ความเคลื่อนไหวเมืองไทยวันนี้ 07.30น.วันพฤหัสบดีที่ 12 มีนาคม 2563
รัฐบาลออกมาตรการรับมือโควิด-19
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในฐานะผู้บัญชาการศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 เรียกประชุมด่วนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการแก้ปัญหาการแพร่ระบาดโรคโควิด19 เป็นนัดแรก ที่ประชุมมีมติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยใช้อำนาจตาม พ.ร.บ.เข้าเมือง ประกาศยกเลิกวีซ่า ออน แอไรวัล (วีโอเอ) 18 ประเทศ ประกอบด้วย บัลแกเรีย, ภูฏาน, จีน, ไซปรัส, เอธิโอเปีย, ฟิจิ, จอร์เจีย, อินเดีย, คาซัคสถาน, มอลตา, เม็กซิโก, นาอูรู, ปาปัวนิวกินี, โรมาเนีย, รัสเซีย, ซาอุดีอาระเบีย, อุซเบกิสถาน, สาธารณรัฐวานูอูตู และเขตเศรษฐกิจไต้หวัน
สำหรับกลุ่มประเทศนี้ หากนักท่องเที่ยวต้องการเดินทางเข้ามาจะต้องไปติดต่อสถานทูตไทยในแต่ละประเทศก่อน นอกจากนั้นยังยกเลิกฟรีวีซ่าชั่วคราวกับนักท่องเที่ยว 3 ประเทศ คือ อิตาลี เกาหลีใต้ ฮ่องกง จนกว่าสถานการณ์จะกลับเข้าสู่ปกติ
ส่วนมาตรการที่เป็นที่สนใจของประชาชนอย่างมากคือ การยกเลิกทุกศูนย์กักกันเฝ้าระวังโควิด-19 ซึ่งเป็นสถานที่ที่รัฐบาลกำหนดให้ เปลี่ยนเป็นกักกันที่บ้าน เป้าหมายอยู่ที่กลุ่มผู้ใช้แรงงานผิดกฎหมายหรือผีน้อยจากประเทศเกาหลีใต้ ซึ่งรัฐมนตรีมหาดไทยมอบอำนาจฝ่ายปกครองจัดส่งกลับภูมิลำเนา มีผลตั้งแต่เวลา 12.00 น. ของวันที่ 10 มี.ค.
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการประชุมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่า วันนี้จำเป็นต้องจัดประชุมโดยเร่งด่วนเพื่อรับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในแต่ละวัน ซึ่งเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ข้อมูลการแพร่ระบาดในขณะนี้เราจึงจำเป็นต้องมาทบทวนและรับมือกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น การหารือวันนี้ได้กำหนดมาตรการรองรับคนจากต่างประเทศที่จะเข้ามาจากประเทศที่เสี่ยงและมาตรการการดูแลคนไทยให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน และอาจต้องดูแลเป็นพิเศษตามสิทธิการเป็นพลเมืองไทย สำหรับการเดินทางเข้ามายังประเทศไทยทั้งทางตรง ทางอ้อม จะต้องมีมาตรการควบคุม คัดกรอง ในส่วนพื้นที่ควบคุมแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ คนต่างประเทศที่มาจากประเทศกลุ่มเสี่ยง มีมาตรการเตรียมการที่สนามบิน โดยจัดโรงแรมโนโวเทล สุวรรณภูมิ รองรับ เป็นการจัดไว้โดยเฉพาะ และขึ้นอยู่กับว่าผู้โดยสารที่มาจากประเทศนั้นๆ จะอยู่กี่วัน แต่ต้องยอมรับว่า ถ้าอยู่ต้องกักตัวไว้ 14 วัน
