ดัชนีความมั่นคงทางสุขภาพ ชี้ไทยมีความพร้อมรับมือโรคระบาดอยู่แถวหน้าของโลก
ทีมนักวิจัยโครงการความริเริ่มภัยคุกคามนิวเคลียร์ (Nuclear Threat Initiative) มหาวิทยาลัยจอห์น ฮอปกินส์ และหน่วยข่าวกรองเศรษฐศาสตร์ (The Economist Intelligence Unit) ซึ่งเป็นหน่วยงานวิเคราะห์เศรษฐกิจของนิตยสาร ดิ อิโคโนมิคส์ (The Economist) เผยแพร่ รายงานดัชนีความมั่นคงด้านสุขภาพโลก 2019 ( Global Health Security (GHS) Index) อีกครั้งในวันนี้ ระบุว่า ประเทศไทย มีความพร้อมในการรับมือวิกฤติโรคระบาดเป็นอันดับ 1 ของเอเชีย และเป็นที่ 6 ของโลก
รายงานฉบับนี้ มีการเผยแพร่ครั้งแรกเมื่อเดือนตุลาคมปีที่แล้ว และนำขึ้นมาเผยแพร่ซ้ำอีกครั้งท่ามกลางวิกฤติโรคระบาด โดยเป็นผลการศึกษาเปรียบเทียบระหว่าง 195 ประเทศทั่วโลก จากปัจจัยที่สำคัญ 6 ข้อ ได้แก่ การป้องกัน การตรวจจับและรายงาน ความรวดเร็วในการโต้ตอบและรับมือ ระบบสาธารณสุข มาตรฐานการปฏิบัติตามบรรทัดฐานโลก และความเสี่ยงต่าง ๆ โดยประเทศไทยมีคะแนนสูงเป็นอันดับที่ 6 ด้วยคะแนน 75.5 จาก 100 คะแนน และเป็นประเทศกำลังพัฒนาเพียงประเทศเดียวในกลุ่ม 15 ประเทศแรกของโลกที่มีการเตรียมพร้อมด้านความมั่นคงทางสุขภาพสูงสุด โดยประเทศที่อยู่ในอันดับ 1 คือ สหรัฐอเมริกา รองลงมาคือสหราชอาณาจักร เนเธอร์แลนด์ ออสเตรเลีย และแคนาดา ประเทศไทยได้คะแนนสูงสุดในด้านการตรวจจับและรายงาน ที่ 81 คะแนน ขณะที่มีคะแนนด้านความเสี่ยงต่างๆ อยู่ที่ 56.4 ส่วนจีน ที่เป็นประเทศศูนย์กลางโรคระบาดครั้งนี้ อยู่ในอันดับที่ 51 โดยมี 48.2 คะแนน และมีคะแนนระดับความเสี่ยงต่างๆ ที่ 64.4 ซึ่งเป็นคะแนนมากที่สุดเมื่อเทียบกับอีก 5 ปัจจัย
นายกฯขอให้ใช้งบฯ ตรงตามแผนงาน-กลุ่มเป้าหมาย
ในปี 2562 จีนเป็นตลาดส่งออกสำคัญอันดับ 2 ของไทย คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 12 ของมูลค่าส่งออกรวม โดยสินค้าส่งออกสำคัญของไทยไปจีนที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบ ได้แก่ ผลไม้สด แช่เย็นแช่แข็งและแห้ง ผลิตภัณฑ์ยาง ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ข้าว ชิ้นส่วนรถยนต์ รวมถึงวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตสินค้า เช่น เม็ดพลาสติก และยางพารา ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบมาตรการการเงินการคลัง เพื่อบรรเทาผลกระทบต่อภาคธุรกิจท่องเที่ยว หลังเผชิญปัญหาจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ ซึ่งมาตรการช่วยเหลือมีทั้ง มาตรการด้านการเงินและมาตรการด้านภาษี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม กล่าวว่า เราต้องใช้เวลาช่วงที่มีนักท่องเที่ยวน้อยมาพัฒนาโรงแรม สถานประกอบการต่างๆเพื่อรอรับการท่องเที่ยวเมื่อสถานการณ์คลี่คลาย เรื่องของเศรษฐกิจได้ให้แนวทางว่าจะทำอย่างไรให้งบประมาณที่มีอยู่ในปัจจุบัน ในแผนงานต่างๆ ให้ตรงตามกลุ่มเป้าหมายของเรา โดยเฉพาะอย่างยิ่งเศรษฐกิจฐานราก ผู้ประกอบการรายเล็ก และผู้ประกอบการในชุมชนให้เข้าถึงแหล่งเงินทุน การตลาดให้ได้ โดยความร่วมมือจากภาคเอกชนและประชาชน ร่วมกับผู้นำชุมชนในพื้นที่
