ความเคลื่อนไหวเมืองไทยวันนี้ 19.30 น.วันจันทร์ที่ 16 มีนาคม 2563

16 มีนาคม 2563, 20:33น.


ประธานสภาฯ อนุญาตให้ประธานกรรมาธิการทุกคณะงดประชุม



          นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึง สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด- 19 ว่าเบื้องต้นสิ่งที่ห้ามเด็ดขาด มีเฉพาะการประชุมใหญ่สภาผู้แทนราษฎร และไม่ให้เดินทางออกนอกประเทศ และกำชับการคัดกรองคนเข้า-ออก อาคารรัฐสภา โดยไม่เว้นวันหยุด ส่วนการประชุมคณะกรรมาธิการ ประธานคณะกรรมาธิการมีอำนาจสั่งให้งดประชุมได้ เบื้องต้นยังไม่มีการออกหนังสือเวียนและหากคณะกรรมาธิการใดงดการประชุม ประธานสภาผู้แทนราษฎรก็สามารถขยายเวลาการทำงานให้ได้ในภายหลัง



‘ถาวร เสนเนียม’ ยืนยัน ผลตรวจไม่ติดเชื้อโควิด-19



          นายถาวร เสนเนียม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ยืนยันผลการตรวจจากห้องปฏิบัติการ ซึ่งแพทย์จากโรงพยาบาลกลาง ส่งไปตรวจที่โรงพยาบาลรามาธิบดี ยืนยันว่า ตน และคนติดตาม ที่เดินทางไปร่วมมอบรางวัลในการแข่งขันชกมวยที่สนามมวยลุมพินี เมื่อวันที่ 6 มีนาคม ไม่มีเชื้อไวรัสโควิด-19 ถือว่าปลอดภัย แต่ตนในฐานะที่ยังอยู่ในข่ายสงสัยจะต้องเฝ้าระวังตัวเอง 14 วัน



หุ้นไทย ร่วงแรง 82.83 จุด กังวลโควิด-19 ฉุดเศรษฐกิจ



          ดัชนีตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ปิดตลาดวันนี้ที่ 1,046.08 จุด ลดลง 82.83 จุด หรือร้อยละ 7.34  มูลค่าการซื้อขาย 68,179.26 ล้านบาท นายมงคล พ่วงเภตรา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการฝ่ายกลยุทธ์การลงทุนหลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์เคทีบี (ประเทศไทย) กล่าวว่า ตลาดหุ้นไทยวันนี้ ปรับตัวลงทิศทางเดียวกับตลาดต่างประเทศ โดยตลาดหุ้นในภูมิภาคเอเชียต่างติดลบ จากความกังวลการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งจะมีผลต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจ และธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ปรับลดอัตราดอกเบี้ยแบบฉุกเฉินอีกครั้ง ซึ่งเป็นการปรับลดเร็วมาก



บีโอเจ ออกมาตรการโครงการเงินกู้ปลอดดอกเบี้ย



          ธนาคารกลางญี่ปุ่น(บีโอเจ) ระบุในแถลงการณ์ว่า บีโอเจ มีมติจัดทำมาตรการต่างๆเพื่อลดผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เป็นผลจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เช่นเดียวกับ ธนาคารกลางทั่วโลก รวมถึงการทำโครงการเงินกู้ปลอดดอกเบี้ยเป็นระยะเวลา 1 ปีสำหรับสถาบันการเงินที่ขาดสภาพคล่องทางการเงินเพื่อให้มีเงินทุนมากพอที่จะปล่อยกู้ให้กับธุรกิจที่ได้รับผลกระทบ ในส่วนนโยบายดอกเบี้ย บีโอเจ มีมติตรึงอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นไว้เท่าเดิมที่ร้อยละ -0.1



         ขณะที่ ธนาคารกลางของนิวซีแลนด์ ลดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 0.75 มาอยู่ที่ร้อยละ 0.25 สะท้อนให้เห็นว่าผู้กำหนดนโยบายทางการเงินของธนาคารกลางทั่วโลก วิตกว่าเศรษฐกิจโลกจะได้รับผลกระทบจากไวรัสโควิด-19



