เลขาธิการ สทนช. ลงพื้นที่ อุทัยธานี เร่งมาตรการรับมือภัยแล้ง ขุดบ่อบาดาล หาแหล่งน้ำเพิ่ม

24 มกราคม 2563, 15:11น.


           การให้ความช่วยเหลือประชาชนในจังหวัดอุทัยธานี หลังถูกประกาศให้เป็นพื้นที่ประสบภัยแล้ง นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ(สทนช.) บอกระหว่างลงพื้นที่ในจังหวัดอุทัยธานีเพื่อติดตามสถานการณ์น้ำว่า จังหวัดอุทัยธานีถูกจัดเป็นพื้นที่เสี่ยงประสบภัยแล้งมาตั้งแต่ต้นฤดูแล้งแล้ว จึงเตรียมมาตรการแก้ปัญหาทั้งระยะสั้นและระยะยาวไว้ ระยะสั้นเสนอของบกลาง 49 รายการ ที่มีทั้งการขุดบ่อน้ำบาดาลอย่างน้อย 25 บ่อ, การซ่อมแซมระบบประปา และการหาแหล่งน้ำบนดินเพิ่มเติม เพื่อช่วยประชาชนในช่วงนี้





            ส่วนระยะยาว สทนช.จะรวมแผนงานต่างๆ ที่มาจากความต้องการของท้องถิ่น โดยเฉพาะการหาแหล่งเก็บน้ำเพิ่ม และการทำระบบจัดการน้ำต่างๆ ให้ได้ภายในวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2563 เพื่อให้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี อนุมัติเพื่อนำแผนงานของท้องถิ่นมาใช้ให้ทันช่วงฤดูฝนที่จะถึงนี้ นอกจากนี้สทนช.ยังทำแผนการศึกษาประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์(SEA) ในลุ่มน้ำสะแกกรังจนแล้วเสร็จ เพื่อนำมาแก้ปัญหาในพื้นที่ระยะยาว โดยจะแบ่งพื้นที่ลุ่มน้ำสะแกกรังออกเป็น 3 ส่วน ปลายน้ำจะมุ่งอนุรักษ์น้ำและสร้างอาคารควบคุมน้ำ, กลางน้ำจะมุ่งจัดสรรการเพาะปลูกและใช้น้ำให้สอดคล้องกัน ส่วนต้นน้ำจะไว้ใช้กักเก็บน้ำ เพื่อคอยส่งน้ำให้ด้านล่าง โดยตอนนี้ลุ่มน้ำสะแกกรังยังรับน้ำเพิ่มได้อีก 200 กว่าล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี เพื่อให้ได้ตามเป้าที่ควรมีน้ำหมุนเวียนไม่น้อยกว่า 500 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี  ส่วนจะทำเขื่อนขนาดกลางหรือขนาดใหญ่เพื่อกักเก็บน้ำในพื้นที่หรือไม่ จะต้องดูความเหมาะสมและความต้องการของประชาชนในพื้นที่เป็นหลัก พร้อมย้ำว่ากองอำนวยการน้ำแห่งชาติ(กอนช.) ให้ความสำคัญกับทุกพื้นที่ที่ประสบภัยแล้ง โดยเฉพาะพื้นที่ที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภคที่ต้องได้รับการช่วยเหลือทันที 





           เลขาฯสทนช. ระบุว่า มีอีกไม่น้อยกว่า 30 จังหวัดที่เสี่ยงถูกประกาศเป็นพื้นที่ภัยแล้ง ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำลังหาทางป้องกัน แต่ยืนยันว่าในส่วนน้ำอุปโภคบริโภคจะมีให้ประชาชนใช้ตลอดฤดูแล้งนี้ เพราะมีแหล่งน้ำขนาดเล็กกระจายในทุกพื้นที่ แต่ก็ขอให้ใช้น้ำอย่างประหยัด ส่วนพื้นที่ที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำ โดยเฉพาะน้ำอุปโภคบริโภคสามารถขอความช่วยเหลือมาได้ที่ กอนช. โดยหน่วยงานรัฐกำลังเร่งช่วยเหลือเต็มที่



           สำหรับจังหวัดอุทัยธานี มีพื้นที่ที่ถูกประกาศเป็นพื้นที่ภัยแล้ง 8 อำเภอ 58 ตำบลและจากการลงพื้นที่ก็พบว่าปริมาณน้ำในจุดเชื่อมต่อแม่น้ำเจ้าพระยากับแม่น้ำสะแกกรังก็ยังมีน้อย



 

ข่าวทั้งหมด

X