ทันสถานการณ์โลก 06.30 น. วันอังคารที่ 17 มีนาคม 2563

17 มีนาคม 2563, 06:15น.


ธนาคารกลางทั่วโลกลดดอกเบี้ยตามเฟด



          ธนาคารกลางหลายประเทศทั่วโลกต่างปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงตามธนาคารกลางสหรัฐฯหรือเฟด ที่ลดดอกเบี้ยเป็นครั้งที่ 2 ลงมาอยู่ที่ระดับร้อยละ 0-0.25 ซึ่งเป็นความร่วมมือทางนโยบายเพื่อรับมือความเสี่ยงที่เพิ่มมากขึ้นจากไวรัสโควิด-19 ที่มีต่อเศรษฐกิจ นายเจอโรม พาวเวลล์ ประธานเฟดกล่าวว่า สถานการณ์โรคระบาดกดดันให้อุตสาหกรรม และกิจกรรมต่าง ๆ ต้องหยุดชะงัก เฟดจะใช้เครื่องมือที่มีเพื่อทำในสิ่งที่จำเป็นต้องทำ และอาจเพิ่มการซื้อพันธบัตรเพื่อสนับสนุนการทำงานของตลาดและการไหลเวียนของสินเชื่อ



          ธนาคารกลางนิวซีแลนด์ประกาศลดดอกเบี้ยลงมาอยู่ที่ร้อยละ 0.75 และจะอยู่ในระดับนี้เป็นเวลาหนึ่งปี



          ธนาคารกลางจีนอัดฉีดสภาพคล่อง 14,300 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯเข้าสู่ระบบการเงินโดยผ่านธุรกรรมการกู้ยืมระยะกลางเป็นเวลา 1 ปี และคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ร้อยละ 3.15



          ธนาคารกลางออสเตรเลีย ใช้มาตรการซื้อคืนพันธบัตรรัฐบาลเพื่อสนับสนุนตลาดการเงินและธุรกิจขนาดเล็ก โดยในสัปดาห์นี้ จะมีการประชุมของสภากำกับและดูแลด้านการเงินกับธนาคารพาณิชย์เพื่อหารือมาตรการเพิ่มเติมเพื่อช่วยเหลือธุรกิจและครัวเรือน



          ธนาคารกลางญี่ปุ่น หรือบีโอเจ ที่ใช้มาตรการดอกเบี้ยติดลบมาก่อนหน้านี้ ออกมาตรการหลายด้านรวมถึงโครงการเงินกู้ไม่คิดดอกเบี้ย เพื่อสร้างความมั่นใจว่าผู้ประกอบการจะมีสินเชื่อตามที่ต้องการ



          ธนาคารกลางอินโดนีเซียจะประชุมนโยบายตามกำหนดเดิมในปลายสัปดาห์นี้



          ธนาคารกลางปากีสถานจะประกาศลดดอกเบี้ยในวันนี้ (17 มี.ค.)



          ธนาคารกลางฮ่องกงลดดอกเบี้ยลงมาอยู่ที่ร้อยละ 0.86



          และธนาคารกลางเกาหลีใต้ลดดอกเบี้ยลงมาอยู่ที่ร้อยละ 0.75 ต่ำสุดเป็นประวัติการณ์และเป็นการลดดอกเบี้ยฉุกเฉินครั้งแรกในรอบกว่า 10 ปี



คาดเศรษฐกิจสหรัฐฯจะหดตัวถึงร้อยละ 5 ขณะที่เศรษฐกิจจีนหดตัวรุนแรงสุดในรอบ 30 ปี



          โกลด์แมน แซคส์ ออกรายงานคาดการณ์เศรษฐกิจสหรัฐฯ โดยระบุว่าเศรษฐกิจจะหดตัวอย่างรุนแรงในช่วงปลายเดือนมีนาคมและเมษายนเนื่องจากธุรกิจและผู้บริโภคลดการใช้จ่าย โดยอาจหดตัวลงร้อยละ 5 ในช่วงไตรมาสสอง หลังจากที่ไม่มีการขยายตัวเลยในไตรมาสแรกของปีนี้ และลดประมาณการทั้งปีจากร้อยละ 2.1 เหลือร้อยละ 0.4



          ขณะที่รายงานผลสำรวจนักเศรษฐศาสตร์ของบลูมเบิร์ก คาดการณ์ว่า การเติบโตของสหรัฐฯ จะอยู่ในระดับเกือบหยุดชะงักในช่วงไตรมาสสองและมีโอกาสมากขึ้นที่จะเกิดภาวะถดถอยในช่วง 12 เดือนข้างหน้า



