เศรษฐกิจโลก -ไทย กระทบหนัก วิกฤตโควิด-19 นักวิชาการมองอุตสาหกรรมยา, หน้ากากอนามัยเติบโตมากที่สุด

13 มีนาคม 2563, 16:50น.


          ปีนี้ประเทศไทยเจอศึกหนักหลายด้าน โดยเฉพาะการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ไม่รู้ว่าจะสิ้นสุดเมื่อไร ศูนย์ข่าวแปซิฟิค จึงสอบถามไปยัง รศ.ดร.สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์ นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจและการเมือง เกี่ยวกับผลกระทบที่จะเกิดกับเศรษฐกิจไทย, ภาพรวมเศรษฐกิจโลกในปีนี้ และอุตสาหกรรมในประเทศไทยที่จะเติบโตที่สุดและย่ำแย่หนักที่สุดจากการระบาดของโรคโควิด-19



          เริ่มที่อุตสาหกรรมที่จะเติบโตมากที่สุดช่วงที่โรคระบาด รศ.ดร.สมชาย มองไปที่อุตสาหกรรมยา, เครื่องมือแพทย์ และอุตสาหกรรมการผลิตหน้ากากอนามัย ส่วนอุตสาหกรรมที่จะย่ำแย่หนักก็มีหลายอย่าง ทั้งอุตสาหกรรมด้านการขนส่ง, บริษัทน้ำมัน โดยเฉพาะอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว และภาคบริการ เพราะเมื่อเกิดโรคระบาด นักท่องเที่ยวก็จะไม่เข้ามา ทำให้ภาคธุรกิจต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับนักท่องเที่ยวขาดรายได้



          ส่วนเศรษฐกิจไทยปีนี้ รศ.ดร.สมชาย เชื่อว่า ทั้งสองไตรมาสแรกของปีติดลบแน่ และด้วยสถานการณ์โรคโควิด-19 ยังไม่นิ่ง จึงยากต่อการประเมิน แต่เบื้องต้นมองเศรษฐกิจไทยปีนี้ออกได้ 3 แนวทาง



-ทางแรกเป็นทางที่ดีที่สุด คือ โรคโควิด-19 คลี่คลายช่วงกลางปีประกอบกับครึ่งปีหลังรัฐบาลออกมาตรการกระตุ้น จะทำให้เศรษฐกิจไทยปีนี้ขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 1 กว่า ๆ



-ทางที่สอง ครึ่งปีหลังโควิด-19 ยังลุกลามต่อเนื่อง ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจไทยปีนี้ขยายตัวไม่ถึงร้อยละ 1 หรืออาจติดลบ



-และทางสุดท้าย เป็นทางที่แย่ที่สุด คือ ในไทยมีผู้ป่วยและเสียชีวิตจากโรคโควิด-19 จำนวนมาก ประกอบกับการระบาดก็ยังไม่หยุด จะฉุดให้เศรษฐกิจไทยติดลบแน่นอน



          ส่วนเศรษฐกิจโลก รศ.ดร.สมชาย ประเมินว่า เลวร้ายสุด คือ หลายประเทศเศรษฐกิจอาจติดลบต่อเนื่องสองไตรมาสติด แต่ในภาพรวมมองว่าเศรษฐกิจโลกปีนี้จะขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 1 กว่า ๆ ถึงร้อยละ 2.2 แต่ไม่ถึงร้อยละ 3.2 ที่เป็นการประเมินไว้ก่อนหน้ามีการระบาดของโรค พร้อมมองว่าประเทศมหาอำนาจ เช่น สหรัฐฯ และทวีปยุโรป เศรษฐกิจอาจติดลบ ส่วนภูมิภาคละตินอเมริกาอาจขยายตัวต่ำกว่าที่คาดไว้ แต่ทั้งหมดขึ้นกับมาตรการกระตุ้นของรัฐบาลแต่ละที่ด้วย หากมาตรการดีจะทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวได้ ส่วนความขัดแย้งระหว่างประเทศซาอุดีอาระเบียกับรัสเซียเรื่องการปรับกำลังการผลิตน้ำมัน มองว่ารัสเซียจงใจหวังให้ราคาน้ำมันลงอยู่แล้ว เพื่อต้านแรงซื้อจากประเทศต่าง ๆ ที่หันไปซื้อสหรัฐฯที่กำลังผลิตมาขาย ทั้งต้องการนำเรื่องนี้มาเป็นเกมการเมืองกับสหรัฐฯ เนื่องจากซาอุฯ ก็เป็นพันธมิตรหลักของสหรัฐฯ แต่ถึงช่วงหนึ่งแล้วเชื่อว่ารัสเซียและซาอุฯ จะหันมาเจรจากัน

ข่าวทั้งหมด

X