ความเคลื่อนไหวเมืองไทยวันนี้ 19.30 น.วันอังคารที่ 10 มีนาคม 2563

10 มีนาคม 2563, 20:39น.



ครม.เห็นชอบมาตรการทางการเงิน-มาตรการภาษี กู้สถานการณ์โควิด-19



          ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เห็นชอบมาตรการช่วยเหลือภาคธุรกิจและประชาชนจากปัญหาการแพร่ระบาดของ ไวรัสโควิด-19 ในระยะที่ 1 ซึ่งเป็นมาตรการชั่วคราวและประคับประคองสถานการณ์ให้ได้ คาดว่า จะมีเม็ดเงินลงสู่ระบบประมาณ 400,000 ล้านบาท นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า มาตรการดังกล่าว ประกอบด้วย การปรับลดดอกเบี้ยสินเชื่อเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อม ในอัตราดอกเบี้ย ร้อยละ 2 ต่อปี วงเงินสินเชื่อไม่เกิน 20 ล้านบาท รวมเป็น 150,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นเงินของสถาบันการเงินต่างๆ ไม่นำเงินงบประมาณมาใช้



          มาตรการพักชำระหนี้เงินต้นเงิน ลดดอกเบี้ย และขยายเวลาชำระหนี้ให้กับลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 ของสถาบันทางการเงินเฉพาะกิจของรัฐบาล เช่น ธนาคารออมสิน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ ธนาคารอาคารสงเคราะห์  นอกจากนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) หารือกับสถาบันทางการเงิน เพื่อผ่อนปรนหลักเกณฑ์บางอย่างที่เกี่ยวกับสินเชื่อเพื่อให้ผู้ประกอบการเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้มากขึ้น 



+++กองทุนประกันสังคม จะอุดหนุนวงเงินสินเชื่อ 30,000 ล้านบาท ภายใต้เงื่อนไขดอกเบี้ยร้อยละ 3 เป็นระยะเวลา 3 ปี ให้กับสถานประกอบการที่ขึ้นทะเบียนกับกองทุนประกันสังคม



          มาตรการด้านภาษี ในการคืนสภาพคล่องให้ผู้ประกอบการในประเทศ ได้แก่ การลดอัตราภาษีหัก ณ ที่จ่าย จากร้อยละ 3 เหลือร้อยละ 1.5 เริ่มตั้งแต่เดือนเมษายน-กันยายนนี้คิดเป็นวงเงินเข้าระบบรวม 60,000 ล้านบาทพร้อมให้สิทธิ์ลดอัตราดอกเบี้ย 1.5 เท่า และมาตรการหักลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเพิ่มได้อีก 200,000 บาท รวมเป็น 400,000 บาท สำหรับประชาชนที่ลงทุนในกองทุน SSF ตั้งแต่ 1 เมษายน -30 มิถุนายน



          คณะรัฐมนตรี เห็นชอบคืนเงินประกันการใช้ไฟฟ้าให้บ้านอยู่อาศัยและผู้ประกอบกิจการขนาดเล็ก เพื่อลดภาระค่าครองชีพ ครอบคลุมประชาชนจำนวนมากกว่า 21 ล้านคน จะทยอยคืนสิ้นเดือนมีนาคมนี้ รวมเงินกว่า 30,000 ล้านบาท เบื้องต้นให้กระทรวงมหาดไทย ดำเนินการ และมอบหมายให้การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคและการไฟฟ้านครหลวง เร่งรัดออกแนวปฏิบัติและรายละเอียดเพื่อให้ผู้ใช้ไฟฟ้าทั้งบ้านที่อยู่อาศัยและกิจการขนาดกลางและขนาดย่อมสามารถใช้สิทธิ์ในการขอคืนเงินประกันการที่กำหนดไว้ ตามขนาดเครื่องวัดหน่วยไฟฟ้า หรือ มิเตอร์ 




หุ้นไทย ปิดตลาดเพิ่มขึ้นตามตลาดโลก หลังจากผู้นำสหรัฐฯ เล็งออกมาตรการเศรษฐกิจชุดใหญ่



          การลงทุนในตลาดหุ้นไทย ปิดตลาดที่ 1,271.25 จุด  เพิ่มขึ้น 15.31จุด มูลค่าการซื้อขาย 74,686.23 ล้านบาท นายกิจพณ ไพรไพศาลกิจ ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์และนักกลยุทธ์ บล.ยูโอบี เคย์เฮียน (ประเทศไทย) กล่าวว่า ตลาดหุ้นไทยวันนี้ปรับตัวขึ้นในทิศทางเดียวกับตลาดต่างประเทศ ตลาดหุ้นเอเชียบวกราวร้อยละ 1-2 และตลาดยุโรปบวกเฉลี่ยร้อยละ 2-3 การฟื้นตัวของตลาดหุ้น เกิดจากความคาดหวังเรื่องการอัดฉีดสภาพคล่องจากธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ที่จะมีการประชุมในวันที่ 17-18 มี.ค.นี้ อาจจะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงอีกครั้ง ขณะที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐฯก็จะมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ เช่น การลดภาษีเงินได้



          ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ปรับตัวดีขึ้นมาจากความคาดหวังเรื่องนโยบายการเงิน ดังนั้น การปรับขึ้นอาจเป็นเพียงระยะสั้น เพราะมองว่าผลประกอบการงวดไตรมาส 1/2563 ส่วนใหญ่ชะลอตัวพอควร แนะนำให้ติดตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจากสหรัฐฯ และการประชุมธนาคารกลางยุโรป (ECB) ในวันที่ 12 มี.ค.นี้ มีโอกาสหนุนการผ่อนคลายนโยบายการเงิน ปัจจัยที่ต้องติดตามเป็นการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 นอกประเทศจีน เช่น เกาหลีใต้ อิตาลี และสหรัฐฯ รวมถึงมาตรการภาษีเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐฯ ของประธานาธิบดีทรัมป์



          สถานการณ์ราคาน้ำมันมีแนวโน้มปรับตัวลง หลังจากที่ซาอุดิอาระเบีย เตรียมปรับเพิ่มกำลังการผลิตในเดือนเมษายนจากวันละ 9.9 ล้านบาร์เรล เป็น 12 ล้านบาร์เรลต่อวัน และรัสเซียเพิ่มการผลิตจากวันละ 10.5 ล้านบาร์เรล เป็น 10.7 ล้านบาร์เรลต่อวัน บล.เอเชียพลัส ปรับลดราคาน้ำมันดิบในปีนี้เหลือ 40 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล จากเดิมอยู่ที่ 65 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล และปีหน้าอยู่ที่ 45 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล จากเดิมอยู่ที่ 65 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล อย่างไรก็ตาม กลยุทธ์การลงทุนในช่วงที่ตลาดผันผวน เน้นหุ้นที่ให้ปันผลสูงและมีปัจจัยบวกเฉพาะตัว



กระทรวงการต่างประเทศ ประชุมติดตามช่วยเหลือคนไทยในต่างประเทศ  



          นายเชิดเกียรติ อัตถากร อธิบดีกรมสารนิเทศ และ โฆษกกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวถึง การช่วยเหลือคนไทยที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดโควิด-19 ในต่างประเทศว่ากระทรวงการต่างประเทศจะเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อเข้าร่วมประชุมหารือในกรอบคณะทำงานศูนย์ประสานงานฉุกเฉิน (อาร์อาร์ซี) โดยมีนายธนา เวสโกสิทธิ์ รองปลัดกระทรวงการต่างประเทศ เป็นประธานการประชุม ในวันที่ 11 มีนาคม เพื่อหารือถึงการช่วยเหลือคนไทยในต่างประเทศ โดยเฉพาะในอิตาลีและอิหร่านที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาด



          สถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงโรม ประเทศอิตาลี รายงานว่า รัฐบาลอิตาลี ประกาศมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทั่วประเทศอิตาลี ห้ามออกจากเมืองและให้ออกจากบ้านเฉพาะที่จำเป็น เช่น ไปทำงาน ไปซื้ออาหาร งดการชุมนุมสังสรรค์  สำหรับจำนวนคนไทยในอิตาลีปัจจุบัน ประมาณ 7,000 คน ประกอบด้วยคนไทยที่สมรสกับชาวอิตาลีและอาศัยในอิตาลีกับครอบครัว นักศึกษา และนักท่องเที่ยวที่เดินทางไปชั่วคราว สถานเอกอัครราชทูตไทย ติดต่อสอบถามความเป็นอยู่ของคนไทยในอิตาลีผ่านเครือข่ายคนไทยและสื่อออนไลน์ เพื่อให้ข้อมูลเกี่ยวกับการแพร่ระบาดของโรค และคำแนะนำเกี่ยวกับการปฏิบัติตนเพื่อป้องกันโรคอย่างต่อเนื่อง หากใครมีเหตุเร่งด่วนจำเป็น สามารถติดต่อสถานเอกอัครราชทูตไทย ทางฮอตไลน์ +39 333 8518 071 และสามารถติดตามข้อมูลสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 เพิ่มเติมได้ทางเฟซบุ๊ก “Royal Thai Embassy Rome” 





