ความเคลื่อนไหวเมืองไทยวันนี้ 19.30 น.วันพุธที่ 4 มีนาคม 2563
ตั้งศูนย์ข้อมูล COVID-19 รายงานตรงถึงนายกฯ ทุกวัน
มีการเผยแพร่ คำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 72/2563 เรื่อง จัดตั้งศูนย์ข้อมูลมาตรการแก้ไขปัญหาจากโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ภายหลังในวันนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานการประชุมจัดเตรียมมาตรการเร่งด่วนเพื่อรองรับแรงงานไทยที่เดินทางกลับจากประเทศเสี่ยงต่อการติดเชื้อและแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019(COVID-19) โดยคำสั่งระบุว่า
ตามที่ได้ปรากฏเหตุการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ในหลายประเทศ รวมถึงประเทศไทย ส่งผลกระทบในวงกว้างต่อประชาชนและชาวต่างชาติในประเทศไทย ซึ่งองค์การอนามัยโลก (WHO) ได้แจ้งคำเตือนแก่ทุกประเทศ และกระทรวงสาธารณสุขได้ประกาศให้โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) เป็นโรคติดต่ออันตรายตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 แล้ว และเพื่อให้เป็นไปตามข้อสั่งการนายกรัฐมนตรีในเรื่องมาตรการเร่งด่วนสำหรับการแก้ไขปัญหาจากโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในการประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2563 นายกรัฐมนตรีจึงมีคำสั่ง
-ให้จัดตั้งศูนย์ข้อมูลมาตรการแก้ไขปัญหาจากโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เรียกโดยย่อว่า “ศูนย์ข้อมูล COVID-19” ขึ้นในทำเนียบรัฐบาล ตั้งอยู่ ณ ตึกนารีสโมสร ทำเนียบรัฐบาล หรือสถานที่อื่นตามที่นายกรัฐมนตรีกำหนด
-ให้มีผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูล COVID-19 คนหนึ่ง ซึ่งนายกรัฐมนตรีแต่งตั้งเป็นผู้รับผิดชอบการปฏิบัติภารกิจของศูนย์ข้อมูล COVID-19 ขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรี
-ให้นายกรัฐมนตรีแต่งตั้งเจ้าหน้าที่จากส่วนราชการหรือหน่วยงานอื่นของรัฐมาปฏิบัติหน้าที่ด้านต่างๆ ในศูนย์ข้อมูล COVID-19 จนกว่าภารกิจแล้วเสร็จ
-ให้ศูนย์ข้อมูล COVID-19 มีภารกิจในการอำนวยการ ประสานงาน และกำกับดูแลข้อมูลเกี่ยวกับโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-2019) โดยมีหน้าที่และอำนาจ คือ
-รวบรวมและประสานข้อมูลจากหน่วยงานในต่างประเทศ ส่วนราชการ หน่วยงานอื่น ของรัฐและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง เพื่อดำเนินการจัดทำสื่อประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ข้อมูลที่ถูกต้อง ในทุกช่องทางทั้งในประเทศและต่างประเทศได้อย่างทันท่วงที เพื่อความเป็นเอกภาพและสร้างความเชื่อมั่นแก่สาธารณชน
-รับเรื่องร้องทุกข์หรือข้อร้องเรียนจากประชาชนหรือภาคเอกชน และประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อดำเนินการให้ความช่วยเหลือ ป้องกัน หรือแก้ไขปัญหาได้ทันที
-ติดตามการปฏิบัติงานในการให้ความช่วยเหลือแก่ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID 19) ได้อย่างทันท่วงที
-ชี้แจงต่อประชาชนและภาคเอกชน เพื่อประสานความร่วมมือในการปฏิบัติตามมาตรการที่กระทรวงสาธารณสุขหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำหนด โดยเฉพาะขั้นตอนการเฝ้าระวังและการป้องกันการติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19)
