ความเคลื่อนไหวเมืองไทยวันนี้ 07.30น.วันพุธที่ 11 มีนาคม 2563
ไทย ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ รับโควิด-19
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี หรือ ครม. อนุมัติมาตรการช่วยโควิด-19 นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ครม.เห็นชอบมาตรการด้านเศรษฐกิจดูแลผลกระทบโควิด-19 ระยะที่ 1 โดยพิจารณาการดูแลทั้งผู้ประกอบการและประชาชน มาตรการต้องทันการณ์ ตรงเป้าหมาย ชั่วคราวตามความจำเป็น โดยมาตรการสำหรับผู้ประกอบการ ประกอบด้วย สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟต์โลน) วงเงิน 1.5 แสนล้านบาท ปล่อยกู้ 20 ล้านบาทต่อราย คิดดอกเบี้ยร้อยละ 2 ต่อปี เป็นเวลา 2 ปี โดยเงินที่นำมาปล่อยกู้นั้นยืมมาจากสถาบันการเงินของรัฐ ไม่ได้ใช้จากงบประมาณ มาตรการพักต้นเงิน ลดดอกเบี้ย ขยายเวลาชำระหนี้แก่ลูกหนี้สำหรับลูกหนี้แบงก์รัฐ จากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ผ่อนปรนหลักเกณฑ์บางอย่างเพื่อให้สถาบันการเงินช่วยลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจ กองทุนประกันสังคมให้เงินมา 3 0,000ล้านบาท เพื่อนำไปปล่อยกู้ให้สถานประกอบการที่ขึ้นทะเบียนประกันสังคม คิดดอกเบี้ยร้อยละ 3 ต่อปีนาน 3 ปี
นอกจากนี้มีมาตรการด้านภาษี ประกอบด้วย คืนสภาพคล่องให้ผู้ประกอบการในประเทศ ลดอัตราภาษี หัก ณ ที่จ่าย เหลือร้อยละ 1.5 จากเดิมร้อยละ 3 เริ่มเมษายน-กันยายน 2563 เอสเอ็มอีนำรายจ่ายดอกเบี้ยจากการกู้ซอฟต์โลนมาหักลดหย่อนภาษี 1.5 เท่า เริ่มเมษายน-ธันวาคม 2563 ส่งเสริมสถานภาพการจ้างงานโดยให้เอสเอ็มอีนำรายจ่ายค่าจ้าง ในธุรกิจเอสเอ็มอี หักรายจ่ายได้ 3 เท่า เร่งคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม (แวต) ให้กับผู้ประกอบการภายในประเทศถ้ายื่นแบบทางอินเตอร์เน็ตคืนภายใน 15 วัน หากยื่นกับสรรพากรคืนภายใน 45 วัน เพื่อคืนสภาพคล่องให้ผู้ประกอบการ
ส่วนมาตรการอื่นๆ ประกอบด้วย ลดค่าน้ำ ค่าไฟ คืนเงินประกันมิเตอร์ ซึ่งกระทรวงมหาดไทยและกระทรวงพลังงานไปพิจารณาเงื่อนไขที่เหมาะสม, ลดเงินสมทบประกันสังคมของนายจ้างและลูกจ้าง กระทรวงแรงงานจะไปพิจารณาตามความเหมาะสมอาจลดให้ 3-6 เดือน, ขอความร่วมมือส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจลดค่าเช่า ค่าธรรมเนียมให้ผู้ประกอบการ เช่น ลดค่าเช่าที่ราชพัสดุ, มาตรการช่วยตลาดหุ้น เพิ่มวงเงินประชาชนที่ซื้อหน่วยลงทุนเพื่อการออม (SSF) สามารถมาหักลดหย่อนภาษีเพิ่มอีก 200,000บาท จากเดิมได้ 200,000บาท เป็น 400,000บาท เป็นเวลา 3 เดือนเริ่มเมษายนถึงมิถุนายน 2563 ถ้ามีความจำเป็นพร้อมจะพิจารณาขยายเวลาเพิ่มให้อีก
นอกจากนี้ ครม.ยังพิจารณาให้กำหนดวงเงิน 20,000 ล้านบาท เพื่อเตรียมการไว้ช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 เช่น ถูกเลิกจ้าง สถานประกอบการกระทบลดวันทำงานลูกจ้างลง
นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การคืนเงินประกันการใช้ไฟฟ้า หรือค่ามิเตอร์ไฟฟ้ามีอัตราตั้งแต่ 300 บาท, 2,000 บาท, 3,000 บาท และ 6,000 บาทแล้วแต่ขนาดมิเตอร์ มีประชาชนจะได้รับคืน 21.5 ล้านราย วงเงิน 30,000ล้านบาท เริ่มทยอยคืนสิ้นเดือนมีนาคมนี้ ส่วนวิธีการคืนนั้นหน่วยงานรับผิดชอบจะไปพิจารณาว่าจะคืนอะไร ซึ่งนายกฯให้เน้นรายย่อยหรือมิเตอร์ขนาดเล็กเป็นอันดับแรก เพื่อให้กลุ่มผู้ได้รับเงินนำไปลดภาระค่าครองชีพ
