เงินบาทกลับมาแข็งค่า จับตาเงินเฟ้อ
เงินบาทกลับมาแข็งค่าในช่วงปลายสัปดาห์ที่แล้ว แต่หุ้นไทยยังคงปรับตัวลดลงท่ามกลางสถานการณ์การระบาดไวรัสโควิด-19 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า เงินบาทที่อ่อนค่าในช่วงแรกสอดคล้องกับสถานะขายสุทธิในตลาดหุ้นและพันธบัตรไทยของนักลงทุนต่างชาติ แต่การที่เงินบาทพลิกกลับมาแข็งค่าในช่วงปลายสัปดาห์ เป็นผลมาจากแรงซื้อคืนเงินบาทเพื่อปรับโพสิชันของนักลงทุน หลังจากที่เงินบาทแตะระดับอ่อนค่าสุดในรอบ 9 เดือนที่ 31.93 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในระหว่างสัปดาห์
สำหรับสัปดาห์นี้ (2-6 มี.ค.) ประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทที่ 31.40-31.90 บาทต่อดอลลาร์ฯ โดยยังต้องติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิค-19 ในหลายๆ ประเทศทั่วโลก ประกอบกับตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญของสหรัฐฯ อาทิ ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตร การจ้างงานภาคเอกชน ยอดสั่งซื้อภาคโรงงานและรายจ่ายด้านการก่อสร้าง ตลอดจนรายงานสรุปภาวะเศรษฐกิจ ของธนาคารกลางสหรัฐฯหรือ เฟด นอกจากนี้ตลาดยังติดตามข้อมูลเงินเฟ้อเดือนกุมภาพันธ์ของไทย ผลการประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางมาเลเซีย ธนาคารกลางออสเตรเลีย และดัชนี PMI ภาคการผลิตและภาคบริการเดือนกุมภาพันธ์ของสหรัฐฯ จีน ญี่ปุ่น และยูโรโซนด้วย
ป่าภูกระดึงฟื้นตัว –ทับลานเหลือไฟป่าอีก 2 จุด-เขาทะลุยังควบคุมไม่ได้
นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์ไฟป่าเขตอุทยานแห่งชาติภูกระดึง จ.เลย และการฟื้นฟูพื้นที่ที่ได้รับความเสียหายกว่า 3,200 ไร่ และกล่าวว่า พื้นที่เสียหายจากไฟป่าประมาณร้อยละ 80 เริ่มฟื้นตัว แต่ยังต้องรอฝนแรกของฤดูฝนที่กำลังจะมาถึง ซึ่งจะช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นให้พื้นที่ สำหรับมาตรการฟื้นฟูในระยะยาว คือเร่งทำแนวกันไฟเพื่อป้องกันไฟป่า และขอความร่วมมือประชาชนเพื่อเป็นกำลังสำคัญในการปกป้องผืนป่า ช่วยกันเป็นหูเป็นตาไม่ให้มีการเผาป่าขึ้นอีก
ที่อุทยานแห่งชาติทับลาน มรดกโลกทางธรรมชาติ จ.ปราจีนบุรี ซึ่งมีไฟป่าเกิดขึ้น 7 จุด แต่ปัจจุบันเหลืออยู่ 2 จุด คือ ฝั่งหน้าผาเก็บตะวัน กับผาแดง ซึ่งไม่ได้เป็นไฟป่าที่รุนแรงแต่มีความซับซ้อนของภูมิประเทศที่เป็นเขาลาดชัน และมีไผ่เป็นเชื้อเพลิงจำนวนมาก
และการดับไฟไหม้ป่าบนเขาทะลุ จ.ชุมพร ไฟเริ่มลุกลามช้าลง แต่ยังไม่สามารถควบคุมไฟได้
พบชิ้นส่วนมนุษย์ในที่ดิน ‘ภรรยา พ.ต.ท.บรรยิน’