          สถานการณ์ของเรือแกรนด์ปรินเซส ที่ท่าเรือเมืองโอ๊คแลนด์ รัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐฯ สถานกงสุลใหญ่ไทย ณ นครลอสแอนเจลิส รายงานว่าเรือลำดังกล่าวมีผู้โดยสารและลูกเรือรวมทั้งสิ้น 3,533 คน ในจำนวนนี้ มีคนไทย 7 คน ทั้งหมดเป็นลูกเรือ สถานกงสุลใหญ่ไทย ได้ประสานงานกับบริษัทเอเย่นต์เรือและลูกเรือแล้ว ทราบว่าลูกเรือทั้งหมดปลอดภัยดีและยังอยู่ในเรือ ทางเรือได้จัดให้ลูกเรือพักแยกห้องเดี่ยว และสถานกงสุลใหญ่ไทยอยู่ระหว่างการประสานกับทางการของสหรัฐฯ เพื่อให้ความช่วยเหลือดูแลลูกเรือชาวไทยกลุ่มนี้  ทางการสหรัฐฯ ได้อนุญาตให้เรือเทียบท่าที่เมืองโอ๊คแลนด์ โดยอนุญาตให้ผู้โดยสารที่มีอาการป่วยเข้าการรักษาในสถานพยาบาลของรัฐแคลิฟอร์เนีย ผู้โดยสารชาวอเมริกันจะถูกจัดให้อยู่ในพื้นที่ควบคุมพิเศษ เพื่อเฝ้าระวังอาการ ส่วนนักท่องเที่ยวและลูกเรือต่างชาติยังคงให้อยู่บนเรือเพื่อประสานงานนำกลับประเทศต้นทาง   



นครบาล ยืนยันเอาผิดทุกรายที่กักตุนหน้ากากอนามัย-ขายเกินราคา



          กรณีกลุ่มบุคคลรวมถึงผู้ประกอบการบางคน แสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบด้วยกฎหมาย สร้างความเดือดร้อนให้ประชาชน เช่น การกักตุนสินค้าป้องกันโรค เช่น หน้ากากอนามัย และ เจลล้างมือ การจำหน่ายสินค้าในราคาสูงเกินควร จำหน่ายสินค้าไม่มีคุณภาพ หรือ นำสินค้าใช้แล้วมาหลอกขายว่าเป็นสินค้าใหม่ และหลอกลวงขายสินค้าซึ่งไม่มีอยู่จริงให้ประชาชน พล.ต.ท.ภัคพงศ์ พงษ์เภตรา ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล กำชับให้สถานีตำรวจและหน่วยงานในสังกัดติดตามตรวจสอบ หากพบการกระทำผิดให้รวบรวมพยานหลักฐานดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดทุกราย โดยมีอัตราโทษ คือ



1.การกักตุนสินค้าควบคุมโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร เป็นความผิดตามพ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ.2542 มาตรา30 ประกอบมาตรา 41 โทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี หรือปรับไม่เกิน 140,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ 



2. การจำหน่ายสินค้าและบริการที่ควบคุมเกินราคา เป็นความผิดตามพ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ.2542 มาตรา39  ประกอบมาตรา 26 วรรคสอง โทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่ 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ 



3. การจำหน่ายสินค้าด้อยคุณภาพเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 271 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ



4. การหลอกลวงขายสินค้าที่ไม่มีอยู่จริงให้ประชาชน อาจเป็นความผิดฐานฉ้อโกง ตามมาตรา 341 แห่งประมวลกฎหมายอาญา โทษจําคุกไม่เกิน 3 ปีหรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจําทั้งปรับ หากฉ้อโกงประชาชน ตามมาตรา 343 แห่งประมวลกฎหมายอาญา โทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ แล้วแต่กรณี




ญี่ปุ่น แก้กฎหมายให้อำนาจนายกฯ ประกาศภาวะฉุกเฉินได้



          การปรับแก้ไขกฎหมายของญี่ปุ่น เพื่อให้อำนาจนายกรัฐมนตรี สามารถประกาศภาวะฉุกเฉินได้ในการแก้ปัญหาการติดเชื้อโควิด-19 ล่าสุด คณะรัฐมนตรีญี่ปุ่น เห็นชอบในเรื่องนี้แล้ว ด้วยการปรับแก้กฎหมายที่ใช้บังคับเมื่อปี 2555 จะทำให้นายกรัฐมนตรีชินโซ อาเบะ ของญี่ปุ่น สามารถประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเพื่อควบคุมสถานการณ์ได้หากเห็นว่ามีความจำเป็น โดยเฉพาะเรื่องการกำหนดพื้นที่ควบคุมและระยะเวลาบังคับใช้กฎหมายไม่ให้เกิน 2 ปี นอกจากนี้ ให้อำนาจผู้ว่าราชการจังหวัด สามารถกำหนดให้ประชาชนในพื้นที่ที่มีการระบาดอยู่ภายในบ้าน สั่งปิดโรงเรียน หรือ ห้ามชุมนุมในบางสถานที่  เนื่องจากญี่ปุ่นพบผู้ป่วยติดเชื้อ 514 คน มีผู้เสียชีวิต 9 ราย



CR:สถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงโรม อิตาลี 




 

ข่าวทั้งหมด

X