กระทรวงมหาดไทย ยังมีอำนาจแต่งตั้งเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ เป็นผู้มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายลงโทษหากเจ้าตัวไม่ทำตามมาตรการที่กำหนด เช่น การออกนอกพื้นที่ เจ้าหน้าที่ สธ. ฝ่ายปกครอง ทหาร ตำรวจ จะร่วมกันเฝ้าดูอาการและจะมีเจ้าหน้าที่ไปตรวจสุขภาพตลอดเวลา หากมีปัญหาทางสุขภาพจะนำไปที่โรงพยาบาลทันที
สำหรับผู้ที่ต้องการเดินทางเข้าประเทศจะต้องผ่านการตรวจร่างกายและมีใบรับรองแพทย์ไม่เกิน 3 วัน มายืนยันกับสถานทูต หรือสถานกงสุล เพื่อเป็นการยืนยัน ก่อนเดินทางเข้าประเทศไทย และหากชาวต่างชาติที่เดินทางมาจาก 4 ประเทศได้แก่ จีน เกาหลีใต้ อิตาลี และอิหร่าน เมื่อผ่านเข้ามาประเทศไทย จะต้องถูกกักตัวไว้
ส่วนช่วงค่ำของเมื่อคืนนี้ นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี โพสต์ข้อความผ่านทางเฟซบุ๊กโดยระบุว่า "ชี้แจงนะคะ ศูนย์เฝ้าระวังที่รัฐบาลตั้งขึ้น หรือ State Quarantine ที่ฐานทัพเรือสัตหีบ ที่ขณะนี้ได้มีการเฝ้าระวังผู้ที่เดินทางกลับจากประเทศเกาหลีใต้ ยังคงเปิดใช้ และยังมีกลุ่มเฝ้าระวังอยู่ในศูนย์ฯ และต่อไปจะใช้สำหรับผู้ที่มีปัญหาในระบบการคัดกรอง และไม่สามารถไปกักกันเฝ้าระวังที่ภูมิลำเนาได้ หรือกรณีอื่นๆ ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต เช่น คนไทยจะกลับมาจากประเทศหนึ่ง แต่ไม่สามารถขอใบรับรองแพทย์ได้ หรือไม่ผ่านการคัดกรองจากต้นทางมาอย่างครบขั้นตอน รวมถึงกรณีอื่นๆ ที่อาจเกิดขึ้น ซึ่งศูนย์ฯนี้จะได้มีไว้เพื่อพร้อมรองรับกลุ่มดังกล่าว"
ไทยยอดผู้ติดเชื้อเพิ่มอีก 6 คน รวมผู้ป่วยสะสม 59 คน
นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ พร้อมด้วย นพ.ณรงค์ อภิกุลวณิช รองอธิบดีกรมการแพทย์ และนพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร ผู้อำนวยการกองโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค แถลงข่าวสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ว่า พบผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่ม 6 คน ทำให้ยอดรวมป่วย 59 คน รักษาหาย 34 คน เหลือรักษาในโรงพยาบาล 24 คน
