ทันสถานการณ์โลก 06.30 น. วันศุกร์ที่ 14 กุมภาพันธ์ 2563

14 กุมภาพันธ์ 2563, 06:06น.


กัมพูชาพบผู้โดยสารเรือเอ็มเอสเวสเตอร์ดัมสงสัยติดเชื้อ 20 คน



          กรณีเรือสำราญเอ็มเอส เวสเตอร์ดัม เข้าเทียบท่าเรือที่เมืองสีหนุวิลล์ กัมพูชา โดยเรือลำนี้มีผู้โดยสาร 1,455 คน และลูกเรือ 800 คนซึ่งเป็นคนไทย 19 คน แต่คาดว่าจะต้องใช้เวลา 2-3 วันเมื่อการตรวจคัดกรองเชื้อโควิด-19 เสร็จสิ้น ทั้งผู้โดยสารและลูกเรือจะขึ้นฝั่งได้



          อย่างไรก็ตาม ทางเรือสำราญแจ้งว่าไม่มีใครในเรือลำนี้ที่ติดเชื้อ แต่มีสื่อในกัมพูชารายงานว่า มีผู้โดยสารอย่างน้อย 20 คนมีอาการป่วย และต้องนำตัวอย่างเลือดไปตรวจที่สถาบันปาสเตอร์ที่กรุงพนมเปญ



          ส่วนเรือสำราญไดมอนด์ ปรินเซส ที่ถูกกักอยู่ที่ท่าเรือเมืองโยโกฮามา ประเทศญี่ปุ่น พบผู้ติดเชื้อเพิ่มอีก 44 คน เป็นคนญี่ปุ่น 29 คน และต่างชาติ 15 คน โดย 43 คนเป็นผู้โดยสาร ส่วนอีก 1 คน เป็นลูกเรือ ส่งผลให้มีผู้ติดเชื้อรวม 218 คน



ญี่ปุ่นยืนยันพบผู้เสียชีวิตรายแรกเป็นหญิงชราวัยกว่า 80 ปี



          ในวันนี้ คณะรัฐมนตรีญี่ปุ่นจะพิจารณาการจัดสรรงบประมาณ 1 หมื่น 3 ร้อยล้านเยนเพื่อใช้ในการสกัดการแพร่ระบาด นายกรัฐมนตรีชินโซ อาเบะ แห่งญี่ปุ่น กล่าวว่า หากรวมกับมาตรการอื่นๆ วงเงินงบประมาณในการต่อสู้กับสถานการณ์โรคระบาดจะมีมูลค่ารวม 1 หมื่น 5 พัน 3 ร้อยล้านเยน



          ขณะนี้ ญี่ปุ่นมีผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 จำนวน 249 คน มากเป็นอันดับ 2 รองจากจีน



          นายคัตสึโนบุ คาโตะ รัฐมนตรีสาธารณสุขญี่ปุ่น เปิดเผยว่า ผู้ป่วยหญิงวัยกว่า 80 ปีในจังหวัดคานากาวะเสียชีวิตแล้ว และถือเป็นผู้เสียชีวิตรายแรกของญี่ปุ่น ที่ไม่เคยเดินทางไปจีน โดยเธอมีอาการป่วยตั้งแต่วันที่ 22 มกราคมและพบแพทย์ในวันที่ 28 มกราคม ผลการตรวจครั้งแรกระบุว่า มีอาการปอดอักเสบ และได้เข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาลในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ และผลการตรวจยืนยันว่าติดเชื้อไวรัสโควิด-19



แพทย์จีนรักษาทารกวัย 14 เดือน หายขาด



          แพทย์จีนระบุว่าทารกชายวัย 14 เดือนหายขาดจากการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 และให้ออกจากโรงพยาบาลในมณฑลหูเป่ยแล้ว โดยทารกรายนี้ถูกนำส่งโรงพยาบาลเมื่อวันที่ 26 มกราคม เนื่องจากมีอาการท้องเสีย และอาเจียนเป็นเวลา 6 วัน แต่ขณะที่อยู่โรงพยาบาลมีอาการหายใจติดขัด ทำให้ต้องส่งเข้าห้อง ICU ซึ่งผลการวินิจฉัยพบว่าติดเชื้อไวรัสโควิด-19



สายการบินสหรัฐฯงดไปจีนถึงสิ้นเมษา



          สายการบินยูไนเต็ด แอร์ไลน์ แถลงยกเลิกเที่ยวบินไปจีนทั้งหมดไปจนถึงปลายเดือนเมษายนเนื่องจากสถานการณ์โรคระบาด และมีการจองตั๋วเดินทางลดลง



          อเมริกัน แอร์ไลน์ กรุ๊ป อิงก์ จะระงับเที่ยวบินไปยังจีนและฮ่องกงจนถึงวันที่ 24 เมษายน จากเดิมจะระงับการบินถึงวันที่ 27 มีนาคม