-เชิญบุคคลเข้าร่วมประชุมหรือขอข้อมูลจากหน่วยงานหรือบุคคลที่เกี่ยวข้องเพื่อช่วยชี้แจง หรือเพื่อประโยชน์อื่นในการปฏิบัติงานของศูนย์ข้อมูล COVID-19
-รับบริจาคเงินและสิ่งของเพื่อสนับสนุนการปฏิบัติภารกิจเกี่ยวกับการป้องกันและระงับยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ของบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข หน่วยงานของรัฐ และภาคเอกชน ตลอดจนบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน ทั้งนี้ ให้เป็นไปตามกฎหมายและระเบียบของทางราชการ
-รายงานสถานการณ์และความคืบหน้าการดำเนินงานของศูนย์ข้อมูล COVID-19 ต่อนายกรัฐมนตรีทุกวัน ดำเนินการอื่นใดตามที่นายกรัฐมนตรีมอบหมาย
-ให้เบิกจ่ายค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการที่จำเป็นต่อการปฏิบัติงานของศูนย์ข้อมูล COVID-19 ตามกฎหมายและระเบียบของทางราชการ โดยให้เบิกจ่ายจากงบประมาณ ของสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี
กองทัพ เตรียมพร้อม รับมือแรงงานไทย กลับจากเกาหลีใต้
กองทัพ เปิดพื้นที่สนับสนุน สธ. ควบคุมแรงงานไทยกลุ่มเสี่ยงกลับจากเกาหลีใต้ พล.ท.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกระทรวงกลาโหม เปิดเผยว่า ทุกเหล่าทัพ เตรียมการสนับสนุนกระทรวงสาธารณสุข ในมาตรการรองรับแรงงานไทย ที่กำลังจะเดินทางกลับจากเกาหลีใต้ โดยได้นำพื้นที่พักทหาร จัดเตรียมเป็นพื้นที่ควบคุมโรคในพื้นที่ต่างๆ ของภูมิภาค สนับสนุนในการควบคุมและติดตามเฝ้าระวัง โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงจากเมืองที่มีการแพร่ระบาด
ในส่วนของโรงพยาบาลทหารและบุคลากรทางการแพทย์ในพื้นที่ สนับสนุนการดูแลผู้ติดเชื้อขั้นต้น พร้อมทั้งจัดชุดแพทย์ทหาร สนับสนุนการคัดกรองในพื้นที่ด่านชายแดน โดยจะคงความเข้มข้นการทำงานร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข และส่วนราชการอื่นๆ ในแต่ละพื้นที่อย่างใกล้ชิด
แรงงานไทยเกาหลีใต้ เกือบ 200 ชีวิต หนีโควิด-19 กลับไทย มีไข้ 19 อีก 161 กลับบ้านแล้ว
จากสถานการณ์ระบาดของไวรัสโคโรนา หรือโควิด-19 อย่างหนักที่เกาหลีใต้ ส่งผลทำให้คนไทย หรือคนที่เป็นแรงงานผิดกฎหมายที่เกาหลีใต้ หรือที่เรียกว่า"ผีน้อย"ต้องการเดินทางกลับประเทศไทย พ.ต.อ.เชิงรณ ริมผดี รอง ผบก.ตม.2 ในฐานะรองโฆษกสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง กล่าวว่า สำหรับคนไทยที่เป็นแรงงานผิดกฎหมายที่ประเทศเกาหลีใต้ หรือ "ผีน้อย" ที่รายงานตัวกับทางการเกาหลีใต้ และถูกส่งกลับมาประเทศไทย ได้ทยอยเดินทางจากเมืองอินชอน เกาหลีใต้ เข้าประเทศไทยทางท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ท่าอากาศยานดอนเมือง และท่าอากาศยานภูเก็ต ตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค.62 - วันที่ 29 ก.พ.63 มีจำนวนทั้งสิ้น 2,022 คน
และตั้งแต่วันที่ 2 มี.ค.63 จนถึงเวลา 15.00 น. วันที่ 4 มี.ค.63 มีผีน้อยเดินทางกลับประเทศไทยทางท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ท่าอากาศยานดอนเมือง และท่าอากาศยานภูเก็ต อีก 180 คน ในจำนวนนี้มี 19 คนที่มีอาการไข้ ต้องถูกกักตัวตรวจวินิจฉัยตามขั้นตอนการควบคุมโรคต่อไป ส่วนที่เหลืออีก 161 คน ถูกปล่อยให้ไปกักตัวเองในที่พำนักตามประวัติที่แจ้งไว้ในระบบตรวจคนเข้าเมือง
คลังเตรียมเสนอ ครม.เศรษฐกิจ ศุกร์นี้ พิจารณา มาตรการเยียวยา ลดผลกระทบแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19
นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า กระทรวงการคลังเตรียมเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจในวันศุกร์นี้ ( 6 มี.ค.) พิจารณาชุดมาตรการบรรเทาผลกระทบจากการแพร่ระบาดของ ไวรัส COVID-19 ภายใต้ชื่อ “ดูแลและเยียวยาผลกระทบจากไวรัสโคโรนา ชุดที่ 1” มาตรการชุดแรก คาดว่า ใช้วงเงินกว่าแสนล้านบาท ครอบคลุมทุกกลุ่ม ตรงจุดและมีประสิทธิภาพ เพื่อเน้นให้เกิดผลในการช่วยเหลือทันทีในช่วง 3 เดือนข้างหน้า ทั้งผู้ประกอบการ ภาคการท่องเที่ยว เอสเอ็มอี คนระดับกลาง ผู้มีรายได้น้อย การช่วยเหลือครั้งนี้ไม่เป็นห่วงฝ่ายค้านโจมตี เพราะเป็นวิกฤตของหลายประเทศทั่วโลก เหมือนกับช่วงเผชิญเหตุการณ์สึนามิในภาคใต้หลายสิบปีที่แล้ว ยืนยันไม่กระทบต่อวินัยการเงิน การคลัง แต่เพื่อต้องการให้ทุกกลุ่มอยู่รอด
สำหรับชุดมาตรการครั้งนี้ กำหนดเป็นมาตรการชั่วคราวให้มีผลทันทีในช่วงระยะ 3-4 เดือนข้างหน้า หลังได้หารืออย่างใกล้ชิดกับทุกฝ่าย เช่น การช่วยเหลือภาระหนี้บัตรเครดิต กลุ่มพนักงานด้านท่องเที่ยวที่ไม่มีงานทำช่วงนี้ จะมีการจัดสรรงบประมาณเพื่อฝึกอบรม เติมความรู้ให้บุคลากรด้านการท่องเที่ยว ด้วยการจัดอบรมสัมมนาตามโรงแรม รีสอร์ท เพื่อเติมสภาคคล่องอีกทางหนึ่ง
หลังจากนั้น จะมีการเสนอมาตรการการดูแลผู้มีรายได้น้อยผ่านบัตรสวัสดิการ ซึ่งเป็นอีกด้านหนึ่ง ในการดูแลกำลังซื้อของประชาชน รวมทั้ง โครงการชิมช้อปใช้เฟส 4 ในการส่งเสริมประชาชนออกไปท่องเที่ยว จะเป็นอีกมาตรการที่นำออกมาช่วยเหลือในภายหลังเพิ่มเติม
หุ้นไทยปรับตัวเพิ่มขึ้น หลังเฟดลดดอกเบี้ยฉุกเฉินรับมือเศรษฐกิจ
การซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยวันนี้ (4มี.ค.2563)โดยบรรยากาศการซื้อขายตลอดทั้งวันมีกำลังซื้อเข้ามามากขึ้นเช่นเดียวกับตลาดหุ้นทั่วโลกเนื่องจากนักลงทุนคาดว่าธนาคารกลางต่างๆ จะดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจตามมา หลังธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ยฉุกเฉิน เพื่อรับมือกับผลกระทบทางเศรษฐกิจจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 โดยตลาดหุ้นไทย ได้รับแรงหนุนจากหุ้นในกลุ่มพลังงาน และมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยว ทำให้หุ้นในกลุ่มท่องเที่ยวมีการฟื้นตัวขึ้นได้ ส่งให้ตลาดฯปิดที่ระดับ 1,378.61 จุด ปิดบวก 3.59 จุด มูลค่าการซื้อขาย 58,586.96 ล้านบาท
ดัชนีนิกเกอิ ตลาดหุ้นโตเกียว ปิดบวกเล็กน้อยในวันนี้ หลังการซื้อขายที่ผันผวน โดยนักลงทุนกลับเข้าซื้อเก็งกำไรหุ้นที่ร่วงลงในช่วงเช้าจากความวิตกเกี่ยวกับผลกระทบทางเศรษฐกิจจากไวรัสโควิด-19 แม้ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ยฉุกเฉินเมื่อคืนนี้เพื่อลดผลกระทบดังกล่าวก็ตาม ดัชนีนิกเกอิปิดบวก 17.33 จุด แตะที่ 21,100.06 จุด
ดัชนีฮั่งเส็งตลาดหุ้นฮ่องกงปิดวันนี้ปรับตัวลดลง หลังดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ของฮ่องกง ร่วงลงอย่างหนักในเดือนก.พ. เนื่องจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ได้ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจย่ำแย่ลงอีก หลังจากที่เศรษฐกิจได้รับผลกระทบอยู่แล้วจากการประท้วงในฮ่องกงและการค้าทั่วโลกที่ซบเซา ดัชนีฮั่งเส็ง ลดลง 62.75 จุด ปิดวันนี้ที่ 26,222.07 จุด
พรุ่งนี้เลือกประธานศาลรธน.คนใหม่