โดยผู้ป่วยคนที่ 1 เจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมือง ประจำสนามบินสุวรรณภูมิ ชายอายุ 21ปี มีไข้ ไอ น้ำมูก ป่วยตั้งแต่วันที่ 8 มีนาคม คาดว่าเกิดจากการสัมผัสพาสปอร์ตนักเดินทาง 2.ชายอายุ 40 ปี เจ้าหน้าที่ตรวจสัมภาระนักเดินทาง ประจำสนามบินสุวรรณภูมิ ป่วย มีไข้ ไอ ปวดตัว ตั้งแต่วันที่ 7 มีนาคม คาดว่าติดต่อจากการสัมผัสสัมภาระนักเดินทาง 3.ชายอายุ 25 ปี พนักงานบริษัท ไม่มีประวัติเดินทาง แต่ป่วยปอดอักเสบ เข้าเกณฑ์สอบสวนโรค ตรวจพบเชื้อโควิด-19 4.หญิงไทยอายุ 27 ปี กลับจากเกาหลีใต้ มีไข้ ไอ น้ำมูก 5.ชายไทยอายุ 40 ปี มีประวัติเดินทางกลับมาจากญี่ปุ่น และคนที่ 6 ชายชาวสิงคโปร์ อายุ 36 ปี ทำงานพบปะชาวต่างชาติ
ไม่พบผีน้อยป่วย-มีไข้
นพ.โสภณ กล่าวว่า ส่วนการสอบสวนโรคในพนักงานบริษัทแกร็บ(Grab) ที่เดินทางมาจากสิงคโปร์และพบว่ามาพำนักในไทยแค่1วันจึงเชื่อว่าไม่น่า จะป่วยในประเทศไทย และผู้สัมผัสใกล้ชิดเกี่ยวข้อง84 คนไม่มีประวัติป่วย ส่วนแรงงานนอกระบบกลับจากเกาหลีใต้ มีรวม 241 คนเป็นชาย 104 คน หญิง 137คน และมีกลุ่มต้องดูแลพิเศษ หญิงตั้งครรภ์ 6 คน เด็กเล็ก 5 คน ป่วยโรคเรื้อรัง 18 คน ทุกคนไม่พบอาการป่วยหรือมีไข้
นพ.โสภณ กล่าวด้วยว่า สืบเนื่องจากสถานการณ์การระบาดพบมากขึ้นรวม 115 ประเทศและในทวีปยุโรป พบผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้น โดยที่ประเทศสเปน ติดอยู่กับอิตาลี พบผู้ป่วยจำนวนมากกว่า 1,000 คน และมีการระบาดต่อเนื่องมากกว่า 2 สัปดาห์ จึงแนะนำว่าขอให้ประชาชนเสี่ยงการเดินทางไปประเทศดังกล่าว และหากพบผู้เดินทางมาจากพื้นที่นี้ ขอให้ปฏิบัติตนเองเคร่งครัด สวมหน้ากากเมื่อป่วยและหมั่นล้างมือ ทั้งนี้ การเพิ่มพื้นที่เลี่ยงการเดินทางอยู่ในกลุ่มรวมสิงคโปร์ ญี่ปุ่น ไต้หวัน ฝรั่งเศส เยอรมัน เนเธอร์แลนด์ นอร์เวย์ สวีเดน
ยันไทยระบาดระยะที่2ไม่ขึ้นระดับ3
นพ.โสภณ ย้ำว่า ขณะนี้ประเทศยังอยู่ในการระบาดเฟส 2 ไม่ได้มีการยก ระดับเฝ้าระวังเพิ่ม คาดว่า การออกประกาศของกรมการปกครองอาจเป็นการเข้าใจผิด โดยชี้แจงว่า การแบ่งเกณฑ์เฝ้าระวัง ในระยะ 1 หมายถึง การพบผู้ป่วยนำเข้ามาจากต่างประเทศ ซึ่งพบมาตั้งแต่ต้นเดือนมกราคม 2 การระบาดในระยะ 2 หมายถึงพบเคสผู้ป่วยมาจากต่างประเทศ แต่ยังเป็นการระบาดในวงจำกัด 3 การระบาดในระยะ 3 พบการระบาดในเคสต่างประเทศ และระบาดในกลุ่มคนไทย เป็นวงกว้าง เหมือนเช่น ประเทศ อิตาลี และเกาหลีใต้
แจง3ขั้นตอนกลับไทย ยันไม่ใช่ปิดปท.
