ทร.ชี้แจงเหตุเรือสำราญ Seabourn เทียบท่าได้ รบ.ย้ำไทยมีมาตรการควบคุมโรคเข้มงวด

13 กุมภาพันธ์ 2563, 11:08น.


          ยังเป็นประเด็นต่อเนื่องกับการเทียบท่าของเรือต่างๆที่ประเทศไทย เพราะหลายฝ่ายกังวลกับโรคโควิด-19 หรือเชื้อไวรัสโคโรนาของคนบนเรือ ซึ่งล่าสุดเรือสำราญ Westerdam ถูกปฏิเสธไม่ให้เทียบท่าที่ไทย ต่างจากเรือสำราญ Seabourn Ovation ที่มาเทียบท่าที่ท่าเรือน้ำลึกภูเก็ตในวันนี้ ทำให้อาจเป็นข้อสงสัยว่าทำไมเรือสำราญ Seabourn เทียบท่าได้



          เรื่องนี้กองทัพเรือภาคที่ 3 ชี้แจงข้อเท็จจริง 6 ข้อ แบ่งได้เป็น 2 ประเด็น เริ่มที่ประเด็นเกี่ยวกับตัวเรือที่พบว่าแม้เรือสำราญ Seabourn จะมีต้นทางออกมาจากฮ่องกงเหมือนเรือสำราญ Westerdam และยังออกมาวันเดียวกันคือ วันที่ 1 กุมภาพันธ์ แต่สิ่งที่แตกต่างคือ เรือ Seabourn ประสานขอจอดพักที่ภูเก็ตแค่ 10 ชั่วโมง ตั้งแต่เวลา 07.00-17.00น. ในวันที่ 13 กุมภาพันธ์ มาตั้งแต่แรก ไม่ได้เพิ่งขอมา ต่างจากเรือ Westerdam ที่ตอนแรกไม่มีกำหนดผ่านไทยแต่เพิ่งมาขอเทียบท่า และเรือสำราญ Seabourn ยังได้รับอนุญาตให้เทียบท่าที่กัวลาลัมเปอร์ และลังกาวีของประเทศมาเลเซีย ต่างจากเรือ Westerdam ที่ถูกหลายประเทศปฏิเสธไม่ให้เทียบท่า ประเด็นต่อมาเป็นความแตกต่างของลูกเรือและการติดตามตัวลูกเรือหลังเทียบท่า ซึ่งพบว่าผู้โดยสารและลูกเรือ Seabourn เป็นคนยุโรปทั้งหมดและไม่มีใครมีอาการป่วยคล้ายกับโรคโควิด-19 ทั้งยังสามารถติดตามตัวคนบนเรือได้ทุกคน เพราะเป็นแค่การแวะพักไม่ได้ส่งผู้โดยสารลงจากเรือ ต่างจากเรือ Westerdam ที่มีจุดประสงค์จอดเทียบท่าเพื่อกระจายคนในเรือทุกคนกลับบ้าน ซึ่งมีชาวจีนอยู่ถึง 21 คน และการเดินทางดังกล่าวทำให้ยากต่อการติดตามตัว  ที่สำคัญคือไม่มีข้อมูลยืนยันแน่ชัดว่ามีใครในเรือ Westerdam มีอาการคล้ายโรคโควิด-19 หรือไม่



          ด้านน.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ยืนยันว่า ไทยไม่มีมาตรการห้ามการเดินทางหรือห้ามคนจากประเทศใดเข้าประเทศ และยังมีมาตรการควบคุมโรคที่คำนึงถึงความปลอดภัยของคนไทยเป็นลำดับแรก

ข่าวทั้งหมด

X