ครม.อนุมัติมาตรการการเงิน-การคลัง กระตุ้นศก.ช่วงไวรัสระบาด
มาตรการการเงินการคลัง เพื่อบรรเทาผลกระทบต่อภาคธุรกิจการท่องเที่ยวปี 2563 ประกอบด้วย มาตรการด้านภาษี และ มาตรการทางการเงิน โดยมาตรการทางภาษี คือ 1.การขยายกำหนดเวลาการยื่นแบบแสดงรายการและชำระภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาซึ่งต้องยื่นภายในเดือนมี.ค.2563 ขยายออกไปเป็นเดือนมิ.ย.2563 2.มาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการจัดอบรมสัมมนาภายในประเทศ ให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลหักรายจ่ายที่ได้จ่ายไปเป็นค่าห้องสัมมนา ค่าห้องพัก ค่าขนส่ง หรือรายจ่ายอื่นที่เกี่ยวข้องกับการอบรมสัมมนาภายในประเทศที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลได้จัดขึ้นให้แก่ลูกจ้าง หรือรายจ่ายที่ได้จ่ายให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยวตามกฎหมายว่าด้วยธุรกิจ นำเที่ยวและมัคคุเทศก์ เพื่อการอบรมสัมมนา ภายในประเทศ ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2563 ถึงวันที่ 31 ธ.ค. 2563 เป็นจำนวน 2 เท่าของรายจ่ายตามที่จ่ายจริง มาตรการลดหย่อนภาษีเพื่อการสัมมนา คาดว่า จะมีผู้ประกอบการมาใช้ราว 1,000 ราย สูญเสียรายได้ 87 ล้านบาท ส่วน 3.มาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการปรับปรุงกิจการโรงแรม ให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ประกอบกิจการโรงแรมตามกฎหมายว่าด้วยโรงแรมหักรายจ่ายสำหรับเงินได้เท่ากับรายจ่ายที่ได้จ่ายเพื่อการต่อเติม เปลี่ยนแปลง ขยายออก หรือทำให้ดีขึ้นซึ่งทรัพย์สินที่เกี่ยวเนื่องกับกิจการ ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.-31 ธ.ค. 2563 เป็นจำนวน 1.5 เท่า ของรายจ่ายตามจำนวนที่จ่ายจริง คาดว่า มีผู้ประกอบการโรงแรมลงทุน 1,000 ราย มูลค่ารวม 2.4 หมื่นล้านบาท สูญเสียรายได้ราว 2.4 พันล้านบาท หรือ เฉลี่ยปีละ 120 ล้านบาทตลอดระยะเวลาที่หักลดหย่อน 20 ปี 4.มาตรการลดอัตราภาษีสรรพสามิตสำหรับน้ำมันเชื้อเพลิงเครื่องบินไอพ่น (น้ำมันเชื้อเพลิงเครื่องบินฯ) ปรับลดอัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมันเครื่องบิน ที่นำไปใช้เป็นเชื้อเพลิงสำหรับเที่ยวบินในประเทศ จากเดิม 4.726 บาทต่อลิตร เหลือ 0.20 บาทต่อลิตร ถึงวันที่ 30 ก.ย.2563 คาดสูญเสียรายได้ประมาณ 2,000 ล้านบาท
นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวว่า ครม.อนุมัติกรอบวงเงิน 500 ล้านบาท เพื่อขับเคลื่อนมาตรการฟื้นฟูการท่องเที่ยว นายกรัฐมนตรี กำชับให้กระทรวงการท่องเที่ยว กลับไปจัดทำรายละเอียดของมาตรการเพื่อนำมาเสนอ ครม.อีกครั้งอย่างเร่งด่วน เบื้องต้นอาจจะนำรายละเอียดของโครงการมาเสนออีกครั้งในการประชุม ครม.วันที่ 11 ก.พ.
