สถานการณ์ภัยแล้งในปี 2563 วันนี้นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ เรียกประชุมคณะทำงานภายใต้กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ครั้งที่5/2563 ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องประชุม นายสมเกียรติ กล่าวว่า การประชุมวันนี้ เพื่อติดตามงบประมาณกลางที่ขอไป เพื่อนำมาบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูแล้ง รวมถึงเตรียมจัดสรรน้ำให้กับพื้นที่โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC ประกอบด้วย ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง ไม่ให้ขาดแคลน เพราะอยู่ในภาวะที่น่าเป็นห่วง โดยเฉพาะชลบุรีมีปัญหามากที่สุด มีความต้องการใช้น้ำจำนวนมากทำให้ต้องดึงน้ำจากจังหวัดระยองเข้ามาวันละ200,000ลูกบาศก์เมตร หลังจากนี้จะต้องชะลอน้ำที่จัดสรรมาจากระยอง เพื่อไม่ให้ระยองเกิดผลกระทบในภายหลัง โดยให้จังหวัดชลบุรีต้องหาแหล่งน้ำสำรองของตัวเอง เบื้องต้น จะนำน้ำจากอ่างเก็บน้ำคลองหลวงและแหล่งน้ำของเอกชนเข้าสู่ระบบให้ได้ประมาณ14ล้านลูกบาศก์เมตร
ขณะเดียวกันหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอยู่ระหว่างเจรจาขอซื้อน้ำจากภาคเอกชนอยู่ โดยในช่วงเดือนพฤษภาคมและมิถุนายนแม้จะเข้าสู่ช่วงฤดูฝนก็จริง แต่ปริมาณฝนตกลงมาน้อยทำให้น้ำในอ่างเก็บน้ำมีน้ำน้อย บางพื้นที่ประสบปัญหาภัยแล้ง โดย สทนช.ได้ประกาศที่เฝ้าระวังภัยแล้ง ด้านอุปโภคบริโภค54จังหวัด ด้านการเกษตร45จังหวัด ซึ่งจะต้องเฝ้าติดตามอย่างใกล้ชิด
ส่วนสถานการณ์น้ำในพื้นที่อื่นๆ กระทรวงมหาดไทยและกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยมีการสำรวจพื้นที่ที่เสี่ยงได้รับผลกระทบเรื่องการอุปโภคบริโภคและการเกษตรหลายจังหวัด
สำหรับการจัดสรรน้ำในพื้นที่บางระกำ ที่จะมาจากเขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์ แม้ว่า ทั้ง 2 เขื่อนยังมีปริมาณน้ำเหลืออยู่ แต่เพื่อความไม่ประมาท จะให้ส่งน้ำให้265,000ไร่ ในบางพื้นที่ของบางระกำเท่านั้น โดยมีพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง เช่น 7 จังหวัดที่กระทบกับการอุปโภคบริโภค คือ นครราชสีมา บุรีรัมย์ ชัยภูมิ กาญจนบุรี เพชรบูรณ์ กำแพงเพชร อุทัยธานี ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เร่งแก้ไขปัญหาแล้ว ส่วนสวนผลไม้ขณะนี้ บางพื้นที่มีเจ้าหน้าที่จากกรมทรัพยากรน้ำบาดาลเข้าไปสูบน้ำ ขุดเจาะบ่อบาดาลเพิ่มเติม ซึ่งหลังจากนี้กรมทรัพยากรน้ำบาดาลจะต้องตกลงกับกรมส่งเสริมการเกษตรให้ชัดเจนว่ามีพื้นที่ใดบ้างเพื่อให้การทำงานมีประสิทธิภาพ
ส่วนปัญหาค่าความเค็มในแม่น้ำเจ้าพระยา นายสมเกียรติ กล่าวว่า ขณะนี้กรมชลประทานและการประปานครหลวงมีการปรับรูปแบบการบริหารจัดการน้ำที่สถานีสูบน้ำดิบสำแล โดยใช้การดึงน้ำจากแม่น้ำแม่กลองเข้ามาเติม เพื่อชะลอความเค็มในแม่น้ำเจ้าพระยาได้ และช่วงประมาณเดือนเมษายน ก็ยังสามารถนำน้ำส่วนนี้ส่งให้พื้นที่บางระกำได้ ยืนยันไม่กระทบกับปริมาณน้ำในแม่กลอง
ส่วนการใช้งบประมาณกลางที่ออกมาแล้วได้นำไปขุดเจาะบ่อบาดาลกว่า1,000 บ่อได้เร่งให้ดำเนินการเพราะขณะนี้ ขุดบ่อบาดาลได้เพียง 150บ่อ