วันพรุ่งนี้ ต้องจับตาการประชุมตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อเลือกประธานศาลคนใหม่ ที่สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ ในเวลา 11.00 น. โดยตุลาการศาลรัฐธรรมนูญชุดปัจจุบัน 4 คน คือนายทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ, นายวรวิทย์ กังศศิเทียม,นายนครินทร์ เมฆไตรรัตน์ และนายปัญญา อุดชาชน จะประชุมร่วมกับว่าที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทั้ง 4 คนที่เพิ่งได้รับความเห็นชอบจากที่ประชุมวุฒิสภา คือนายอุดม สิทธิวิรัชธรรม, นายวิรุฬห์ แสงเทียน, นายจิรนิติ หะวานนท์ และนายนภดล เทพพิทักษ์ อดีตเอกอัครราชทูต เพื่อเลือกกันเองให้คนหนึ่งเป็นประธานศาลรัฐธรรมนูญตามที่รัฐธรรมนูญมาตรา 206 กำหนด ก่อนแจ้งผลให้ประธานวุฒิสภาทราบ เพื่อนำรายชื่อประธาน และว่าที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญขึ้นทูลเกล้าฯต่อไป
อย่างไรก็ตาม มีกระแสข่าวขณะนี้ มี 3 ตัวเต็งที่คาดว่าจะได้รับเลือกเป็นประธานศาลรัฐธรรมนูญ คือนายวรวิทย์ กังศศิเทียม นายทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ ซึ่งเป็น 2 ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญในชุดปัจจุบัน และนายอุดม สิทธิวิรัชธรรม ที่เป็นว่าที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญใหม่
ว่าที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทั้ง 4 คนจะมีวาระการดำรงตำแหน่ง 7 ปีนับแต่วันที่ทรงแต่งตั้งและดำรงตำแหน่งได้เพียงวาระเดียว ส่วนตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ 4คนในชุดปัจจุบัน พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.)ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 มาตรา 79 ได้บัญญัติคุ้มครองไว้ว่า ให้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญซึ่งดำรงตำแหน่งยังไม่ครบวาระตามรัฐธรรมนูญ 2550 และดำรงตำแหน่งอยู่ในวันที่ พ.ร.ป.ฉบับนี้ใช้บังคับ ยังคงอยู่ในตำแหน่งต่อไปจนกว่าจะครบวาระตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ 2550 ซึ่งเท่ากับว่าตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ 4 คนในชุดปัจจุบันจะดำรงอยู่ในตำแหน่งจนครบวาระ 9 ปีนับแต่ที่ได้รับการโปรดเกล้าแต่งตั้งช่วงปี 2556-2558
ป.ป.ช.ชี้มูลความผิด 3 ผู้บริหารการบินไทย ทุจริตจัดซื้ออุปกรณ์ในห้องนักบิน
นายวรวิทย์ สุขบุญ เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) ในฐานะโฆษกสำนักงานป.ป.ช. แถลงว่า คณะกรรมการป.ป.ช.พิจารณากรณีการจัดซื้ออุปกรณ์ในห้องนักบินเพื่อรองรับข้อมูลปฏิบัติการบินในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์และระบบกล้องวงจรปิดสำหรับตรวจสอบบริเวณห้องนักบิน ของบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) โดยมีมติว่าการกระทำของเรืออากาศโท อภินันทน์ สุมนะเศรณี ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 และเรืออากาศโทณรุจ โกมลารชุน ผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 มีมูลเป็นความผิดอาญา ฐานร่วมกันเป็นพนักงาน มีหน้าที่ซื้อ ทำ จัดการหรือรักษาทรัพย์ใด ใช้อำนาจหน้าที่โดยทุจริตอันเป็นการเสียหายแก่องค์การ และมีมูลความผิดทางวินัยร้ายแรง ฐานทุจริตต่อหน้าที่หรือกระทำความผิดอาญาโดยเจตนาแก่บริษัท ส่วนการกระทำของเรืออากาศเอก ประสาท ขุนอินทร์ ผู้ถูกกล่าวหาที่ 3 มีมูลเป็นความผิดอาญาฐานเป็นผู้สนับสนุนด้วย