กรณีการคืนเงินประกันมิเตอร์ไฟฟ้านั้น จะเป็นความรับผิดชอบของกระทรวงมหาดไทยที่ดูแลการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ต้องขึ้นอยู่กับ 2 การไฟฟ้าว่าจะจ่ายเงินคืนประชาชนในรูปแบบเงินสด หรือส่วนลดค่าไฟฟ้า และกำหนดวันคืนเงิน ต้องอยู่ที่ความพร้อมของ 2 การไฟฟ้า แต่รัฐบาลต้องการให้เริ่มคืนเงินภายในเดือนมีนาคมนี้ ส่วนจะคืนได้ทั้งหมด 21.5 ล้านครัวเรือน หรือไม่ ต้องอยู่ที่ขั้นตอนดำเนินการอีกครั้ง ทั้งนี้ จากการตรวจสอบจำนวนเงินประกันที่คืนให้ประชาชน และกิจการขนาดเล็กจะมี 4 อัตรา เริ่มตั้งแต่ 300 บาท 2,000 บาท 4,000 บาท และ 6,000 บาท อัตราสูงสุดสำหรับเอสเอ็มอี
สำหรับการลดค่าไฟฟ้าสำหรับงวดเดือนเมษายน-มิถุนายน เหลือ 3.48 บาทต่อหน่วย จากปัจจุบันจ่ายอยู่ที่ 3.64 บาทต่อหน่วย จะมีผลตามบิลค่าไฟที่เรียกเก็บในช่วง 3 เดือนอยู่แล้ว โดยวันที่ 12 มีนาคม สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) จะแถลงตัวเลขค่าไฟอีกครั้งวันที่ 12 มีนาคมนี้ ขณะที่มาตรการเลื่อนชำระค่าไฟจะใช้สำหรับค่าไฟงวดเดือนเมษายน และเดือนพฤษภาคมนี้
พิษไวรัสใช้รถไฟฟ้า-ขสมก.วูบ
นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผยว่า ในวันนี้ (11 มีนาคม) จะมีการประชุมบอร์ด รฟม.ในการพิจารณาแผนงานต่างๆ ย้ำ การดูแลและสร้างความมั่นใจต่อการทำความสะอาดทุกจุดของสถานีและขบวนรถที่ให้บริการ รวมถึงเปิดจุดคัดกรองการวัดอุณหภูมิผู้เข้าใช้บริการ และมีบริการเจลทำความสะอาดทุกแห่ง หลังได้รับผลกระทบจากโควิด-19
ด้านองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ย้ำเพื่อให้เกิดความมั่นใจการใช้รถ ขสมก.ทั้งพนักงานผู้ให้บริการและประชาชนผู้รับบริการ ในสถานการณ์ฝุ่นละออง PM2.5 และการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 รถโดยสารทุกคันจะถูกฉีดพ่นน้ำยาแอลกอฮอล์ฆ่าเชื้อ และเตรียมหน้ากากอนามัยเพื่อผู้ให้บริการ รวมถึงทำการตรวจคัดกรองพนักงานทุกคนทั้งเช้าและเย็น
สงครามน้ำมันกระทบทั่วโลก
หลังจากซาอุดิอาระเบียได้ออกมาตอบโต้รัสเซียด้วยการปรับลดราคาน้ำมัน โดยพร้อมที่จะเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันเป็น 10 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในเดือนเมษายนนี้ เพราะมีเป้าหมายที่จะชิงส่วนแบ่งตลาดจากรัสเซีย ซึ่งถือเป็นการเปิดฉากทำสงครามราคาน้ำมันระหว่างกัน ส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบปรับตัวลงแรง รวมถึงส่งผลเชิงลบต่อหุ้นกลุ่มพลังงาน โดยการที่ราคาน้ำมันร่วงหนักในต้นสัปดาห์ ถือเป็นแรงฉุดให้ดัชนีปรับลดลงมาต่ำสุดที่ระดับ 1,255.94 จุด ถือเป็นการปรับตัวลดลงต่ำสุดในรอบ 4 ปี นับจากวันที่ 7 มกราคม 2559 ที่ดัชนีหุ้นไทยปิดต่ำสุดที่ระดับ 1,224.83 จุด เมื่อวันจันทร์ นักวิเคราะห์ชี้ว่า ดัชนีตลาดหุ้นไทยยังอยู่ในช่วงวิกฤต และการปรับตัวลดลงมาต่อเนื่อง จากปัจจัยด้านลบต่างๆ ตั้งแต่ปัญหาสงครามการค้า และต่อด้วยการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ขยายวงกว้างออกไป และมีผู้ติดเชื้อนอกประเทศจีนเพิ่มขึ้นสร้างความตื่นตระหนก และส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลก ส่วนเมื่อวานนี้ หุ้นไทย ปิดตลาดระดับ 1,271.25 จุด เพิ่มขึ้น 15.31 จุด มูลค่าการซื้อขายที่ 74,686.23 ล้านบาท นักลงทุนต่างประเทศ ขายสุทธิ 7,237.94 ล้านบาท
