การรับมือภัยแล้ง รวมถึง ปัญหาน้ำทะเลหนุนสูง ทำให้น้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาเกิดค่าความเค็ม ซึ่งหากเกินค่ามาตรฐานก็จะส่งผลกระทบต่อคุณภาพน้ำเพื่อใช้การอุปโภคบริโภค การอุตสาหกรรมและการผลิตน้ำประปาได้
วันนี้พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ําแห่งชาติ พร้อมด้วย นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ นายทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน และ นายปริญญา ยมะสมิต ผู้ว่าการการประปานครหลวง ลงพื้นที่ศูนย์ปฏิบัติการผลักดันน้ำและขุดลอกสันดอนในคลองพระยาบันลือ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เนื่องจากจุดนี้มีการขุดลอกตะกอนในคลอง10จุด ความยาว42.5กิโลเมตร เพื่อนำน้ำจากแม่น้ำท่าจีนไหลลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาได้สะดวกและรวดเร็วยิ่งขึ้น ป้องกันไม่ให้ความเค็มรุกล้ำเข้าไปถึงพื้นที่ตอนบนของแม่น้ำเจ้าพระยาได้
พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า มอบหมายให้ กรมชลประทานและการประปานครหลวง เพิ่มการผันน้ำจากลุ่มน้ำแม่กลอง สนับสนุนการผลักดันน้ำเค็มในแม่น้ำเจ้าพระยาตอนกลางและให้กระทรวงมหาดไทย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ติดตามสถานการณ์ ไม่ให้เกิดปัญหาขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค พร้อมประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนช่วยกันประหยัดน้ำเพื่อรักษาน้ำต้นทุนไว้ใช้ในการอุปโภคบริโภค หากช่วยกันประหยัดน้ำแล้วยืนยันว่าน้ำจะไม่ขาดแคลน จะมีน้ำใช้ในการอุปโภคบริโภค จะไม่มีการแย่งน้ำกันใช้
รองนายกรัฐมนตรีย้ำว่า ยังสามารถรับมือภัยแล้งปีนี้ได้ ปีต่อไปต้องรอดูว่าจะสามารถเก็บน้ำฝนได้มากน้อยแค่ไหน ซึ่งน้ำต้นทุนแต่ละเขื่อนขณะนี้มีร้อยละ30 บางเขื่อนถ้าอยู่ในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาก็จะมีปริมาณน้ำร้อยละ60-80 สถานการณ์จะไม่วิกฤต ส่วนการปล่อยน้ำให้เกษตรกรปลูกข้าวนาปรังนั้น จะต้องยกเลิก ขอให้เปลี่ยนไปใช้พืชน้ำน้อยกัน ซึ่งถ้ายังปลูกข้าวนาปรังกันอยู่ หากข้าวตาย จะไม่รับผิดชอบ
ด้านนายทองเปลว กล่าวว่า จากสถานการณ์ฝนตกน้อยกว่าค่าปกติที่ผ่านมา ส่งผลให้ปริมาณน้ำในลุ่มเจ้าพระยามีปริมาณลดน้อยลง ประกอบกับสถานการณ์น้ำทะเลหนุน ส่งผลให้เกิดค่าความเค็มในน้ำเพิ่มสูงขึ้น กรมชลประทาน จึงวางมาตรการบริหารจัดการน้ำ ผลักดันค่าความเค็มลุ่มน้ำเจ้าพระยาด้วยการระบายน้ำจาก 4 เขื่อนหลักเพิ่มเติม ประมาณวันละ 18 ล้าน ลูกบาศก์เมตร และควบคุมการระบายน้ำผ่านเขื่อนเจ้าพระยาประมาณ 80 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวินาที และเขื่อนพระรามหกอีกประมาณ 6 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เพื่อผลักดันค่าความเค็ม รวมถึงผันน้ำจากลุ่มน้ำแม่กลองผ่านแม่น้ำท่าจีนลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา ผ่านทางคลองพระยาบันลือประมาณ 27 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวินาที และคลองพระพิมลประมาณ 19 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวินาที นอกจากนี้ติดตั้งเครื่องสูบน้ำและเครื่องผลักดันน้ำในคลองพระยาบันลือและคลองพระพิมลรวม 102 เครื่อง เร่งระบายน้ำลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาเพื่อไล่ความเค็มไม่ให้รุกเข้าไปทางตอนบนของแม่น้ำเจ้าพระยา
จากการวัดค่าความเค็มแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณโรงสูบน้ำดิบสำแลของการประปานครหลวง จังหวัดปทุมธานี ตรวจวัดค่าความเค็มได้ 0.17 กรัม/ลิตร ส่วนที่ลุ่มน้ำท่าจีน บริเวณปากคลองจินดา ตรวจวัดค่าความเค็มได้ 0.22 กรัม/ลิตร และลุ่มน้ำแม่กลอง บริเวณปากคลองดำเนินสะดวก ตรวจวัดค่าความเค็มได้ 0.15 กรัม/ลิตร ทั้งหมดนี้ค่าความเค็มอยู่ในเกณฑ์ปกติ ตามภาวการณ์ขึ้นลงของน้ำทะเล แต่อย่างไรก็ตามกรมชลประทาน จะเฝ้าระวังติดตามคุณภาพน้ำอย่างใกล้ชิด ไม่ให้กระทบต่อน้ำดิบในการผลิตน้ำประปาบริเวณโรงสูบน้ำดิบสำแล