          ด้านสำนักงานสถิติแห่งชาติของจีน แถลงว่า อัตราผลผลิตในภาคอุตสาหกรรมของจีนหดตัวรุนแรงมากสุดในรอบ 30 ปีในช่วงสองเดือนแรกของปีนี้ ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมลดลงมากถึงร้อยละ 13.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งถือว่าอ่อนแอที่สุดนับตั้งแต่เดือนมกราคม 2533 โดยเมื่อสัปดาห์ที่แล้วทางการจีนระบุว่า จุดสูงสุดของการระบาดได้ผ่านไปแล้ว แต่นักวิเคราะห์เตือนว่าอาจใช้เวลาหลายเดือนก่อนที่เศรษฐกิจจะกลับมาสู่ภาวะปกติ



ทั่วโลกมีผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 มากกว่า 7,600 รายแล้ว หลายประเทศใช้มาตรการปิดพื้นที่เสี่ยง



          จำนวนผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ทั่วโลกมีจำนวนมากกว่า 181,000 คนแล้ว และมีผู้เสียชีวิตมากกว่า 7,100 ราย โดยอันดับ 1 คือจีนที่มีผู้ติดเชื้อสะสม 81,032 คนเสียชีวิตแล้ว 3,217 รายและหายป่วยแล้ว 67,910 คน



          อันดับ 2 คือ อิตาลี มีผู้ป่วยสะสม 27,980 คน เสียชีวิตแล้ว 2,158 ราย หายป่วยแล้ว 2,749 คน เป็นชาติแรกของสหภาพยุโรป หรือ อียู ที่ปิดโรงเรียนและธุรกิจร้านค้าเกือบทั่วประเทศเพื่อควบคุมการแพร่ระบาด แต่ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคระบาด ระบุว่าสถานการณ์ของโรคในประเทศยังไม่ถึงจุดสูงสุด และอิตาลีกำลังจะเผชิญกับช่วงเวลาที่มีความเสี่ยงมากที่สุด



          อันดับ 3 คือ อิหร่าน ในช่วง 24 ชั่วโมงของวันจันทร์มีผู้ป่วยใหม่ 1,053 คนทำให้มีผู้ป่วยสะสม 14,991 คน เสียชีวิตแล้ว 853 ราย หายป่วยแล้ว 4,590 คน โดยในกลุ่มผู้เสียชีวิตมีนักการเมือง และเจ้าหน้าที่ทางการในระดับสูงทั้งที่ยังดำรงตำแหน่ง และพ้นจากตำแหน่งไปแล้ว อย่างน้อย 12 ราย



          อันดับ 4 คือ สเปน ซึ่งในรอบ 24 ชั่วโมงพบผู้ติดเชื้อรายใหม่เกือบ 1,000 คน ทำให้ยอดรวมผู้ติดเชื้ออยู่ที่ 9,942 คน เสียชีวิตแล้ว 342 รายแม้ว่ารัฐบาลจะประกาศภาวะเฝ้าระวังทั่วประเทศ ห้ามประชาชน 46 ล้านคนออกนอกบ้าน ยกเว้นการออกไปซื้ออาหารหรือเวชภัณฑ์ ไปทำงาน หรือไปพบแพทย์



          อันดับ 5 คือ เกาหลีใต้ มีผู้ป่วยสะสม 8,236 คน เสียชีวิตแล้ว 75 รายและหายป่วยแล้ว 1,137 คน



          อันดับ 6 คือ เยอรมนี มีผู้ป่วยสะสม 7,272 คน เสียชีวิตแล้ว 17 รายและหายป่วยแล้ว 67 คน คณะรัฐมนตรี มีมติเห็นชอบจัดสรรงบประมาณฉุกเฉิน 550,000 ล้านยูโร (เกือบ 20 ล้านล้านบาท) เพื่อช่วยเหลือทุกภาคส่วนในประเทศที่ได้รับผลกระทบ ซึ่งยังเป็นวงเงินงบประมาณที่มากที่สุดนับตั้งแต่การฟื้นฟูเยอรมนีหลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สอง



          อันดับ 7 คือ ฝรั่งเศส มีผู้ป่วยสะสม 6,650 คน เสียชีวิตแล้ว 148 ราย หายป่วยแล้ว 12 คน ประธานาธิบดีเอ็มมานูเอล มาครง ออกคำสั่งให้ประชาชนอยู่ในแต่บ้านตั้งแต่เที่ยงวันของวันนี้ (17 มี.ค.) เป็นต้นไป ยกเว้นแต่มีเหตุจำเป็น หรือออกไปซื้ออาหาร และประกาศเลื่อนการเลือกตั้งท้องถิ่นรอบ 2 ที่จะมีขึ้นในวันที่ 22 มีนาคมนี้ พร้อมระบุด้วยว่าอียูเห็นพ้องให้ปิดพรมแดนจากภายนอกในช่วง 30 วันข้างหน้า