รายงานที่มีการนำเสนอในที่ประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา (อังค์ถัด) องค์กรความร่วมมือระหว่างรัฐบาล เป็นกลไกหลักของยูเอ็นที่ดูแลประเด็นเรื่องการค้า การลงทุน และการพัฒนาชี้ว่า การแพร่ระบาดของโควิด-19 จะทำให้เศรษฐกิจของหลายประเทศเข้าสู่ภาวะถดถอย และยังส่งผลกระทบให้เศรษฐกิจโลกเติบโตช้าลงอีกด้วย
รายงานของอังค์ถัดประเมินด้วยว่า โลกกำลังตกอยู่ในความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะล้มละลายเป็นวงกว้าง นอกจากนี้ยังไม่อาจตัดความเป็นไปได้ที่จะเกิดการลดลงของมูลค่าสินทรัพย์ครั้งใหญ่อย่างกระทันหัน จะยุติการเติบโตของเศรษฐกิจลงทันที ประเทศที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดคือประเทศที่พึ่งพารายได้จากการส่งออกน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์ เช่นเดียวกับประเทศที่มีระบบเศรษฐกิจผูกพันใกล้ชิดกับจีนและประเทศอื่นๆ ที่มีการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา ขณะที่ระยะเวลาและความรุนแรงของวิกฤตเศรษฐกิจ ขึ้นกับว่าไวรัสโคโรนาจะแพร่ระบาดออกไปไกลแค่ไหน เวลาที่ใช้ในการหาทางผลิตวัคซีน ความหวั่นวิตกของผู้คน และผลกระทบที่เกิดขึ้นจากมาตรการที่รัฐบาลประกาศใช้เพื่อควบคุมผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับเศรษฐกิจ
ครม.ไม่ห้ามจัดสงกรานต์ แนะให้จัดแบบปิด
นายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวว่าได้รับคำแนะนำจากที่ประชุม ครม.ให้กระทรวงวัฒนธรรม จัดทำคำแนะนำในการจัดงานประเพณีสงกรานต์ โดยให้ขึ้นกับความพร้อมของแต่ละพื้นที่ และให้ปฏิบัติตามมาตรการของกระทรวงสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด เช่น การคัดกรองผู้ป่วย การตรวจวัดอุณหภูมิร่างกาย ตามหลักสุขอนามัย ในหลายจังหวัดได้ยกเลิกการจัดงานประเพณีสงกรานต์กว่า 50% เช่น ชลบุรี ขอนแก่น กรุงเทพฯ
โดยกระทรวงวัฒนธรรมจะมีการออกคำแนะนำให้จัดงานสงกรานต์แบบปิด คือ ให้ปีนี้เป็นสงกรานต์ในบ้าน เป็นประเพณีแบบดั้งเดิม สรงน้ำพระพุทธรูปในบ้าน รดน้ำขอพรพ่อแม่ หรือผู้อาวุโสในบ้าน และให้หลีกเลี่ยงงานรื่นเริงมหรสพ งดออกไปเล่นน้ำสงกรานต์ ปีนี้คิดว่ามีการจัดงานน้อยมาก อยากให้ประชาชนคิดถึงประเพณีสงกรานต์ดั้งเดิมเป็นหลัก ส่วนวัดวาอาราม สถานที่ใดมีความพร้อมจัดงานเทศกาล ไม่ได้มีข้อห้าม แต่จะต้องประเมินความเสี่ยง และมีมาตรการป้องกัน เฝ้าระวังอย่างเข้มงวด หากแต่ละพื้นที่จะจัดงานเทศกาล เช่น ต่างจังหวัด ให้แจ้งผู้ว่าราชการจังหวัด รวมถึงกิจกรรมอื่นๆ ที่มีขึ้นในช่วงเดือนมีนาคม-เมษายน เช่น งานแต่ง งานบวช ให้อยู่ในเกณฑ์เฝ้าระวังของกระทรวงสาธารณสุข
ปคบ.แถลงจับคนหลอกขายหน้ากากอนามัย
10.00 น. วันนี้ กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (ปคบ.) แถลงจับผู้ต้องหาหลอกขายหน้ากากอนามัย ผ่านเฟซบุ๊ก บก.ปคบ.ชั้น 4 ศูนย์ราชการ เเจ้งวัฒนะ