นายชาตรี อรรจนานันท์ อธิบดีกรมการกงศุล กระทรวงการต่างประเทศ กล่าวว่า มาตรการที่ออกมาเป็นการคัดกรองตั้งแต่ต้นทางใน 3 ขั้นตอน 1.ต้องขอวีซ่าจากสถานทูต โดยต้องมีใบรับรองแพทย์ ส่วนที่เกี่ยวกับประกันภัย ระยะเวลาที่จะเดินทางกลับ ต้องเผื่อระยะเวลากักตัว 14 วันจากประเทศต้นทางด้วย 2.การคัดกรองโดยระบบสายการบิน ต้องมีใบรับรองแพทย์ที่ระบุว่าปลอดเชื้อจึงจะสามารถขึ้นเครื่องได้ และ 3.มาตรการคัดกรองในประเทศ ส่วนนี้กระทรวงสาธารณสุขจะดำเนินการ โดยจะมีการกักตัว 14 วัน ซึ่งมาตรการที่ออกมาวันนี้สอดคล้องกับหลักสากล และไม่ขัดต่อมาตรการองค์การอนามัยโลก เป็นการกำหนดจำกัดการเดินทาง แต่ไม่ใช่เราปิดประเทศ ไม่ห้ามคนเข้าประเทศ แต่ต้องมีเงื่อนไขบางประการ
กระทรวงพาณิชย์ เดินหน้าจับกุมหน้ากากอนามัยขายเกินราคา
การจับกุมผู้ขายหน้ากากอนามัยเกินราคาที่กำหนด นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้แถลงดำเนินคดีกับผู้ขายหน้ากากอนามัยเกินราคาจำนวน 3 ราย ซึ่งทั้งหมดขายบนแพลตฟอร์มลาซาด้า
-รายแรกเป็นร้านขายยาดีดี ฟาร์มา จังหวัดนครปฐม ที่ประชาชนร้องเรียนมา เจ้าหน้าที่จึงเข้าตรวจสอบพบหน้ากากอนามัย 28 กล่อง ที่ขายกล่องละ 1,110 บาท เฉลี่ยชิ้นละ 22 บาท
-รายที่ 2 เป็นร้าน 928 shop จังหวัดกรุงเทพ ขายกล่องละ 1,099 บาท เฉลี่ยชิ้นละ 22 บาท
-รายสุดท้ายเป็นร้านแอพไพล แอนด์ เซฟตี้ เอ็นเค จังหวัดนครปฐม ขายกล่องละ 1,299 บาท เฉลี่ยชิ้นละ 26 บาท
ทั้งหมดมีความผิดข้อหาขายเกินราคา โทษจำคุก 5 ปี ปรับ 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และข้อหาค้ากำไรเกินควร จำคุก 7 ปี ปรับ 140,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ กระทรวงพาณิชย์ ยังได้เอาผิดกับกรรมการผู้จัดการใหญ่ของลาซาด้า ประจำประเทศไทย ในฐานะตัวการร่วมด้วย ซึ่งบทลงโทษเท่ากับผู้ขาย
ส่วนที่ผู้ค้าหลายรายเปลี่ยนมาคิดค่าส่งหน้ากากแพงเกินจริง แล้วคิดราคาหน้ากากตามราคาที่ควบคุม 2.50 บาทต่อชิ้น กยืนยันว่ามีความผิด
สำหรับกรณีนายพันธ์ยศ อัครอมรพงศ์ เลขาธิการพรรคภราดรภาพ โพสต์ว่ามีหน้ากากอนามัยขาย 100,000 ชิ้น ในราคากล่องละ 799 บาท กรมการค้าภายใน ตรวจสอบแล้วพบว่ามีอยู่ 12,500 ชิ้น จึงให้ตำรวจดำเนินคดีตามกฎหมายเช่นเดียวกับกรณีนายศรสุวีร์ ภู่รวีรัศวัชรี ที่กรมการค้าภายในได้รวบรวมหลักฐานส่งตำรวจต่อไป นายจุรินทร์ ระบุว่า ได้แบ่งหน้ากากอนามัยให้กับบุคคลที่เกี่ยวข้องกับผู้ที่ถูกกักตัววันละ 50,000 ชิ้น หากไม่พอจะหารือกับกระทรวงสาธารณสุขต่อไป
