กรณีที่มีการจับกุมผู้ต้องหาที่นำหน้ากากอนามัยใช้แล้วมารีไซเคิลก่อนไปขายให้ประชาชนใช้ต่อ นพ.สมพงษ์ ชัยโอภานนท์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านโภชนาการ กรมอนามัย กล่าวว่า จากการตรวจสอบเบื้องต้นไม่ใช่หน้ากากที่ใช้ในโรงพยาบาล แต่ไม่ว่าหน้ากากจะมาจากที่ไหนก็เป็นสิ่งที่ไม่ควรจะนำมาใช้ต่อ หน้ากากอนามัย ถือเป็นสิ่งปฏิกูลที่ต้องมีข้อกำหนดเรื่องการทิ้งและทำลาย และห้ามเอาไปใช้ต่อ หากฝ่าฝืนจะผิดหมวด 3 การจัดการสิ่งปฏิกูลและมูลฝอย พ.ร.บ.การสาธารณสุข พ.ศ.2535 มีโทษทั้งจำทั้งปรับ
สำหรับการใช้หน้ากากอนามัย นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า คนทั่วไปที่ร่างกายแข็งแรง ไม่เจ็บป่วย ใช้หน้ากากอนามัยแบบผ้าก็เพียงพอ แต่ไม่ควรนำหน้ากากอนามัยที่ทำมาจากกระดาษทิชชู่มาใช้ เพราะไม่ได้มาตรฐานและไม่มีตัวกรองเชื้อโรค ส่วนคนที่มีความเสี่ยงติดโรค เช่น บุคลากรทางการแพทย์ และผู้ที่ป่วย ไอ จาม ควรใช้หน้ากากทางการแพทย์และ N95 เพราะขณะนี้โรงพยาบาลเอกชนหลายแห่งต่างบอกตรงกันว่าหน้ากากอนามัยขาดแคลน ขอให้เข้าใจว่ากระทรวงสาธารณสุขไม่ได้เป็นผู้ผลิต แต่ได้จัดเจ้าหน้าที่เข้าไปตรวจสอบแล้วว่าพื้นที่ใดมีหน้ากากอนามัยเหลืออยู่มาก เพื่อนำมาใช้ในพื้นที่ขาดแคลน
ส่วนที่แพทย์จะแจ้งความผู้อำนวยการและรองผู้อำนวยการโรงพยาบาลวชิระภูเก็ต กรณีรับผู้ป่วยสงสัยว่าติดโรคโควิด-19 มาพักโดยไม่ได้เตรียมการรับมือให้เพียงพอ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข สั่งให้ผู้ตรวจการเขต 11 ไปดูข้อกฎหมายพร้อมทำความเข้าใจกับเหตุที่เกิดขึ้น ยืนยันว่า โรงพยาบาลมีความพร้อมทั้งเรื่องห้องปฏิบัติการและการคัดแยกผู้ป่วย แต่อาจเกิดการสื่อสารที่ผิดพลาดทำให้ไม่เข้าใจกัน
...