สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้าฯ พระราชทานเลี้ยงอาหารค่ำ ผู้ได้รับรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล

31 มกราคม 2563, 16:13น.


        สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ฉายพระฉายาลักษณ์ ร่วมกับผู้ได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี 2562 พร้อมด้วยคณะกรรมการมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ในพระบรมราชูปถัมภ์ และแขกผู้มีเกียรติ จากซ้าย ศ.คลินิกเกียรติคุณ นพ.สุพัฒน์ วาณิชย์การ, ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา, พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ประธานองคมนตรี, มร.เกออร์ก ชมิดท์ เอกอัครราชทูตสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีประจำประเทศไทย, มาดามบาร์เทนชลากเกอร์, ศ.ดร.ราล์ฟ เอฟ. ดับเบิ้ลยู. บาร์เทนชลากเกอร์, ศ.นพ.เดวิด เมบี, มาดามเมบี, มร.ไบรอัน จอห์น เดวิดสัน เอกอัครราชทูตสหราชอาณาจักรประจำประเทศไทย, นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และนพ.วิจารณ์ พานิช ณ พระที่นั่งสมมติเทวราชอุปบัติ พระบรมมหาราชวัง





          หลังจากนั้น ในเวลา 19.30 น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จ ฯ แทนพระองค์ ไปในการพระราชทานเลี้ยงอาหารค่ำ เป็นเกียรติแก่ผู้ได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี พ.ศ. 2562 ประกอบด้วย สาขาการแพทย์



            ศาสตราจารย์ ดร.ราล์ฟ เอฟ ดับเบิ้ลยู บาร์เทนชลากเกอร์ (Professor Dr. Ralf F.W. Bartenschlager) หัวหน้าภาควิชาโรคติดเชื้อ อณูไวรัสวิทยา มหาวิทยาลัยไฮเดลเบิร์ก และหัวหน้าหน่วยไวรัสที่สัมพันธ์กับการเกิดมะเร็ง สถาบันวิจัยมะเร็งแห่งเยอรมนี สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี



            ศาสตราจารย์ ดร.ราล์ฟ เอฟ ดับเบิ้ลยู  บาร์เทนชลากเกอร์  มีผลงานที่โดดเด่นคือการศึกษาเกี่ยวกับวงจรชีวิตของไวรัสตับอักเสบซี (Hepatitis C Virus หรือ HCV)  นำไปสู่องค์ความรู้ในการพัฒนายาต้านไวรัสที่มีประสิทธิภาพสูง มีความจำเพาะ และปลอดภัย 



           ศาสตราจารย์บาร์เทนชลากเกอร์  มีผลงานวิจัยตีพิมพ์ในวารสารวิชาการชั้นนำมากกว่า  300 เรื่อง  และได้รับรางวัลต่างๆ มากมาย อาทิ  รางวัล Robert Koch Award (2558), Lasker-DeBakey Award (2559) และ Hector Prize (2560) ด้วยความมุ่งมั่นในการศึกษาและค้นพบที่สำคัญของศาสตราจารย์ ดร. ราล์ฟ เอฟ ดับเบิ้ลยู  บาร์เทนชลากเกอร์  ทำให้สามารถรักษาโรคติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซี ที่เป็นอันตรายถึงชีวิต  ทำให้สามารถช่วยชีวิตผู้ป่วยได้หลายล้านคนทั่วโลก 



สาขาการสาธารณสุข        

            ศาสตราจารย์นายแพทย์เดวิด เมบี (Professor David Mabey) ศาสตราจารย์สาขาโรคติดต่อ และภาควิชาวิจัยคลินิก วิทยาลัยสุขภาพและเวชศาสตร์เขตร้อน  มหาวิทยาลัยลอนดอน สหราชอาณาจักร ศาสตราจารย์นายแพทย์เดวิด เมบี  ได้ทำการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับโรคริดสีดวงตา มากว่า 30 ปี  โรคริดสีดวงตาเป็นการติดเชื้อของตาที่ทำให้ตาบอดได้บ่อยที่สุด  โดยเกิดจากเชื้อแบคทีเรียที่ชื่อว่า คลามิเดีย ทราโคมาติส (Chlamydia trachomatis) ซึ่งทำให้ตาบอดหรือเกิดความพิการทางสายตาได้มากถึงปีละ 2 ล้านคนทั่วโลก การติดเชื้อแพร่กระจายได้โดยการสัมผัสกับสารคัดหลั่งจากตาหรือจมูกของผู้ที่ติดเชื้อ  โดยเฉพาะในประเทศกำลังพัฒนาที่มีสุขอนามัยไม่ดี  ประชากรอาศัยอยู่อย่างหนาแน่น  และไม่มีแหล่งน้ำสะอาดที่เข้าถึงได้เพียงพอ



          ศาสตราจารย์เมบี  มีผลงานวิจัยตีพิมพ์ในวารสารวิชาการชั้นนำกว่า 200 เรื่อง และได้รับรางวัลต่างๆ เกี่ยวกับการศึกษาปัญหาสุขภาพในเขตร้อน  รวมถึงได้รับการแต่งตั้งให้เป็น Commander of the British Empire (CBE) โดยสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 แห่งสหราชอาณาจักร ในปีพ.ศ.2557 จากผลงานการให้บริการเพื่อพัฒนาสุขภาพในเอเซียและแอฟริกา ด้วยความพยายามในการศึกษาวิจัยเพื่อควบคุมและกำจัดโรคริดสีดวงตาที่ทำให้ตาบอดของศาสตราจารย์นายแพทย์เดวิด เมบี  ส่งผลให้คุณภาพชีวิตของคนหลายล้านคนทั่วโลกดีขึ้น



            รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล  เป็นรางวัลที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ   พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้จัดตั้งขึ้น เพื่อถวายเป็นพระราชานุสรณ์แด่สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ในโอกาสจัดงานเฉลิมฉลอง 100 ปีแห่งการพระราชสมภพ  1 มกราคม 2535   ดำเนินงานโดยมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ในพระบรมราชูปถัมภ์   ซึ่งสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเป็นองค์ประธาน  มอบรางวัลให้แก่บุคคลหรือองค์กรทั่วโลกที่มีผลงานดีเด่นเป็นประโยชน์ต่อมวลมนุษยชาติ ทางด้านการแพทย์ 1 รางวัล  และด้านการสาธารณสุข  1 รางวัล เป็นประจำทุกปีตลอดมา  แต่ละรางวัลประกอบด้วย เหรียญรางวัล, ประกาศนียบัตร  และเงินรางวัล  100,000  เหรียญสหรัฐ

ข่าวทั้งหมด

X