ้นสุด หากศาลตัดสินว่าไม่ผิด รัฐบาลจะคืนให้เป็นตัวเงินแทนหน้ากากอนามัย
‘สมคิด’นัดถกห้าง-ผู้ผลิตสินค้า รองรับทุกสถานการณ์
วันนี้ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เรียกผู้ประกอบการสินค้าอุปโภค-บริโภครายใหญ่ เช่น เครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี), เครือสหพัฒน์, กลุ่มบีเจซี, ยูนิลีเวอร์ ประเทศไทย รวมทั้งกลุ่มผู้ประกอบการห้างค้าปลีกสมัยใหม่ หรือโมเดิร์นเทรด เช่น บิ๊กซี, เทสโก้ โลตัส ผู้ประกอบการผู้ผลิตหน้ากาก เจลแอลกอฮอล์, สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (สอท.) เพื่อสอบถามความพร้อม กำลังการผลิต วิธีการกระจายสินค้า รวมถึงการซักซ้อมรองรับสถานการณ์ต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้ว่าจะต้องมีวิธีการรับมืออย่างไร หลังจาก สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่แพร่กระจายไปทั่วโลกมากขึ้น รวมถึงประเทศไทย
นายสมคิด ระบุว่า ตอนนี้ทั้งภาครัฐ และภาคเอกชน มองว่าไม่ว่าไทยจะเกิดสถานการณ์ระดับไหน ประเทศไทยซึ่งเป็นแหล่งผลิตอาหารของโลก ยังสามารถที่จะรับมือการผลิตสินค้าอุปโภค-บริโภค รวมถึงการกระจายสินค้าถึงมือผู้บริโภคได้เพียงพอ แต่เพื่อให้ประชาชนมั่นใจ จึงได้เรียกผู้ประกอบการมาหารือซักซ้อม รองรับทุกสถานการณ์ต่างๆ ที่จะเกิดขึ้น ไม่อยากให้ประชาชนแตกตื่นกักตุนแบบเมื่อ 2-3 วัน
ด้านนายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (สอท.) กล่าวว่า ในวันที่ 18 มีนาคมนี้เตรียมประชุมกรรมการบริหารส.อ.ท.นัดพิเศษ เพื่อหารือผลกระทบการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ซึ่งมีสถานการณ์การแพร่ระบาดอย่างต่อเนื่อง เริ่มมีผู้ติดเชื้อในประเทศมากขึ้น รวมทั้งสถานการณ์ในประเทศทางฝั่งยุโรป และสหรัฐฯ มีความรุนแรงขึ้น ซึ่งในที่ประชุมทางกรรมการบริหาร เบื้องต้นจะสอบถามสถานการณ์ รวมถึงผลกระทบของกลุ่มต่างๆ ของ สอท. รวมถึงมาตรการเตรียมความพร้อมให้ผู้ประกอบการรองรับสถานการณ์ต่างๆ เพื่อไม่ให้กระทบทั้งผู้ประกอบการ และประชาชน
รฟท.-การบินไทยพร้อมคืนเงินหลังเลื่อนวันหยุดสงกรานต์
นายสุภัทร์ วรวัฒนนุทัย รองผู้อำนวยการ ฝ่ายบริการโดยสาร รักษาการแทนผู้อำนวยการฝ่ายบริการโดยสาร การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยว่า เบื้องต้นที่ประชุมเห็นควรให้คืนเงินค่าโดยสารเต็มจำนวน โดยไม่หักค่าธรรมเนียมคืนตั๋วให้ผู้โดยสารที่ซื้อตั๋วโดยสารก่อนวันที่ 17 มีนาคม และไม่ต้องการเดินทางต่อ โดยสามารถขอคืนตั๋วได้ที่สถานีรถไฟทุกแห่ง ส่วนผู้ที่ต้องการเลื่อนการเดินทางสามารถเลื่อนการเดินทางออกไปได้มากกว่า 1 ครั้ง จากระเบียบเดิมที่ให้เลื่อนการเดินทางได้เพียงครั้งเดียว
นอกจากนี้ รฟท.จะยกเลิกขบวนรถโดยสารเที่ยวพิเศษช่วงเทศกาลสงกรานต์ ประกอบด้วย ขบวนรถพิเศษที่ให้บริการเสริมวันที่ 10-11 เมษายน และ 15-16 เมษายน รวมขาไปและกลับ 12 ขบวน แต่จะยังเตรียมพร้อมไว้รองรับหากความต้องการเดินทางยังมีจำนวนมาก ส่วนขบวนรถเที่ยวปกติยังคงเปิดให้บริการตามตารางเดินรถเดิม โดยข้อสรุปทั้งหมด จะถูกเสนอให้ผู้ว่าการ รฟท.พิจารณาอนุมัติภายในวันนี้ จากนั้นจะมีการออกเป็นประกาศ รฟท.ภายในวันพฤหัสบดีนี้ และประชาชนสามารถไปขอคืนเงินได้ทันที แต่ขอความร่วมมือประชาชนที่ต้องการขอเงินคืนให้ทยอยดำเนินการเพื่อความสะดวกของทุกฝ่าย
นายวิวัฒน์ ปิยะวิโรจน์ รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ในส่วนของการบินไทย หากผู้โดยสารคนใดจองตั๋วล่วงหน้าที่จะเดินทางในช่วงเทศกาลสงกรานต์นี้ แต่ครม.ประกาศให้ยกเลิกช่วงเทศกาลสงกรานต์เพื่อไม่ให้คนเดินทาง ผู้โดยสารสามารถยกเลิก เปลี่ยนวันเวลาที่จะเดินทางได้โดยไม่เสียค่าธรรมเนียมเดินทาง
แฟ้มภาพ