ความคืบหน้าของการสอบสวนคดีที่พ.ต.ท.บรรยิน ตั้งภากรณ์ พร้อมพวกรวม 6 คน ร่วมกันก่อเหตุอุ้มฆ่านายวีรชัย ศกุนตะประเสริฐ อายุ 67 ปี พี่ชาย น.ส.พนิดา ศกุนตะประเสริฐ ผู้พิพากษาอาวุโสในศาลอาญากรุงเทพใต้ เจ้าของสำนวนคดีโอนหุ้น 300 ล้านของ นายชูวงษ์ แซ่ตั๊ง ที่มี พ.ต.ท.บรรยิน กับพวกเป็นจำเลย ที่ถูกต้องหาว่าอุ้มฆ่านายวีรชัย เพื่อข่มขู่ทางคดีให้ยกฟ้อง ที่กองบังคับการปราบปราม (บก.ป.) พ.ต.อ.เอนก เตาสุภาพ รอง ผบก.ป. เปิดเผยว่าสำนวนคดีมีความคืบหน้าไปมาก ส่วนการสอบปากคำพยานบุคคลต่างๆ นั้นเกือบครบถ้วนเรียบร้อย คงเหลือสอบปากคำเจ้าหน้าที่แพทย์และกองพิสูจน์หลักฐาน (พฐ.) อีกบางส่วน เพราะยังต้องรอผลการตรวจหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์ออกมาอย่างเป็นทางการก่อน คาดว่าภายในเดือนมีนาคมนี้สำนวนคดีน่าจะแล้วเสร็จ
โดยเมื่อวันที่ 29 กุมภาพันธ์ นักประดาน้ำพบหลักฐานเป็นแผ่นป้ายทะเบียน 4 แผ่นในแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณ ต.กลางแดด อ.เมือง จ.นครสวรรค์ และมีการสอบปากคำเจ้าหน้าที่ขนส่งรายหนึ่งในพื้นที่ จ.นครสวรรค์ ซึ่งเป็นผู้จัดหาแผ่นป้ายทะเบียนรถให้กับ พ.ต.ท.บรรยิน
นอกจากนี้ ในการตรวจพื้นที่ที่พบเศษชิ้นส่วนกระดูกของนายวีรชัย ผู้เสียชีวิตพบว่าเป็นที่ดินของนางวราภรณ์ ตั้งภากรณ์ ภรรยาของ พ.ต.ท.บรรยิน จึงเตรียมเชิญตัวมาสอบปากคำเพิ่มเติมว่ามีส่วนรู้เห็นหรือเกี่ยวข้องด้วยหรือไม่ กับจะเชิญ ร.อ.จักรวาล ตั้งภากรณ์ พี่ชาย พ.ต.ท.บรรยิน มาสอบปากคำเพิ่มเติมกรณีที่เป็นผู้ที่ขอยืมรถยนต์จากตำรวจใน จ.พิจิตร เพื่อนำมาใช้งาน และพ.ต.ท.บรรยิน นำรถคันนี้ไปใช้ในการก่อเหตุ
ตร.เร่งคดีฆ่ายัดกระเป๋าโยงหลายพื้นที่
ความคืบหน้าคดีฆ่านายหวัง จุน ชายชาวจีน อายุ 30 ปี แล้วซ่อนศพไว้ในกระเป๋าเดินทางทิ้งแม่น้ำปิง ในเขตจังหวัดกำแพงเพชร พล.ต.ต.ดำรงค์ เพ็ชรพงศ์ รองผู้บัญชาการตำรวจภูธร ภาค 6 ติดตามคนร้าย 4 คน ตามหมายจับของศาลจังหวัดกำแพงเพชร ซึ่งยังต้องมีการประสานงานระหว่างตำรวจภูธรหลายจังหวัดและกองปราบปราม รวมถึงกรณีที่คนร้ายจะหลบหนีข้ามไปยังประเทศเพื่อนบ้านหรือไม่ ซึ่งจะต้องขยายผลการสอบสวนต่อไป เพราะเรื่องเกิดขึ้นที่บ้านพักในพัทยา และพบศพที่กำแพงเพชร นอกจากนี้ ตำรวจภูธรเมียวดี รัฐกะเหรี่ยง ประเทศเมียนมา ยังมีการติดตามคดี เพราะเกรงว่าจะมีการฆาตกรรมในฝั่งเมียนมาก่อนเอาข้ามมาเขตไทย
กทม.อนุมัติใช้งบบัตรทอง 1 พัน 7 ร้อยล้านบาท
นพ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) เปิดเผยถึงความคืบหน้ากองทุนหลักประกันสุขภาพกรุงเทพมหานคร ว่าการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการกองทุนฯ ระดับเขต ประกอบด้วย ตัวแทนภาคประชาชน ภาคเอกชน และภาคราชการ รวมทั้งสิ้น 50 เขตเรียบร้อยแล้ว พร้อมที่จะเดินหน้าในการใช้จ่ายเงินเพื่อพัฒนาสุขภาพของคนกรุงเทพมหานคร โดยจัดสรรงบประมาณจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) หัวละ 45 บาทต่อประชากร ร่วมกับเงินสมทบจากกรุงเทพมหานคร (กทม.) ไม่น้อยกว่าร้อยละ 60 เพื่อนำมาใช้จ่ายในการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคที่ดำเนินการในชุมชน รวมงบประมาณปีละ 590 ล้านบาท ซึ่งเริ่มต้นในปี 2561 จนถึงปัจจุบันปี 2563 มีเงินในกองทุนรวมแล้วทั้งสิ้นกว่า 1 พัน 7 ร้อยล้านบาท
...