ศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข รายงานสถานการณ์ผู้ป่วยโรคโควิด-19 ในไทย พบผู้ป่วยรายใหม่ 1 คน เป็นผู้ป่วยหมายเลข 43 ซึ่งเป็นหญิงไทย อายุ 22 ปี มีอาชีพดูแลนักท่องเที่ยว พบว่ามีประวัติสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยรายที่ 37 ที่เป็นชายไทย อาชีพขับรถให้นักท่องเที่ยว ซึ่งอยู่ในข่ายต้องสงสัย และเข้าสู่ระบบเฝ้าระวังมาตั้งแต่ต้น
นพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ยังเปิดเผยข่าวดีด้วยว่า มีผู้ป่วยหายดีกลับบ้านได้เพิ่ม 1 คน เป็นหญิงไทยอายุ 43 ปี ที่ติดโรคมาจากญี่ปุ่นแล้วเข้ารักษาที่โรงพยาบาลราชวิถี ทำให้มีผู้ป่วยหายดีกลับบ้านได้แล้วรวม 31 คน เหลือรักษาอยู่ในโรงพยาบาล 11 คน เสียชีวิต 1 ราย จากยอดผู้ป่วยทั้งหมด 43 คน ซึ่งอยู่ในอันดับที่ 14 ของโลก ภาพรวมสถานการณ์ผู้ป่วยของไทยจึงดีขึ้นเมื่อเทียบกับหลายประเทศ แต่ต้องเฝ้าระวังมากขึ้น หลังพบผู้เสียชีวิตในไทยรายแรก โดยกระทรวงฯ ได้ขยายระดับการเฝ้าระวังเริ่มจากวันนี้มีการประชุมวิดีโอทางไกลกับนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ เพื่อให้ซักซ้อมแผนรองรับ ซึ่งการทำงานจะร่วมกับกระทรวงมหาดไทย ภายในใต้นิยาม "โรคติดต่อจังหวัด" โดยการปฏิบัติงานของทีมแพทย์ จะปฏิบัติตามแนววินิจฉัย และปฏิบัติตาม พระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ.2558 และยังเพิ่มการคัดกรองมากขึ้น ได้ปรับนิยามผู้ป่วยเข้าเกณฑ์เฝ้าระวังสอบสวนโรค โดยขยายเกณฑ์การตรวจไปยังกลุ่มของผู้มีอาการติดเชื้อระบบหายใจ 5 คนขึ้นไป ที่มาจากสถานที่เดียวกัน ในระยะเวลาเดียวกัน เป็นการยกระดับความรวดเร็วในการตรวจจากการติดเชื้อในชุมชน ในส่วนการเฝ้าระวังในสถานพยาบาลและหากพื้นที่ใดพบผู้มีอาการไอ จาม มีไข้สูง ให้รีบโทรแจ้งหมายเลข 1422 ซึ่งจะมีทีมไปรับไปดูแล และมีการตั้งคณะกรรมการด้านวิชาการ ตาม พ.ร.บ. โรคติดต่อ พ.ศ. 2558 จำนวน 8 คน ซึ่งมีอำนาจให้คำแนะนำเกี่ยวกับการรับมือโรค
ขณะเดียวกันมีการเตรียมขยายการตรวจคัดกรองผู้เดินทางมาจากอังกฤษ และนอร์เวย์เพิ่มเติม ซึ่งหากยังไม่สามารถคุมสถานการณ์ได้ก็จะยกระดับการคัดกรองให้เข้มงวดเท่ากับ การคัดกรองผู้เดินทางมาจาก 11 ประเทศ และเขตปกครองคือ จีน ไต้หวันฮ่องกง มาเก๊า เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น มาเลเซีย เวียดนาม สิงคโปร์ เยอรมัน อิตาลี ฝรั่งเศสและอิหร่าน
ด้านนพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงการแจกหน้ากากอนามัย 3 ชิ้นต่อคนที่กระทรวงสาธารณสุขแจกให้ประชาชนในวันนี้ ว่าอยากให้เก็บไว้ใช้ตอนป่วย ตามที่นักวิชาการด้านการแพทย์ของสหรัฐฯ ระบุว่าอยากให้เก็บไว้ใส่ตอนป่วยมากกว่า ซึ่งเป็นไปตามหลักการที่ว่า หน้ากากอนามัยมีไว้ใช้สำหรับผู้ป่วย หรือบุคคลากรทางการแพทย์ที่ต้องใกล้ชิดหรือสัมผัสกับผู้ป่วย ขณะที่ยืนยันว่า หน่วยงานในกระทรวงฯ โดยเฉพาะสถานพยาบาลทุกแห่งมีหน้ากากอนามัยเพียงพอ ส่วนสถานพยาบาลเอกชนที่แจ้งว่ามีไม่เพียงพอก็ได้ประสานกับกระทรวงพาณิชย์เพื่อจัดส่งหน้ากากอนามัยไปให้แล้ว
....