ความเคลื่อนไหวเมืองไทยวันนี้ 07.30 น. วันพฤหัสบดีที่ 5 มีนาคม 2563

05 มีนาคม 2563, 09:35น.


นักวิทยาศาสตร์จีน ค้นพบเชื้อโควิด-19 มี 2 ชนิด



          สถาบันวิทยาศาสตร์จีน (Chinese Academy of Sciences) เผยแพร่ผลงานของนักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยปักกิ่ง (Peking University’s School of Life Sciences) ร่วมกับสถาบันวิทยาศาสตร์ในเซี่ยงไฮ้ (Institut Pasteur of Shanghai) ในการวิเคราะห์จีโนมหรือยีนของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ 2019 หรือ โควิด-19 เฉพาะที่มีการแพร่ระบาดในเมืองอยู่ฮั่น มณฑลหูเป่ยของจีน ตั้งแต่เมื่อปลายปีที่แล้ว พบว่า มีอยู่ 2 ชนิด ซึ่งส่งผลต่อผู้ติดเชื้อแตกต่างกัน  โดยชนิดแรก (L Type) เป็นชนิดที่ติดเชื้อได้โดยง่าย ทำให้มีผู้ติดเชื้อมากถึงร้อยละ 70 ส่งผลรุนแรงต่อผู้ติดเชื้อ และเริ่มมีการกลายพันธุ์ไปแล้วตั้งแต่เมื่อเดือนม.ค.นอกจากนี้ มาตรการควบคุมโรคอย่างเข้มงวด และการปิดเมืองทำให้การแพร่ระบาดของไวรัสชนิดนี้ลดลง



          ส่วนโควิด-19 ชนิดที่ 2 (S Type) มีผู้ติดเชื้อร้อยละ 30 และส่งผลต่อผู้ติดเชื้อน้อยกว่า นักวิทยาศาสตร์คาดว่าเชื้อชนิดแรก (L Type) พัฒนามาจากชนิดที่ 2 (S Type) แต่การยืนยันข้อสันนิษฐานนี้จะต้องมีการวิจัยต่อไป เพื่อทำความเข้าใจเรื่องการกลายพันธุ์และการแพร่ระบาด นักวิทยาศาสตร์ ย้ำว่า ไวรัสโควิด-19 มีการกลายพันธุ์แล้ว



          รายงานฉบับนี้ มีการเผยแพร่หลังจากที่องค์การอนามัยโลก รายงานสถานการณ์การระบาดพบผู้ติดเชื้อมากกว่า 70 ประเทศทั่วโลกโดยมีผู้ติดเชื้อมากกว่า 93,000 คน และมีผู้เสียชีวิตเกือบ 3,300 คน โดยเกาหลีใต้ อิตาลี อิหร่าน และเยอรมนีมีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และองค์การฯ คาดว่า เชื้อโควิด-19 จะแพร่กระจายไปยังทุกประเทศทั่วโลกในเร็ว ๆ นี้



กระทรวงการต่างประเทศ ยืนยัน มาตรการเคลื่อนย้ายคนไทยในพื้นที่เสี่ยงเป็นไปตามหลักสากล  



          รายงานจากกระทรวงการต่างประเทศ เปิดเผยว่า กระทรวงได้นำมาตรการเคลื่อนย้ายดูแลคนไทยเดินทางกลับจากประเทศพื้นที่เสี่ยงที่จัดเตรียมไว้มาหารือระดับรัฐมนตรีประเทศที่เป็นกลุ่มเสี่ยงตามหลักมาตรฐานสากล เพื่อย้ำให้ประเทศต้นทางทราบถึงแนวปฏิบัติที่ไทยดำเนินการอยู่เน้นให้มีการตรวจคัดกรอง เข้มงวดตั้งแต่ประเทศต้นทางและเมื่อเดินทางมาถึงปลายทางประเทศไทยก็จะเข้าสู่ระบบบริหารจัดการที่วางไว้ เพื่อป้องกันการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่อาจเกิดขึ้นได้ระหว่างเดินทาง