เจ้าหน้าที่กรมการค้าภายใน แจ้งความ ปคบ .เอาผิดร้านขายหน้ากากอนามัยแพงเกินราคาบนลาซาด้า
วันนี้ต้องติดตาม หลังมีรายงานข่าวแจ้งว่า เมื่อวานนี้ ช่วงเวลาประมาณ 19.00 น. เจ้าหน้าที่กรมการค้าภายในเข้าพบพนักงานสอบสวนกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค หรือ ปคบ. เพื่อร้องทุกข์เอาผิดกับร้านค้าที่ขายหน้ากากอนามัยเกินราคาในแอปพลิเคชัน Lazada Thailand และ Lazada Thailand หลังจากเจ้าหน้าที่ ซึ่งมีข้อมูลได้เข้าตรวจสอบและล่อซื้อสินค้าจากร้านค้าเหล่านี้ ซึ่งเป็นความผิดในข้อหา จำหน่ายหน้ากากอนามัยซึ่งเป็นสินค้าควบคุมในราคาสูงเกินสมควร ตามมาตรา 29,41 แห่ง พ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ 2542 มีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปีหรือปรับไม่เกิน 140,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ขณะนี้พนักงานสอบสวนอยู่ระหว่างการรวบรวมพยานหลักฐาน เพื่อหาที่มาที่ไปของร้านค้าที่กระทำความผิด พร้อมเชิญตัวแทนจาก Lazada Thailandเข้าสอบปากคำในประเด็นว่าการที่ร้านค้าลงขายสินค้า ว่า บริษัทมีการตรวจสอบหรือไม่ และรู้เห็นหรือได้ผลประโยชน์กับการขายหน้ากากอนามัยเกินราคาหรือไม่
กรมการค้าภายในเตรียมแจ้งความเอาผิดโฆษกกรมศุลกากร
หลังจากที่ นายชัยยุทธ คำคุณ โฆษกกรมศุลกากร ออกมาให้ข้อมูลว่า ตัวเลขการส่งออกหน้ากากอนามัยเดือนมกราคม อยู่ที่ 150 ตัน ส่วนเดือนกุมภาพันธ์ อยู่ที่ 180 ตัน รวม 2 เดือน ส่งออกหน้ากากอนามัยกว่า 330 ตัน มูลค่า 160 ล้านบาท และเป็นการส่งออกของผู้ประกอบการไม่กี่ราย ที่ได้รับอนุญาตจากกระทรวงพาณิชย์ โดยส่งออกไป จีน ฮ่องกง และสหรัฐอเมริกา
ล่าสุด กรมศุลกากร ออกหนังสือชี้แจงว่า ข้อมูลที่โฆษกกรมศุลกากร นำมาเปิดเผยมีความคลาดเคลื่อน โดยตัวเลขการส่งออก 330 ตัน เป็นตัวเลขจากพิกัดศุลกากร ซึ่งรวมสินค้าชนิดอื่นนอกจากหน้ากากอนามัยอีกหลายชนิด เช่น ชุดผ้าหุ้มเบาะ เชือกผูกรองเท้า ผ้ากันเปื้อน ผ้าคลุม และสายคล้องคอทำด้วยผ้าทอ
ตัวเลขดังกล่าวยังเป็นตัวเลขช่วงเดือนมกราคม - 4 กุมภาพันธ์ ซึ่งเป็นช่วงก่อนที่จะมีประกาศคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ เรื่อง การควบคุมการส่งออกไปนอกราชอาณาจักร เพื่อควบคุมการส่งออกหน้ากากอนามัย เพื่อลดการขาดแคลนหน้ากากอนามัยในประเทศ
ซึ่งการออกมาให้ข้อมูลครั้งนี้ ทำให้วันนี้ (12 มี.ค.) นายวิชัย โภชนกิจ อธิบดีกรมการค้าภายใน จะไปแจ้งความดำเนินคดีกับนายชัยยุทธ คำคุณ โฆษกกรมศุลกากร ผู้ที่ให้ข้อมูลและสื่อสารผิดพลาด