เลขาธิการสนทช.เฝ้าระวังฝนทิ้งช่วงถึงกลางเดือนก.ค.รับห่วงภัยแล้งภาคกลาง-ภาคตะวันออก

14 กุมภาพันธ์ 2563, 14:47น.


            การรับมือสถานการณ์ภัยแล้ง หลังการประชุมกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ(กอนช.) นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ(สทนช.) ย้ำว่า พื้นที่น่าเป็นห่วง คือ ภาคกลางและภาคตะวันออก ซึ่งเป็นพื้นที่การลงทุนเขตอุตสาหกรรม ซึ่งรัฐไม่ต้องการให้ปัญหาภัยแล้งกระทบต่อนักลงทุน การประชุมวันนี้ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการ กอนช. ย้ำเรื่องการหาแหล่งกักเก็บน้ำเพิ่ม โดยต้องทำได้จริง ไม่ทับซ้อน และต้องมีผลเป็นรูปธรรมภายในเดือนมิถุนายนนี้  โดยกรมทรัพยากรน้ำบาดาลกำลังเร่งเจาะบ่อน้ำบาดาลอีก 700 บ่อ เพื่อให้ใช้ได้ในเดือนเมษายนนี้ ควบคู่กับมาตรการอื่นๆที่จะนำมาใช้แก้ปัญหาภัยแล้ง รวมถึงท้องถิ่นใน 70 จังหวัดที่ได้เสนอแผนงานเกี่ยวกับการเพิ่มแหล่งกักเก็บน้ำมาและกำลังจะพิจารณาต่อ



            ส่วนความกังวลฝนทิ้งช่วง เลขาธิการสทนช. ประเมินว่า ฝนจะทิ้งช่วงไปถึงเดือนกรกฎาคม หลังจากเริ่มเข้าสู่ฝนในช่วงปลายเดือนพฤษภาคม จากนั้น สถานการณ์จึงกลับมาเป็นปกติ ทำให้ต้องปรับแผนจัดสรรน้ำใหม่เพื่อให้น้ำมีพอ โดยน้ำอุปโภคบริโภคจะมีพอให้ประชาชนตลอดหน้าแล้ง เมื่อถึงสิ้นเดือนมิถุนายนคาดว่า 4 เขื่อนหลักจะเหลือน้ำใช้การ 800 กว่าล้านลูกบาศก์เมตร ส่วนทั่วประเทศจะเหลือ 3,000 ล้านลูกบาศก์เมตร ดังนั้นแผนการปลูกข้าวนาปี จะสามารถทำได้ ยกเว้นพื้นที่เสี่ยงบางพื้นที่เท่านั้น



           ส่วนการรับมือภัยแล้งในภาคตะวันออก ได้เตรียมแผนการไว้รอรับทั้งหมดแล้ว ระยะสั้นจะขอความร่วมมือให้ภาคเกษตรและอุตสาหกรรมลดการใช้น้ำลง โดยอุตสาหกรรมต้องลดการใช้น้ำลงอย่างน้อยร้อยละ 10 ควบคู่กับกรมฝนหลวงบินทำฝนเทียม โดยเฉพาะปลายเดือนนี้ที่จะทำฝนเทียมต่อเนื่องถึงเดือนมีนาคม เพราะสภาพอากาศเหมาะสม



           สำหรับแผนระยะกลางรัฐบาลมีแผนกู้เงินทำโครงการพัฒนาแหล่งน้ำต่างๆทั่วประเทศ โดยเฉพาะที่ภาคตะวันออกและภาคเหนือ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการกักเก็บน้ำ เช่น สร้างประตูระบายน้ำ 10 แห่ง, อ่างเก็บน้ำ 2 แห่ง จะทยอยเริ่มทำตั้งแต่เดือนกันยายนปีนี้ ส่วนภาคกลางในลุ่มเจ้าพระยามีน้ำเหลือน้อย โดยเฉพาะเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์และเขื่อนกระเสียว



            ที่ประชุมกอนช.เห็นชอบให้ผันน้ำจากลุ่มน้ำแม่กลองมาเพิ่มในเจ้าพระยาอีก 350 ล้านลูกบาศก์เมตรไปจนถึงเดือนมิถุนายนนี้ นายทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน ยืนยันว่า การผันน้ำจะไม่กระทบกับประชาชนที่อยู่ในลุ่มน้ำแม่กลอง ส่วน 4 เขื่อนหลักลุ่มเจ้าพระยา จะระบายน้ำลงเจ้าพระยารวมกันวันละ 18 ล้านลูกบาศก์เมตร เพื่อรักษาระบบนิเวศและอุปโภคบริโภคเท่านั้น และน้ำที่ผันมา ช่วยดันน้ำเค็มออกไป ทำให้ภาคกลางไม่มีปัญหาน้ำเค็มแล้ว



           ส่วนภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เลขาธิการสทนช. ขอให้ประชาชนสบายใจ เพราะน้ำมีพอ ไม่น่าห่วง โดยเฉพาะเขื่อนลำปาว จ.กาฬสินธุ์ ที่ตอนนี้ปริมาณน้ำใช้การเหลือมากกว่าร้อยละ 50 จนสามารถปลูกพืชได้เขียวขจีเต็มพื้นที่ ซึ่งไม่เคยทำได้มาก่อน

ข่าวทั้งหมด

X