          ขั้นตอนเริ่มจากการลงทะเบียนแสดงความจำนง จากนั้นผ่านการตรวจอุณหภูมิร่างกาย ห้ามเกิน 37.3 องศาเซลเซียส หากมีไข้เกิน จะต้องถูกประเทศต้นทางกักตัวไม่อนุญาตให้เดินทาง เมื่อขึ้นเครื่องบินแล้ว เจ้าหน้าที่จะจัดสรรที่นั่งตามประเภทกลุ่มเสี่ยง กรณีที่มีระดับอุณหภูมิร่างกายที่เสี่ยงต่อการเป็นไข้ จะถูกแยกที่นั่งออกมาและใช้ห้องน้ำแยกพิเศษ โดยผู้โดยสารทุกคนต้องสวมหน้ากากอนามัยป้องกันเชื้อไวรัสโควิด-19 ตลอดเวลาเดินทาง จากนั้นเมื่อเดินทางมาถึงประเทศไทย ทุกคนต้องผ่านขั้นตอนคัดกรองไวรัสโควิด-19 ตรวจสอบผ่านกล้อง 3 ระดับ เพื่อจำแนกเป็นกลุ่มที่มีไข้ระหว่างเดินทาง กับกลุ่มที่ไม่มีไข้ จากนั้นผู้โดยสารทั้งหมดต้องผ่านการกักตัวเป็น 14 วันเพื่อติดตามเฝ้าระวังอาการตามมาตรการของกระทรวงสาธารณสุข ในสถานที่ที่รัฐบาลจัดเตรียมไว้



กรมการจัดหางาน ระบุ มีคนไทยรายงานตัวกับตม.รอเดินทางกลับ 1,181 คน



          นายสุชาติ พรชัยวิเศษกุล อธิบดีกรมการจัดหางาน ระบุว่า แรงงานไทยที่รายงานตัวกลับประเทศ กับทาง ตม.เกาหลี ตั้งแต่วันที่ 11 ธ.ค.2562 ถึง 1 มี.ค.2563 จำนวน 4,727 คน ทั้งหมดนี้เดินทางกลับประเทศไทยแล้ว ก่อนที่เกาหลีจะมีการประกาศสถานการณ์ผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ปัจจุบันมีผู้รายงานตัวที่อยู่ระหว่างรอตม. พิจารณาประวัติและรอเดินทางกลับประเทศไทย จำนวน 1,181 คน



          นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกกระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า คนไทยกลับจากเกาหลีใต้ ที่เป็นผีน้อยจากการคัดกรองที่สนามบินพบมีไข้ จำนวน19 คน ผลตรวจจากห้องปฏิบัติการทุกคนไม่พบเชื้อไวรัสโควิด-19 จะมีการติดตามอย่างใกล้ชิดทุกคน โดยให้เฝ้าระวังตัวเองที่บ้าน จนครบ 14 วัน โดยจะมีเจ้าหน้าที่ติดตามอาการทุกวัน



         พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ จัดตั้งศูนย์บริหารการแก้ปัญหาโรคโควิด-19 ที่ทำเนียบรัฐบาล โดยมีนายกฯเป็นประธานจะดูในเรื่องนโยบาย การสั่งการ ติดตามความคืบหน้า เป็นการยกระดับขึ้นมาจากศูนย์ของกระทรวงสาธารณสุข



ก.คลัง เตรียมอัดฉีดเงินแสนล้านบาท ออกมาตรการกระตุ้นศก.



          นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า กระทรวงการคลังจะเสนอ ครม.เศรษฐกิจอนุมัติ ชุดมาตรการ ล็อตแรก ในการดูแลผลกระทบต่อประชาชนและผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 ขนาดของชุดมาตรการต้องเหมาะสม สามารถดูแลเศรษฐกิจในระยะ 3-4 เดือนข้างหน้าได้ ในวงเงินมากกว่า 100,000 ล้านบาท และไม่ได้นำมาจากเงินกู้ หากครม.เศรษฐกิจเห็นชอบ จะเสนอ ครม.อนุมัติต่อไปใน วันที่ 10 มี.ค.นี้



          หนึ่งในชุดมาตรการ คือ การโอนเงินช่วยเหลือ โดยเน้นกลุ่มที่มีรายได้น้อย และ อาชีพอิสระ คาดว่าจะครอบคลุมมากกว่า 10 ล้านคน ซึ่งอาจเป็นกลุ่มที่มีรายได้ไม่เกิน 15,000 บาทต่อเดือน โดยจะเปิดให้มีการลงทะเบียน หลักเกณฑ์การพิจารณาต้องมีความชัดเจน ขณะนี้ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.)อยู่ระหว่างพิจารณา ส่วนวงเงินการช่วยเหลือจะมากกว่า 1,000 บาทต่อคน และจะเป็นลักษณะการทยอยโอนให้ โดยผ่านระบบพร้อมเพย์ ได้มอบหมายให้ปลัดกระทรวงการคลัง ไปคิดกระบวนการเบิกจ่ายว่าจะต้องมีความชัดเจนและต้องไม่ช้า