          เดลต้า แอร์ไลน์ ระงับเที่ยวบินไปจีนถึงวันที่ 30 เมษายน



IEA คาดพิษไวรัสฉุดอุปสงค์น้ำมันหดตัวใน Q1/63 ครั้งแรกรอบกว่า 10 ปี



          สำนักงานพลังงานสากล หรือ ไออีเอ คาดการณ์ว่า อุปสงค์น้ำมันทั่วโลกจะลดลงในไตรมาสแรก เป็นครั้งแรกในรอบกว่า 10 ปี เนื่องจากโรคระบาดที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจจีน และความต้องการใช้น้ำมัน โดยอุปสงค์น้ำมันทั่วโลกลดลง 435,000 บาร์เรล/วันในไตรมาสแรก เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว และประกาศปรับลดการขยายตัวของอุปสงค์น้ำมันในปีนี้ 365,000 บาร์เรล/วัน สู่ระดับ 825,000 บาร์เรล/วัน ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่ปี 2554



โอเปกหั่นคาดการณ์ดีมานด์น้ำมันโลก



          กลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน หรือ โอเปก ลดประมาณการเติบโตของดีมานด์น้ำมันทั่วโลกในปีนี้ลงเหลือเฉลี่ย 29 ล้าน 3 แสนบาร์เรลต่อวัน ซึ่งน้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ 200,000บาร์เรลต่อวัน เนื่องจากผลกระทบที่มีต่อเศรษฐกิจจีนได้เพิ่มความไม่แน่นอนต่อการเติบโตของเศรษฐกิจโลกในปีนี้ และมีผลกระทบต่อการเติบโตเพิ่มของดีมานด์น้ำมันทั่วโลก



          สัญญาน้ำมันดิบล่วงหน้า WTI ปรับตัวขึ้นเนื่องจากนักลงทุนคาดว่า กลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน หรือโอเปก และพันธมิตร จะลดกำลังการผลิตน้ำมันลงอีก เพื่อผลักดันให้ราคาน้ำมันเพิ่มขึ้น ตามที่คณะกรรมการร่วมด้านเทคนิค หรือเจทีซีของกลุ่มฯ เสนอให้ลดกำลังการผลิตลงอีก 600,000บาร์เรล/วัน



          สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เทกซัส อินเตอร์มีเดียต หรือไลต์สวีตครูด งวดส่งมอบเดือนมีนาคม เพิ่มขึ้น 25 เซนต์ ปิดที่ 51.42 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล เบรนต์ลอนดอนงวดส่งมอบเดือนเมษายน เพิ่มขึ้น 55 เซนต์ ปิดที่ 56.34 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล



          ส่วนหุ้นสหรัฐฯ ดาวโจนส์ ลดลง 128.11 จุด ปิดที่ 29,423.31 จุด เอสแอนด์พี ลดลง 5.51 จุด ปิดที่ 3,373.94 จุด  แนสแดค ลดลง 13.99 จุด ปิดที่ 9,711.97 จุด



สหประชาชาติขึ้นบัญชีดำบริษัทปิโตรเคมีและสิ่งทอของไทย เป็น 1 ใน 112 ธุรกิจเกี่ยวพันตั้งถิ่นฐานยิวในเขตเวสต์แบงก์



          สำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งองค์การสหประชาชาติ (UNOHCHR) เปิดเผยบัญชีรายชื่อธุรกิจ 112 แห่งที่ทำธุรกิจเกี่ยวข้องกับการตั้งถิ่นฐานผิดกฎหมายของชาวยิวในเขตเวสต์แบงก์ ซึ่งมีชื่อบริษัทชั้นนำของโลกอย่าง Airbnb เอ็กซ์พีเดีย โมโตโรลา เจนเนอรัล มิลส์ และบริษัทอินโดรามา เวนเจอร์ส พี.แอล.ซี (Indorama Ventures P.C.L.) ซึ่งเป็นปิโตรเคมีและสิ่งทอยักษ์ใหญ่ระดับโลกที่มีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ในกรุงเทพฯ โดยบริษัท 94 แห่งในรายงานฉบับนี้อยู่ในอิสราเอล และอีก 18 แห่ง เป็นบริษัทต่างชาติอยู่ใน 6 ประเทศ คือสหรัฐฯ ฝรั่งเศส เนเธอร์แลนด์ ลักเซมเบิร์ก สหราชอาณาจักร และประเทศไทย



          สำหรับบริษัท อินโดรามา เวนเจอร์ส พี.แอล.ซี  เข้าข่ายเกี่ยวข้องการตั้งถิ่นฐานอิสราเอลผิดกฎหมายในเขตเวสต์แบงก์ โดยถูกระบุว่าเป็นการกระทำกิจกรรม (g) หรือการใช้ทรัพยากรธรรมชาติโดยเฉพาะน้ำและที่ดินในการทำธุรกิจ รวมไปถึงมีสิ่งปลูกสร้างถาวรตั้งอยู่



          อย่างไรก็ตาม รายงานฉบับนี้ ไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการทางยุติธรรม และไม่มีผลผูกพันทางกฎหมาย แต่อาจทำให้กลุ่มสนับสนุนปาเลสไตน์นำมาใช้กดดันรัฐบาล หรือผู้บริโภคคว่ำบาตรไม่ใช้ผลิตภัณฑ์ รัฐมนตรีการต่างประเทศอิสราเอล ประณามการขึ้นบัญชีดำ 112 ธุรกิจว่าเป็นเรื่องน่าอับอาย ส่วนนายกรัฐมนตรีอิสราเอลยืนยันว่าต่อสู้กับแรงกดดันนี้



...

ข่าวทั้งหมด

X