ไม่ต้องตุน! กรมการค้าภายใน หารือผู้ผลิต-ห้างฯ ยืนยันสินค้ามีพอ



          นายประโยชน์ เพ็ญสุต รองอธิบดีกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ ประชุมร่วมกับผู้ประกอบการสินค้าอุปโภคบริโภคมากกว่า 56 ราย ติดตามสถานการณ์สินค้าอุปโภคบริโภคและรองรับความต้องการของประชาชนที่เพิ่มขึ้น เพื่อติดตามสตอกสินค้าภายหลังประชาชนแห่ซื้อสินค้ากักตุนจนสินค้าหลายรายการหมดชั้นวาง ผู้ประกอบการ ยืนยันว่า สินค้ายังไม่ขาดแคลนและยังมีเพียงพอสำหรับประชาชน แต่สินค้าที่หายออกไปจากชั้นวาง เกิดจากการเติมสินค้าและการขนส่งสินค้าที่ล่าช้า ส่วนกำลังการผลิตปัจจุบันอยู่ที่ร้อยละ 70 และยังเพิ่มกำลังการผลิตได้อีกร้อยละ 30 หากประชาชนมีความต้องการสินค้าโดยสินค้าที่ประชาชนมีความต้องการสูง ได้แก่ อาหารแห้ง เช่น บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ข้าวสาร ปลากระป๋อง และกระดาษทิชชู่ เป็นต้น 



          กรณีห้างสรรพสินค้าบางแห่งจำกัดการซื้อหรือปิดป้ายสินค้ามีจำนวนจำกัด หมดแล้วหมดเลย รองอธิบดีกรมการค้าภายใน ระบุว่า อาจจะต้องไปปรับวิถีการสื่อสารกับห้างสรรพสินค้าใหม่ เพื่อไม่ให้ผู้บริโภคเกิดความตื่นตระหนก ซึ่งตัวแทนแต่ละห้างสรรพสินค้าพร้อมที่จะช่วยเร่งประชาสัมพันธ์ สร้างความเข้าใจให้กับผู้บริโภคจะได้ลดผลการกักตุนสินค้ามากเกินความจำเป็น



          ส่วนการแก้ปัญหาหน้ากากอนามัยขาดแคลน ได้เร่งให้โรงงานผลิตทั้ง 11 แห่ง เพิ่มกำลังการผลิต ขณะนี้สามารถผลิตหน้ากากอนามัย 1.7 ล้านชิ้นต่อวัน คาดว่า ภายในสัปดาห์นี้ จะเพิ่มเป็น 2 ล้านชิ้น ทำให้การจัดสรรหน้ากากอนามัยเพิ่มขึ้น



31มี.ค. คืนเงินประกันการใช้ไฟฟ้า



          นายประเทศ ศรีชมภู รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สกพ.) กล่าวว่า วันพุธนี้ (18 มี.ค.) สกพ.จะหารือกับการไฟฟ้านครหลวง (กฟน. ) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) เรื่องการกำหนดหลักเกณฑ์ รายละเอียดการดำเนินการเรื่องการคืนเงินประกันการใช้ไฟฟ้าเพื่อกำหนดแนวทางปฏิบัติร่วมกัน โดยจะแจ้งให้ประชาชนทราบหลักเกณฑ์ชัดเจนวันที่ 25 มี.ค.นี้ และทั้ง 2 การไฟฟ้า จะเริ่มทยอยคืนเงินตั้งแต่วันที่ 31 มี.ค.เป็นต้นไป โดยไม่กำหนดวันสิ้นสุดการคืนเงิน อย่างไรก็ตาม จากสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ประกอบกับผู้ที่จะได้คืนเงินทั้งกลุ่มบ้านที่อยู่อาศัยและผู้ประกอบการขนาดเล็กมีจำนวนมาก 21-22 ล้านราย ดังนั้น จึงจะเปิดให้มีการยื่นขอคืนเงินเป็นระบบออนไลน์ผ่านแอปพลิเคชั่นต่าง ๆ เป็นหลัก แต่ทั้งนี้ก็ต้องพิจารณาถึงกลุ่มที่ไม่ได้มีการใช้แอปพลิเคชั่นด้วยว่าจะดูแลอย่างไร การคืนเงินให้คนถึง 21-22 ล้านคน เราได้พิจารณาว่าหากเปิดให้มาขอคืนเงินที่สาขาการไฟฟ้าอาจจะมีคนไปต่อคิวจำนวนมากจะเป็นความเสี่ยง หากมีผู้ติดเชื้อโควิด-19 ดังนั้น จึงเน้นการยื่นเรื่องผ่านออนไลน์เป็นหลัก และไม่กำหนดระยะเวลาการขอคืนว่าจะเป็นเมื่อใด โดยเงินประกันนี้ก็เป็นเงินของประชาชนที่นำมาวางไว้ตั้งแต่ช่วงขอใช้ไฟฟ้า