          สำหรับมาตรการอื่น ประกอบด้วย การออกซอฟท์โลน  โดยให้ธนาคารออมสิน ปล่อยกู้ดอกเบี้ยต่ำแก่ธนาคารพาณิชย์เพื่อนำไปปล่อยต่อให้ผู้ประกอบการ โดยรัฐบาลจะเป็นผู้ชดเชยส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยต้นทุนให้กับธนาคารออมสิน ขณะเดียวกัน ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)จะผ่อนปรนมาตรฐานทางบัญชีแก่ธนาคารพาณิชย์เพื่อให้ธนาคารพาณิชย์สามารถปล่อยสินเชื่อหรือปรับโครงสร้างหนี้ให้แก่ลูกค้าได้มากขึ้น



กระทรวงคมนาคม ประชุมหาข้อสรุปช่วยเหลือสายการบิน



        นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม หารือกับตัวแทนสายการบินเอกชน 17 สายการบิน ว่า ภาคเอกชนได้เสนอให้รัฐบาลและหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง เช่น บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) กรมท่าอากาศยาน(ทย.) บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย(บวท.) มาช่วยเหลือ ยกเว้นและลดหย่อนค่าธรรมเนียมการดำเนินการของสายการบิน เพื่อให้สายการบินสามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้หลังจากที่ผู้ประกอบการได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 จนกระทบต่อต้นทุนการบริหารงาน อย่างไรก็ตาม แม้ว่าผู้ประกอบการจะปรับลดค่าใช้จ่ายภายในองค์กรลง ร้อยละ 30 - 50 และจัดโปรโมชั่นกระตุ้นตลาดประมาณ 2,000 ล้านบาท ในช่วงเดือน มี.ค.-ธ.ค.นี้ และจำหน่ายตั๋วโดยสารราคาพิเศษ แต่จำนวนผู้โดยสารยังปรับตัวลงต่อเนื่อง ทั้งนี้ เห็นได้จากจำนวนผู้โดยสารต่างประเทศลดลงร้อยละ 35.2 และในประเทศลดลงร้อยละ 18.4 โดยจำนวนผู้โดยสารทั้งหมดลดลง 2.54 ล้านคน มอบหมายให้ปลัดกระทรวงคมนาคม รวบรวมรายละเอียด และหาข้อสรุปแนวทางการช่วยเหลือผู้ประกอบการสายการบิน เพื่อนำเข้าสู่ที่ประชุมครม.เศรษฐกิจในวันที่ 6 มี.ค.



กระทรวงท่องเที่ยวฯ เสนอแจก 1,000 บาท เที่ยวไทย



          นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวว่า เตรียมเสนอให้ที่ประชุมพิจารณางบกลางฯปี2563วงเงิน5,000ล้านบาท เพื่อขับเคลื่อนโครงการ "กิน พัก เที่ยว" (ชื่อเบื้องต้น)กระตุ้นการท่องเที่ยวภายในประเทศโดยจะแจกเงินตั้งต้นสำหรับการท่องเที่ยวให้คนไทยที่ได้รับสิทธิ์จำนวน 5 ล้านคน คนละ1,000บาท ผ่านแอปพลิเคชั่น "เป๋าตัง"ก่อนจะนำเสนอที่ประชุม ครม.วันที่10 มี.ค. โครงการนี้จะมีวิธีการเข้าร่วมคล้ายโครงการชิมช้อปใช้ โดยจะให้ทุนไปตั้งต้นก่อนคนละ1,000บาท เพื่อกระตุ้นบรรยากาศการจับจ่ายและท่องเที่ยวภายในประเทศ คาดว่า โครงการนี้จะช่วยสร้างเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ 5 รอบ หรือ 25,000ล้านบาท คนที่ได้สิทธิ์รับเงินตั้งต้นเพื่อการท่องเที่ยว1,000บาทนี้จะต้องเดินทางจากภูมิลำเนาเป็นจุดตั้งต้นเพื่อไปเที่ยวข้ามจังหวัดและค้างคืนอย่างน้อย 1 คืน โดยวางกำหนดระยะเวลาการเดินทางภายใน 2-3 เดือน หากโครงการนี้ผ่านการพิจารณาของ ครม. จะดำเนินการทันทีคาดเริ่มได้หลังเดือน มี.ค.นี้



แฟ้มภาพ 



 

ข่าวทั้งหมด

X