สินค้าเกษตร ผัก ผลไม้ ตกค้างท่าเรือในจีน
น.ส.กัณญภัค ตันติพิพัฒนพงศ์ ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่ง ประเทศไทย(สรท.) เปิดเผยว่า สรท.ประเมิน การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสว่าจะส่งผลกระทบกับการส่งออกสินค้าไทย ไปจีนไตรมาสแรกของปี 2563 ประมาณ 2,000 ล้านบาท หรือร้อยละ 0.87 สินค้าที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด คือผัก ผลไม้สด เพราะจีนปิดการขนส่งทางบก ทางน้ำและทางอากาศ เพื่อป้องกันระบาด ซึ่งบางเมืองส่งออกได้แต่ติดที่ท่าเรือ เนื่องจาก ไม่มีรถบรรทุกมาขนส่งออกจากท่าเรือ ทำให้สินค้าเสียหาย ส่วนสินค้าอุตสาหกรรมได้รับผลกระทบน้อย เพราะช่วงระบาด อยู่ในเทศกาลตรุษจีน โดยได้นำเข้าวัตถุดิบสต็อกไว้บางส่วนแล้ว รวมทั้งส่งผลกระทบต่อภาคการขนส่งสินค้าเข้าจีนบางสายเรือ ที่ยังเปิดรับจองการระวางไปเมืองอื่น ยกเว้นเมืองอู่ฮั่น แต่ศุลกากรในประเทศปลายทางไม่อนุญาตให้เคลียร์สินค้าเข้าจีนได้ ทำให้สินค้าคงค้างอยู่ที่ท่าเรือปลายทาง และเมื่อท่าเรือเปิดบริการตามปกติ คาดว่าจะเป็นหลังวันที่ 10 ก.พ.นี้ หลังจากที่เปิดการทำงานเป็นปกติแล้ว จะมีเรือและสินค้าจำนวนมากเข้าเทียบท่า ทำให้เกิดความแออัดในท่าเรือ และอาจนำไปสู่การเรียกเก็บค่าบริการในท่าเรือเพิ่มขึ้นได้ หลังวันที่ 10 ก.พ.นี้ เมื่อจีนเปิดทำงานปกติ จะเร่งนำเข้าสินค้าจากไทยเพื่อผลิตสินค้า โดยเฉพาะผู้ผลิตสินค้าจะกลับมาเดินสายการผลิต เพื่อทดแทนสต็อกที่หมดช่วงวันหยุดยาว ทำให้อาจเกิดแรงกระชากเพื่อกระตุ้นการผลิตสินค้าออกมาเพิ่มขึ้นได้ ซึ่งจะเป็นโอกาสสินค้าไทยที่จะส่งออกไปจีนมากขึ้น
ก.ดีอีเอส เตรียมหารือกับเฟสบุ๊ก ยกเลิกแอคเคาต์ปลอม
นายพุทธิพงษ์ ปุณณกัณต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) กล่าวถึง การตรวจสอบเว็บไซต์บิดเบือนข้อมูลเพื่อดำเนินคดีทางกฎหมายว่า ขณะนี้มีผู้ใช้บัญชีที่ขึ้นบัญชีปลอมประมาณ 140 แอคเคาต์ ส่วนจะติดตามจะเจอตัวหรือไม่เป็นอีกเรื่องหนึ่ง เพราะบางครั้งเมื่อตรวจสอบได้ที่อยู่ เรามั่นใจแต่พอไปถึงพบว่าไม่ใช่ เนื่องจากใช้ชื่อปลอม ที่อยู่ปลอม อีเมล์เพื่อน ในประเทศไทยคนเปิดแอคเคาต์ ไม่ต้องใช้ชื่อ-นามสกุลจริง รวมถึงไม่ต้องใช้บัตรประชาชน หรือเบอร์โทรศัพท์จริง ทั้งนี้ เราดำเนินการ 2 เรื่องในตอนนี้ คือ พยายามตรวจสอบข้อมูลด้วยตัวเองก่อน และต้องตามสืบจากคนข้างเคียงที่เข้ามาคอมเมนต์ เพื่อให้เจอตัว ซึ่งต้องใช้เวลา ขณะที่ เฟซบุ๊กมีมาตรการหากเราสามารถตรวจสอบได้ว่าอันไหนเป็นอวตาร มีข้อความขึ้นมาแบบแย่ตลอด และไม่มีตัวตน ทางเฟซบุ๊กจะยกเลิกแอคเคาต์ให้ และในวันที่ 6 ก.พ.เฟซบุ๊กจะบินมาประชุมร่วมกับเราที่ประเทศไทย ทั้งนี้ ถือว่าทางเฟซบุ๊กให้ความร่วมมือและเมื่อวันที่ 3 ก.พ.นายกฯสั่งในที่ประชุมให้ดำเนินการเรื่องดังกล่าวอย่างจริงจัง
แฟ้มภาพ