           นายประเทศ กล่าวว่า ในส่วนผู้ได้เงินคืนอย่างรวดเร็วจะเป็นผู้ที่มีชื่อตรงกับรายชื่อวางเงินประกันการใช้ไฟฟ้า ซึ่งจะดูจากหลักฐานบัตรประชาชนและคืนเงินผ่านบัญชีธนาคาร อย่างไรก็ตาม ในกรณีชื่อไม่ตรงกับผู้วางเงินประกันฯ ขณะนี้กำลังวางแนวทางว่าจะรับเรื่องร้องเรียน และตรวจสอบกันอย่างไร ให้อำนวยความสะดวกสบายแก่ประชาชนและไม่เกิดปัญหาขึ้นมาภายหลัง 



          สำหรับการคืนเงินประกันการใช้ไฟฟ้า ค่าประกันจะเป็นไปตามขนาดแอมป์ของมิเตอร์  มีทั้งอัตราเก่าและใหม่  โดยอัตราใหม่ในส่วนของครัวเรือนขนาด 5, 15, 30 แอมป์ ได้คืน 300 บาท 2,000 บาท และ 4,000 บาท ตามลำดับ ส่วนผู้ประกอบการขนาดเล็กค่าประกันอยู่ที่ 6,000-8,000 บาท หากแยกผู้ที่อยู่ในเขต กฟน. คือ กทม., สมุทรปราการ, นนทบุรี จะได้รับเงินคืน 3.89 ล้านราย วงเงิน 13,581 ล้านบาท พื้นที่ กฟภ.จะได้รับเงินคืน 19,987 ล้านบาท จำนวน 19.5 ล้านราย  



สทนช.เห็นชอบแผนรับมือภาวะเสี่ยงขาดน้ำช่วงหน้าแล้งในพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยา



          สถานการณ์ภัยแล้ง นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กล่าวว่า ที่ประชุมคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ครั้งที่ 1/2563 และการประชุมคณะอนุกรรมการอำนวยการด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ครั้งที่ 1/2563 ที่สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ รับทราบถึงผลการดำเนินงานเตรียมการรับมือภาวะเสี่ยงขาดแคลนน้ำในฤดูแล้งในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา



-ให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ควบคุมการปลูกพืชฤดูแล้ง ใน/นอกเขตชลประทาน เพื่อป้องกันผลกระทบต่อปริมาณน้ำเพื่อการอุปโภค-บริโภค



-ให้กรมชลประทานและการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ควบคุมการจัดสรรน้ำ ลุ่มน้ำเจ้าพระยา โดยเฉพาะอ่างเก็บน้ำภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ และเขื่อนป่าสักฯ ให้เป็นไปตามแผนการจัดสรรน้ำ



-ให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กรมทรัพยากรน้ำ และกรมทรัพยากรน้ำบาดาล กำหนดมาตรการรองรับพื้นที่เพาะปลูกพืชเศรษฐกิจ ใน/นอกเขตชลประทาน ทั้งที่ปลูกแล้วและคาดว่าจะได้รับผลกระทบ



-ให้กรมชลประทาน การประปานครหลวง และสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) ติดตามวิเคราะห์ผลการให้ผันน้ำจากฝั่งตะวันตกเพื่อผลักดันน้ำเค็มแม่น้ำเจ้าพระยา และการดำเนินการตามมาตรการควบคุมความเค็มและการเพิ่มศักยภาพการลำเลียงน้ำในคลองประปา โดยที่ประชุมได้มอบหมายให้หน่วยงานเร่งดำเนินการตามมติของคณะทำงานฯ โดยเร็ว



         ขณะเดียวกัน พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ เน้นย้ำให้หน่วยงานที่ได้รับการจัดสรรงบกลางแก้ไขปัญหาภัยแล้งระยะเร่งด่วนเพื่อป้องกันการขาดแคลนน้ำอุปโภค-บริโภค และเสนอโครงการเร่งด่วนเพื่อกักเก็บน้ำในฤดูฝน ปี 2563 เร่งรัดดำเนินการโดยเร็วให้แล้วเสร็จภายในเดือนมิถุนายน 2563 และติดตามช่วยเหลือ บรรเทาความเดือดร้อน และควบคุม สถานการณ์ปัญหาน้ำแล้ง ไม่ให้รุนแรงมากยิ่งขึ้น และเป็นไปในทิศทางเดียวกัน ลดความเสียหายให้กับประชาชน ที่ได้รับผลกระทบอย่างทั่วถึง และทันเวลาด้วย



แฟ้มภาพ 



 

ข่าวทั้งหมด

X