          อันดับ 8 คือ สหรัฐฯ มีผู้ป่วยสะสม 4,442 คน เสียชีวิตแล้ว 78 รายและหายป่วยแล้ว 17 คน นายบิล เดอ บลาสิโอ นายกเทศมนตรีนครนิวยอร์ก ออกคำสั่งให้ร้านอาหาร บาร์ และร้านกาแฟ ปิดให้บริการ ยกเว้นร้านขายอาหารสดและบริการจัดส่งอาหารหรือบริการอาหารแบบซื้อกลับบ้าน ส่วนนายอิริก การ์เซ็ตติ นายกเทศมนตรีลอสแองเจลิส ก็ออกคำสั่งในลักษณะเดียวกัน



          อันดับ 9 คือ สวิตเซอร์แลนด์ มีผู้ป่วยสะสม 2,200 คนเสียชีวิตแล้ว 14 รายและหายป่วยแล้ว 4 คน รัฐบาลออกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินทั่วประเทศไปจนถึงวันที่ 19 เมษายน พร้อมคุมเข้มชายแดนที่ติดกับเยอรมนี ฝรั่งเศส และออสเตรีย



          และอันดับ 10 คือสหราชอาณาจักร มีผู้ป่วยสะสม 1,551 คน เสียชีวิตแล้ว 56 รายหายป่วย 21 คนนายกรัฐมนตรีบอริส จอห์นสัน ออกคำแนะนำให้กักกันโรคในครัวเรือน ทำงานจากที่บ้านและยุติการรวมตัวของคนหมู่มาก แต่ยังไม่ให้ปิดโรงเรียน แต่สาธารณสุขเตือนว่าจำนวนผู้ติดเชื้อจริงอาจสูงถึง 10,000 คน ซึ่งก่อนหน้านี้เซอร์แพทริก วัลแลนซ์ หัวหน้าที่ปรึกษาด้านวิทยาศาสตร์ของรัฐบาลเสนอให้มีการสร้างภูมิคุ้มกันหมู่เพื่อให้มีการควบคุมการแพร่ระบาดที่ยั่งยืนในระยะยาว ซึ่งหมายถึงการปล่อยให้ประชากรติดเชื้อเพื่อให้เกิดภูมิคุ้มกันในหมู่ผู้ที่หายป่วยและรอดชีวิต ซึ่งเขาอธิบายว่าภูมิคุ้มกันนี้จะกลายเป็นสมบัติส่วนรวม ช่วยปกป้องกลุ่มคนไม่มีภูมิคุ้มกันได้โดยอัตโนมัติ ทั้งยังป้องกันการกลับมาระบาดซ้ำของโรคในภายหลังด้วย ซึ่งเป็นแนวคิดที่นายกรัฐมนตรีแสดงความเห็นด้วย แต่มีนักวิทยาศาสตร์ 229 คน ส่งจดหมายเปิดผนึกถึงรัฐบาลแสดงความเห็นคัดค้าน ทั้งตำหนิว่ารัฐบาลยังทำงานล่าช้า



ดาวโจนส์ดิ่งเกือบ 3 พันจุด



          ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ทำสถิติเป็นวันเลวร้ายที่สุดนับตั้งแต่ปี 2530 หลังจากที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ยอมรับเป็นครั้งแรกว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯอาจกำลังดิ่งสู่ภาวะถดถอย



          ดัชนีดาวโจนส์ ลดลง 2,997.10 จุดปิดที่ 20,188.52 จุด



          เอสแอนด์พี ลดลง 324.89 จุด ปิดที่ 2,386.13 จุด



          แนสแดค ลดลง 970.28 จุด ปิดที่ 6,904.59 จุด



          ด้านราคาน้ำมันขยับลงต่ำสุดในรอบ 4 ปี โดยสัญญาสหรัฐฯหลุด 30 ดอลลาร์ สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส อินเตอร์มีเดียต หรือไลต์สวีตครูด งวดส่งมอบเดือนเมษายน ลดลง 3.03 ปิดที่ 28.70 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล



          เบรนต์ลอนดอนงวดส่งมอบเดือนพฤษภาคม ลดลง 3.80 ดอลลาร์ ปิดที่ 30.05 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล



....

ข่าวทั้งหมด

X